ออกแบบชีวิต คิดแบบ Design Thinking

ออกแบบชีวิต คิดแบบ Design Thinking

ผู้เขียนได้มีโอกาสขึ้นเวทีร่วมวงเสวนาเล็กๆ งานหนึ่ง ในหัวข้อ “Designing Your Life” มีแง่มุมความรู้ดีๆ ที่เห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์มาฝากกัน

ว่าหากเราจะใช้วิธีการของ Design Thinking ที่เป็นวิธีการทำงานแบบหนึ่งซึ่งใช้ในการสร้างอะไรใหม่ๆ เช่นการเข้าใจลูกค้า การคิดนอกกรอบ แล้วหากนำมาศาสตร์นี้ มาเข้าใจและออกแบบชีวิตเราเอง จะสามารถประยุกต์หรือทำอะไรได้บ้าง

เมื่อ Design Thinking คือความคิดเชิงออกแบบที่มีมนุษย์เป็นจุดศูนย์กลาง และแน่นอนว่า มนุษย์ในกรณีนี้ ก็คือ “ตัวเราเอง ฉะนั้น การสำรวจและเข้าใจตัวเองอย่างถ่องแท้ ด้วยวิธีอะไรก็ได้ จึงสำคัญมาก นอกจากเรามองตัวเองแล้ว อาจต้องพูดคุยและฟังมุมองจากคนอื่นๆ รอบตัว ว่าแต่ละมุมของเรา ทั้งความรัก การงาน ความสนุก และสุขภาพ เป็นอย่างไรในสายตาของเขา การรับฟังเสียงของคนอื่นๆ นี้สำคัญมาก เพราะทำให้เรามีดวงตาใหม่ๆ มองเห็นในสิ่งที่เคยมองข้าม หรือได้ฟังในสิ่งที่คิดไม่ถึง ผลจากการเปิดตาเปิดใจนี้ หากมีการให้คะแนน มุมไหนหมวดไหน ที่เราทำได้ดีหรือด้อยอย่างไร แล้วนำมาใช้เป็นวัตถุดิบต่อ จะมีประโยชน์มาก ซึ่งความสงสัยใคร่รู้ พยายามหาคำตอบเกี่ยวกับตัวตนที่แท้ทรูของเรา จะเป็นประตูบานแรก ที่นำสู่ประตูบานต่อๆ ไปได้ เรียกว่าสนุกกับการตั้งคำถาม แล้วก็จะตามมาด้วยเสน่ห์ของการหาคำตอบ เป็นทอดๆ 

เมื่อเราค้นหาตัวเอง (แบบไม่มโนหรือเข้าข้างตัวเอง) แล้ว ก็ค่อยๆ ลองลิสต์สิ่งที่คิดว่าเราต้องการต่อจากนี้ เป็นหมุดหมายที่หมายมั่น ซึ่งในขั้นตอนการระดมสมองของ Design Thinking นั้น ในช่วงต้นๆ จะเน้นที่ปริมาณ ไม่ใช่คุณภาพ ดังนั้น ในการออกแบบเส้นทางต่อจากนี้ของชีวิต ก็ไม่จำเป็นต้องตีกรอบกำหนดกันหนักหน่วงในตอนแรก บางสิ่งอาจดูฟุ้งไป ดูแล้วไม่น่าจะสมจริงหรือเป็นไปได้ ในขณะที่ บางอย่างอาจดูธรรมดา จืดชืดไป ไม่เป็นไร ขอเพียงเคารพในความหลากหลายนั้นก่อน แล้วค่อยๆ เลือก ค่อยๆ เหลา ขัดเกลาจนใช่หรือใกล้ที่สุด 

การเลือกเส้นทางชีวิตใด หรือแนวทางการปฏิบัติแบบไหน ที่ดูแล้วว่าน่าจะเป็นสิ่งที่เหมาะกับเรา ก็อาจจะไม่ใช่การกระโจนสุดตัวไปทำสิ่งนั้นๆ เลย แต่ควรหาข้อมูล ชิมลางหรือทดลองก่อน เช่น ลองพูดคุยกับคนที่เคยทำสิ่งนั้นๆ อยู่, ลองฝึกงาน, ลองทำแบบครึ่งตัว ก็จะทำให้เราพอจะเห็นของจริงถึงสิ่งที่จะเลือกทำ มากขึ้นกว่าการคิดไปเอง หากเป็นการคิดค้นนวัตกรรมใดๆ ก็เหมือนสร้าง Prototype ออกมาทดลองตลาดก่อนว่าจะรุ่งหรือร่วง เมื่อได้ผลแล้ว ก็นำมาพัฒนาปรับปรุง หรือทดลองใหม่ จนเมื่อมีแนวโน้มว่าจะใช่ ก็ค่อยผลิตของจริงออกมา ในปริมาณที่ถูกต้อง ชีวิตก็เช่นกัน เมื่อศึกษา ชิมลาง ทดลองบ้างแล้ว ก็เข้าสู่การ “เลือก” และ “ลงมือทำ” เลย ด้วยวุฒิภาวะและสติ สำหรับชีวิตเรา สิ่งใดๆ ที่เราเลือกแล้วนั้น เราก็รับผิดชอบต่อการเลือกนั้น อาจจะดีบ้าง ไม่ดีบ้าง ก็เรียนรู้ ปรับปรุง พัฒนาไปเรื่อยๆ ยิ่งทำมาก ยิ่งได้เรียนรู้มาก 

สำหรับคำว่า “การเรียนรู้” และ การลงมือทำ นั้น เป็นสิ่งที่สำคัญมาก โลกยิ่งหมุนเร็วเท่าไหร่ การเรียนรู้และลงมือทำก็ไม่มีวันจบสิ้น บางทีการได้ลองทำอะไรแปลกๆ แตกต่างจากสิ่งจำเจเดิมๆ อาจจะเป็นบันไดขั้นแรก ทำให้เกิดสิ่งใหม่ๆ ในชีวิต แม้วันแรกๆ จะยาก ดูเหมือนไม่สามารถเป็นไปได้ แต่พอได้ฝึกฝน ได้ทำไปเรื่อยๆ ก็จะเกิดความเชี่ยวชำนาญในที่สุด สิ่งสำคัญมากๆ คือ ทัศนคติที่เชื่อว่าไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบขอเพียงพัฒนาและเรียนรู้ไป ไม่มีจบสิ้น กรุงโรมไม่ได้สร้างวันเดียวฉันใด หลายๆ ด้านของชีวิตเราก็ไม่ได้สำเร็จเสร็จสมได้เพียงช็อตเดียวฉันนั้น จะว่าไปแล้ว หากกรุงโรมคือชีวิต กรุงโรมที่สมบูรณ์แบบที่สุดอาจไม่มีจริง ฉะนั้น ตราบเท่าที่ยังมีลมหายใจ การตั้งคำถาม พากเพียร เรียนรู้ ออกแบบและลงมือสร้างกรุงโรมด้วยความตั้งใจทุกๆ วัน จึงเป็นสิ่งจำเป็น...ว่าแต่วันนี้ เราหากรุงโรมในแบบของตัวเรา เจอหรือยัง?