'Buy when the cannons are firing ...'

'Buy when the cannons are firing ...'

ผลกระทบการเกิดสงครามระหว่างประเทศต่อราคาหุ้น อาจมีความแตกต่างกันในแต่ละครั้ง

แม้ว่าสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างประเทศสหรัฐฯ-อิหร่าน เริ่มผ่อนคลายลงแล้วก็ตาม ซึ่งในช่วงที่สถานการณ์ทวีความรุนแรง ผมเชื่อว่ามีนักลงทุนหลายราย ตัดสินใจที่จะลดพอร์ตการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง เช่น ในตลาดหุ้น ลงไปบ้าง แต่บทความฉบับนี้ผมอยากที่จะหยิบยก มุมมองอีกด้าน (ในด้าน Contrarian strategy) ที่นักลงทุนอาจใช้เป็นข้อมูลในการพิจารณาลงทุนในสถานการณ์เช่นนี้ หากมีโอกาสเกิดขึ้นอีกในอนาคต

แน่นอนว่า การเกิดความตึงเครียดระหว่างประเทศที่โอกาสพัฒนาไปเป็นสงครามระหว่างประเทศนั้น เป็นปัจจัยลบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลก ซึ่งมีโอกาสที่จะส่งผลต่อผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนในตลาดฯ และส่งผลต่อเนื่องไปยัง Valuation ของหุ้นด้วย

อย่างไรก็ดีจากการศึกษาข้อมูลผลกระทบของการเกิดสงครามระหว่างประเทศต่อราคาหุ้นนั้น อาจมีความแตกต่างกันไปในแต่ละครั้ง อ้างอิงจากบทความทางวิชาการ 'The war puzzle: contradictory effects of international conflicts on stock markets' ที่ศึกษาโดย Brune A., Hens T., Rieger M.O., Wang M. ตีพิมพ์ในวารสาร International Review of Economics ปี 2015 พบว่า เราสามารถแบ่งประเภทของสงครามต่อตลาดหุ้น

โดยแบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ i) ความขัดแย้งที่มีการพัฒนาการความตึงเครียดจนทำให้ความน่าจะเป็นที่จะเกิดสงครามเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และ ii) สงครามที่เกิดขึ้นแบบฉับพลัน ซึ่งความขัดแย้งในรูปแบบแรกนั้น ในช่วงเริ่มต้นของความตึงเครียดระหว่างประเทศ ดัชนีราคาหุ้นมักที่จะปรับตัวลง และเมื่อเริ่มเปิดฉากสงคราม ดัชนีราคาหุ้นมักที่จะรีบาวด์ปรับขึ้น

ขณะเดียวกันสำหรับสงครามในรูปแบบที่สองนั้นดัชนีราคาหุ้นมักที่จะปรับตัวลงทันที ที่เกิดสงคราม ซึ่งความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ-อิหร่าน รอบล่าสุดนี้ เราประเมินว่าคล้ายรูปแบบที่สองที่มีการโจมตีแบบฉับพลัน ทำให้ดัชนีราคาหุ้นปรับตัวลงทันทีอย่างรวดเร็ว แต่ยังไม่ถึงขั้นที่จะพัฒนาความตึงเครียดจนเป็นสงครามระหว่างประเทศ และภายหลังการเกิดสงคราม หรือความขัดแย้ง ตลาดหุ้นมักที่จะตอบสนองอย่างไร คำตอบคือ จากข้อมูลในอดีตเรามักที่จะเห็นการฟื้นตัวของดัชนีราคาหุ้นภายใน 3-6 เดือนหลังยุติสงคราม โดยอาจมีทฤษฎีแนวความคิดต่างๆ มากมายต่อสถิติดังกล่าว

แต่โดยสรุปแล้วก็คือ เมื่อมีความชัดเจนในสถานการณ์ต่างๆ นักลงทุนก็พร้อมที่จะซื้อคืนหุ้น หลังจากที่มีการขายหุ้นไปก่อนหน้านี้นั่นเอง ซึ่งมักที่จะเป็นการขายในลักษณะที่ 'ขายมากจนเกินไป' (Overreaction) จึงทำให้ กลยุทธ์การลงทุนในรูปแบบ Contrarian strategy สามารถทำกำไรจากสถานการณ์ดัชนีราคาหุ้นที่ปรับลงจากเหตุการณ์ลักษณะดังกล่าวได้ โดยหัวข้อบทความของผมวันนี้ 'Buy when the cannons are firing, and sell when the trumpets are blowing' เป็นวลีสำหรับการลงทุนของนักการเงินในอดีต 'Nathan Rothschild' ที่ทำให้เห็นภาพแนะนำการลงทุนในลักษณะ Contrarian strategy กล่าวคือ เมื่อเกิดสงคราม จะเป็นโอกาสที่ดีสำหรับการลงทุน และนักลงทุนจะขายหุ้นเมื่อสงครามนั้นจบลง เนื่องจากเมื่อมีข่าวร้าย (สงคราม) นักลงทุนเลือกที่จะเทขายหุ้น ในลักษณะ Overreaction ทำให้ราคาหุ้นต่ำกว่ามูลค่าพื้นฐาน และในทางกลับกันเมื่อมีข่าวดี (สงครามจบ) นักลงทุนก็จะซื้อหุ้นคืนในลักษณะ Overreaction ทำให้ราคาหุ้นสูงเกินมูลค่าพื้นฐานนั่นเอง

กลับมาที่ภาวะตลาดหุ้นไทยหลังจากสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ-อิหร่านเริ่มผ่อนคลายลง นักลงทุนเริ่มทำการซื้อคืนหุ้นทำให้ดัชนี SET index เริ่มรีบาวด์ได้ และยังมีประเด็นบวกที่รออยู่ในเดือนนี้คือ การลงนามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน เฟสแรก และ การลงมติผ่านร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2563 ที่จะสร้างความคาดหวังเรื่องเม็ดเงินลงทุนภาครัฐฯที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในปีนี้ ดังนั้นหุ้นกลุ่มที่น่าสนใจลงทุนจึงแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลักๆ คือ i) หุ้นกลุ่มที่เชื่อมโยงเศรษฐกิจโลก เช่น กลุ่มส่งออกอิเล็กทรอนิกส์ (พ้นวัฏจักรขาลง รอรับคำสั่งซื้อชิ้นส่วนฯ เทคโนโลยี 5G) และอาหาร (ดีมานด์เนื้อหมูและไก่ ในตลาดโลกโดยเฉพาะจีน ยังสูงต่อเนื่อง จากเหตุโรคระบาดหมู AFS ในจีน) กลุ่มโรงกลั่น (คาดค่าการกลั่นของโรงกลั่นไทยฟื้นตัว) และ ii) หุ้นรับอานิสงส์ เม็ดเงินลงทุนภาครัฐฯ อาทิ หุ้นกลุ่มรับเหมาก่อสร้างและนิคมอุตสาหกรรมฯ เป็นต้น