ทำไมเราจึงควรรู้เรื่องระบบนิเวศสภาพแวดล้อม

ทำไมเราจึงควรรู้เรื่องระบบนิเวศสภาพแวดล้อม

มนุษย์เป็นเพียงสิ่งมีชีวิตพันธุ์หนึ่ง (Species) จากบรรดาไม่ต่ำกว่า 3 พันล้านชนิดพันธุ์ในโลก ทั้งสิ่งมีชีวิตและสิ่งอื่นๆ

 ในระบบธรรมชาติมีความสัมพันธ์เกี่ยวโยงพึ่งพากันและกันอย่างสมดุล ช่วยให้มนุษย์อยู่รอดได้ มนุษย์ฉลาดกว่าสัตว์อื่นในหลายเรื่อง กลายเป็นชนิดพันธ์ที่ปกครองโลก แต่มนุษย์ส่วนใหญ่โง่เขลาไม่เข้าใจธรรมชาติ/ระบบนิเวศ มุ่งใช้ทรัพยากรเพื่อการผลิต/บริโภคมากไปทำลายสิ่งแวดล้อมและชีวิตอื่นๆ ทำให้เกิดความไม่สมดุล สร้างปัญหาวิกฤตระบบนิเวศอย่างที่มีผลเสียหายร้ายแรง มหาไฟป่าที่ออสเตรเลียคือตัวอย่างที่เห็นชัด

มลภาวะทางอากาศ น้ำ ดิน ฯลฯ ที่เพิ่มขึ้น ทำให้มีปริมาณฝุ่นพิษในกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่มากจนเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ภาวะแห้งแล้งในภาคอีสานและอีกหลายจังหวัด ฯลฯ มาจากเรื่องที่เชื่อมโยงกัน ภาวะโลกร้อน (อุณหภูมิทั้งปีโดยเฉลี่ยสูงขึ้น)ภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ชั้นโอโซนบางลง อาหารและทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลาย ทั่วโลกเกิดน้ำท่วม ความแห้งแล้ง พายุ ที่เกิดขึ้นบ่อย รุนแรงขึ้น ฯลฯ คุณภาพชีวิตประชาชนในหลายพื้นที่ หลายกลุ่มลดลงและเสี่ยงที่จะเกิดหายนะเพิ่มขึ้น

ปัญหาความไม่สมดุล ความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศ เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่มนุษย์สร้างขึ้น จากการพัฒนาแบบทุนนิยมอุตสาหกรรม ที่เน้นการเจริญเติบโตของการผลิตและการบริโภคแบบมุ่งหาประโยชน์ผลกำไรของปัจเจกชน ไม่มีการนำต้นทุนทางธรรมชาติ(เช่น น้ำจืด ความอุดมสมบูรณ์ของดิน ป่าไม้ ป่าชายเลนฯลฯ) และต้นทุนทางสังคม  (การสร้างมลภาวะ ในชั้นบรรยากาศ น้ำ ดิน การทำลายชีวิตและทรัพยากร ฯลฯ)มาคำนวณรวมไว้ในต้นทุนการผลิตและการบริโภคด้วย นายทุนและผู้บริโภคใช้สอยทรัพยากรของโลกอย่างฟุ่มเฟือยเกินไป จนเกินขีดความสามารถในการรองรับของระบบนิเวศ เช่น ระบบน้ำจืด ระบบอากาศ ที่เหมาะแก่การหายใจ ระบบดิน ระบบป่าไม้ ระบบพลังงาน ฯลฯ ไม่สามารถผลิตทดแทน รวมทั้งดูดซับฟื้นฟูของเสียได้ทันกับการบริโภคที่มากเกินไปของมนุษย์ เราต้องหาความรู้เรื่องระบบนิเวศ และเลือกแนวพัฒนาที่เคารพระบบนิเวศเท่านั้น เราถึงจะแก้ไขวิกฤตการณ์ครั้งใหญ่นี้ได้

แนวคิดสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ อาทิเช่น ระบบนิเวศ (Ecosystem) ระบบความสัมพันธุ์ซึ่งกันและกันของสิ่งมีชีวิตทั้งหมดในสภาพแวดล้อมบริเวณใดบริเวณหนึ่งหรือของทั้งโลกซึ่งรวมชั้นบรรยากาศด้วย สิ่งมีชีวิตและสภาพแวดล้อมที่อยู่ร่วมกัน มีความสัมพันธ์แบบพึ่งพาอาศัยกันอย่างซับซ้อน มีการถ่ายทอดพลังงาน สสาร ธาตุอาหารระหว่างสิ่งมีชีวิตต่างๆ และการรักษาความสมดุล หรือการปรับตัวได้ด้วยตัวเองของระบบ เมื่อมนุษญ์นำสิ่งมีชีวิตใหม่เข้ามาในระบบนิเวศหนึ่ง และแพร่พันธุ์มากเกินไป รุกทำลายกำจัดหรือลดปริมาณสัตว์หรือพืชชนิดหนึ่งชนิดใดออกไป จะเป็นการทำลายความสมดุลของระบบนิเวศของอาณาบริเวณนั้นที่ก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ เช่น การสูญพันธุ์ การลดจำนวนของสิ่งมีชีวิตบางอย่างและปัญหาต่างๆ ตามมา

ความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) เป็นการออกแบบของธรรมชาติที่ฉลาดมาก การที่โลกมีสิ่งมีชีวิต เช่น สัตว์ พืชและจุลชีพ (ชีวิตเซลล์เดียว) ที่ต่างเผ่าพันธุ์ต่างชนิดหรือต่างพันธุกรรมรวมกันมาก ทำให้ระบบนิเวศมีความเข้มแข็ง ความทนทานและต่อสู้ปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมได้ดีขึ้น รวมทั้งเป็นประโยชน์แก่มนุษย์ที่จะวิจัยค้นคว้าเพื่อพัฒนาพืชพันธุ์อาหาร ยา วัสดุใหม่ๆ

ความสมดุลของธรรมชาติ ในระบบนิเวศส่วนใหญ่ธรรมชาติเป็นผู้สร้างระเบียบความสมดุลด้วยตัวเอง พืชและสัตว์ต่างอยู่แบบพึ่งพาอาศัยกัน และมีการควบคุมเพื่อถ่วงดุลกันเอง เช่น พืชให้ออกซิเจนแก่สัตว์ (รวมทั้งมนุษย์ซึ่งเป็นสัตว์ชนิดหนึ่ง) สัตว์หายใจออกมาเป็นคาร์บอนไดออกไซด์ที่สิ่งมีชีวิตอื่นๆ ต้องการ สัตว์และพืชต่างอาศัยสัตว์อื่นหรือพืชเป็นอาหาร ซากสัตว์และพืชเน่าเปื่อยเป็นธาตุอาหารให้จุลชีพ จุลชีพช่วยสร้างไนโตรเจนสำหรับพืชเป็นอาหารให้สัตว์และพืชอื่นๆ ปัญหาการทำลายความสมดุลมาจากฝีมือมนุษย์ที่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติในการผลิตและบริโภคมากและเร็วเกินไป ทำให้เกิดปัญหามลภาวะ ธรรมชาติดูดซับของเสียและผลิตทดแทนทรัพยากรธรรมชาติ (เช่น ป่าไม้ น้ำจืด สัตว์น้ำในท้องทะเล ฯลฯ) มาทดแทนได้ไม่ทัน มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนและก๊าซพิษอื่นๆ ขึ้นไปในบรรยากาศมากไป ฯลฯ

มนุษย์ต้องเรียนรู้/เข้าใจใหม่ว่าทรัพยากรและสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ เช่น น้ำ อากาศ แร่ธาตุ ต้นไม้ ปลา แนวปะการัง ฯลฯ คือทุนหรือบริการทางธรรมชาติที่ให้ผลผลิตอาหาร และสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ ช่วยให้มนุษย์หายใจและมีอาหาร เครื่องใช้ไม้สอยต่างๆ ดำรงชีพอยู่ได้ แม้ทุนและเทคโนโลยีที่มนุษย์สร้างขึ้นก็อยู่ได้ด้วยการใช้ทุนทางธรรมชาติ แต่ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมอุตสาหกรรมที่มุ่งผลิตและขายเพื่อผลกำไรทางด้านการเงินด้านเดียว โดยไม่ได้นำต้นทุนทางธรรมชาติและต้นทุนทางสังคม (ค่าใช้จ่ายที่สังคมต้องเป็นผู้จ่าย ทั้งๆ ที่เป็นกิจกรรมของเอกชน) เข้ามาคิดด้วย ทำให้มีการผลิตและบริโภคมากเกินไป ธรรมชาติสภาพแวดล้อมระบบนิเวศถูกทำลายในอัตราที่สูงกว่าที่ธรรมชาติจะรองรับ ฟื้นฟู ผลิตทดแทนได้ทัน

เราควรเข้าใจว่าธรรมชาติ/ระบบนิเวศนั้นทำงานแบบเป็นวงจร มีการเกิดขึ้นหรือการแปรสภาพของพลังงานและสสารทางธรรมชาติแบบหมุนเวียนเป็นรอบอย่างต่อเนื่อง เช่น วัฏจักรของการเกิดน้ำจืด คาร์บอน ไนโตรเจน ออกซิเจน การผลิตอากาศที่เหมาะแก่การหายใจ น้ำ ธาตุอาหาร พลังงานต่างๆ วงจรเหล่านี้คือ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้สิ่งมีชีวิตในโลกดำรงชีพอยู่ได้ ปัญหาในตอนนี้คือมนุษย์ใช้ ทำลาย บริโภค สสารหรือพลังงานอย่างหนึ่งอย่างใดมากเกินไป ไปรบกวนวงจรตามธรรมชาติ ทำให้เกิดการขาดความสมดุล การบกพร่อง และความเสียหาย

การที่นายทุนในระบบเศรษฐกิจอุตสาหกรรมปฏิบัติต่อการให้บริการของระบบนิเวศ หรือธรรมชาติเสมือนกับเป็นของฟรี/ไม่มีต้นทุน ทำให้มนุษย์ใช้ทรัพยากรธรรมชาติมากเกินไปและเร็วเกินไป จนทำให้ธรรมชาติ เช่น ป่าไม้ แหล่งอาหารในทะเลเสื่อมโทรมและให้บริการมนุษย์ได้ลดลง ดังนั้น รัฐบาลทั่วโลกควรมีการเก็บค่าธรรมเนียมหรือภาษีในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและการทำลายสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น เพื่อที่ผู้ผลิต ผู้บริโภคจะได้คำนึงถึงต้นทุนทางธรรมชาติและต้นทุนทางสังคมที่แท้จริงของสินค้าและบริการต่างๆ และต้องมีการรณรงค์ให้ลดการผลิตการบริโภคสินค้าและบริการที่ทำลายสิ่งแวดล้อมลงมาด้วย เพราะถึงขึ้นภาษี คนรวยคนชั้นกลางก็ยังคงบริโภคมากอยู่ ขณะที่คนจนจะบริโภคได้ลดลง การแก้ไขปัญหาวิกฤตระบบนิเวศ ต้องแก้ปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสังคมด้วย ถ้าจะแก้ปัญหาให้ได้จริงต้องปฏิรูปโครงสร้างระบบเศรษฐกิจของทุกประเทศให้เป็นสังคมนิยมแนวระบบนิเวศ (Ecosocialism)(อ่านเพิมเติม วิทยากร เชียงกูล เศรษฐศาสตร์แนวใหม่ สนพ.กรุงเทพธุรกิจ 2556 ,วิทยากร เชียงกูล สิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศสังคมที่ทุกคนควรรู้ สนพ.แสงดาว 2558 )