ทิ้งแต่เก็บ X เงินบาท

ทิ้งแต่เก็บ X เงินบาท

ใครๆ ก็อยากเริ่มปีใหม่อย่างสดใส อะไรที่ไม่ดีเราก็ต้องทิ้งให้เป็นเรื่องของปีเก่า เหมือนอย่างหนัง “ฮาวทูทิ้ง”

แต่สำหรับนักลงทุนไทยอย่างเรา สิ่งที่ “ทิ้งไม่ลงกลายเป็นของใกล้ตัวอย่าง เงินบาท ที่แข็งค่าแรงส่งท้ายปีเก่า แต่ก็อ่อนค่าแรงในช่วงวันปีใหม่ จนหลายคนสงสัย ว่าความเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนเช่นนี้ มีความหมาย และกำลังบอกอะไรกับเราอยู่

ย้อนกลับไปช่วงท้ายปีปรากฏการณ์ทิ้งเงินดอลลาร์เกิดขึ้นในบ่ายวันที่ 30 ธ.ค. ตามมาด้วยเซอร์ไพรส์ในวันที่ 2ม.ค. เมื่อมีใครบางคนอยากทิ้งเงินบาทเพื่อให้อัตราแลกเปลี่ยนกลับไปที่เดิม

บางท่านอาจสังเกตเห็นว่าวันทำการสุดท้ายของปี 2019 มีอะไรแปลกๆ

เพราะอยู่ดีๆ อัตราแลกเปลี่ยนที่ซื้อขายทั้งวันในกรอบ 30.12-16 บาทต่อดอลลาร์ก็กลับ "ปรับตัวลง" (ดอลลาร์อ่อน บาทแข็ง) ในช่วงท้ายตลาดอย่างไร้แนวรับ 

เพียงไม่กี่นาที เงินบาทก็แข็งค่าลงไปแตะระดับ 29.92 บาทต่อดอลลาร์ ช่วงปิดตลาด และถ้าใครยังทนดูต่อช่วงเคาท์ดาวน์ปี 2020 ก็จะเห็นดอลลาร์ลงไปต่ำสุดที่ 29.72 บาท คิดเป็นการแข็งค่าของเงินบาทถึง 1% ในเวลาไม่ถึง 48 ชั่วโมงแรงสำหรับอัตราแลกเปลี่ยนที่มีความผันผวนทั้งปีแค่ 4%

แต่ยังไม่ทันจะหายตกใจ อัตราแลกเปลี่ยนก็ทำเซอร์ไพรส์อีกครั้งเมื่อเปิดทำการปี 2020 กลับอ่อนค่าไปที่ 30.15 บาทต่อดอลลาร์ เท่ากับช่วงก่อนสิ้นปี เหมือนมีใครไม่อยากให้เป็นเรื่องราว

แต่แน่นอนว่าอาการ “ทิ้งแต่เก็บของเงินบาทครั้งนี้ไม่ปรกติ และมีหลายเรื่องที่เราอาจต้องทิ้งและเก็บเป็นข้อเตือนใจในปี 2020

เรื่องแรก คือ สภาพคล่องดูจะเป็นปัญหาของเงินบาท และความผันผวนแท้จริงก็สูงกว่าที่เห็น

จากเหตุการณ์นี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาชี้แจงทันทีว่า “สภาพคล่องเป็นต้นตอของปัญหา ซึ่งที่จริงในปี 2019 สภาพคล่องของเงินบาทก็มีปัญหาตลอดเวลาที่ ธปท.ไม่อยู่ในตลาด

คิดง่ายๆ จากความผันผวน (Standard Deviation) ของอัตราแลกเปลี่ยน กับทุนสำรองระหว่างประเทศ 

ทั้งคู่มีความผันผวนในปีที่ก่อนที่ 3.6% และ 3.9% หมายความว่า เงินบาทที่เห็นแกว่งตัวแคบๆ แบบนี้ ไม่ได้เกิดจากความมั่นคงของเศรษฐกิจ แต่เกิดจากการที่ธนาคารกลางเข้ามาช่วยซื้อขาย ทำให้ความผันผวนครึ่งหนึ่งถูกดูดซับไปกับทุนสำรองระหว่างประเทศ  

ดังนั้น ถ้าเชื่อว่าสภาพคล่องเป็นปัญหา และไม่มีใครคิดจะแก้ ก็ต้องระวังไว้เสมอว่าความผันผวนอาจสูงขึ้นเมื่อไหร่ก็ตามที่ธปท.ไม่อยู่ในปี 2020 เช่นกัน

ขณะเดียวกัน ปี 2019 ก็เป็นปีที่เงินบาททิ้งคาแรคเตอร์ของสกุลเงินสายบู๊เอเชีย แต่เก็บความเป็นสกุลเงินปลอดภัยสายแท็งค์ไว้อย่างเต็มที่

ย้อนกลับไปช่วงผันผวนปลายปี หลายคนอาจไม่ทันสังเกตว่ามีสองตัวแปรในตลาดการเงินที่ “ถูกเก็บพร้อมกันกับเงินบาท คือ ราคาทองคำที่พุ่งทะลุระดับ 1,500 ดอลลาร์ต่อออนซ์ และเงินยูโรที่แข็งค่าในวันเดียว 2%

ยิ่งกว่านั้น ก็อาจไม่ทันรู้ตัวว่าสองตัวแปรนี้มีความสัมพันธ์ (Correlation) ล่าสุดกับค่าเงินบาทสูงขึ้นมากในปี 2019 คือ 0.45 และ 0.30 แตกต่างจากช่วงอื่นในทศวรรษ 2010 ที่เงินบาทมักเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกับสกุลเงินเอเชีย (0.54) หรือหุ้นไทย (0.47) ชี้ว่าพฤติกรรมของเงินบาท (ซึ่งที่จริงก็คือพฤติกรรมของผู้เล่นหลักในตลาด) เปลี่ยนไปหมด

จากสกุลเงินซื้อทอง สายซิ่งตามตลาดหุ้นเพราะมีนักลงทุนต่างชาติ กลายเป็นสกุลเงินของคนขายทอง ที่แข็งเมื่อตลาดปิดรับความเสี่ยง เพราะมีแต่นักลงทุนไทยกับนักธุรกิจ 

ดังนั้น ถ้าความสัมพันธ์เช่นนี้ยังคงอยู่ในปี 2020 ก็ต้องระวังไว้ด้วยว่าเงินบาท อาจไม่สามารถอ่อนค่าได้เหมือนสกุลเงิน Emerging Asia อื่นๆในช่วงที่ตลาดปิดรับความเสี่ยง

และเหตุการณ์นี้ กำลังเตือนเราอีกครั้งว่าการเปลี่ยนแปลงคือสิ่งเดียวที่แน่นอนของตลาดการเงิน

ผมเชื่อว่าเหตุการณ์ “ทิ้งแต่เก็บเงินบาทในช่วงส่งท้ายปี 2019 ต้อนรับปี 2020 นี้ บอกอะไรหลายอย่างกับคนไทย

ทั้งนักลงทุน ที่ต้องเรียนรู้ ปรับตัว และทำความเข้าใจบริบทของความสัมพันธ์ที่เปลี่ยนแปลงตลอดนี้ให้ทัน เพื่อความอยู่รอดในโลกการเงิน

นักธุรกิจ ที่ต้องมองเหตุการณ์ครั้งนี้ เป็นสัญญาณเตือนอีกครั้งว่า ไม่มีใครสามารถช่วยเราจากความผันผวนของตลาดได้ตลอดเวลา

และผู้กำหนดนโยบาย ที่ต้องรู้ตัวว่าอัตราแลกเปลี่ยนกำลังจะกลายเป็นโจทย์ที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ของนโยบายการเงินถ้าไม่รีบหาทางรับมือ

ทิ้งความเชื่อเก่าๆเก็บมุมมองใหม่ๆ และปรับตัว รับปี 2020 ครับ