อันเนื่องมาจากเรื่องการวิจัยในเยอรมนี

อันเนื่องมาจากเรื่องการวิจัยในเยอรมนี

นักวิจัยของมหาวิทยาลัยก๊อตทินเก้น ในเยอรมนี เพิ่งเผยแพร่ผลการวิจัยชิ้นหนึ่ง ซึ่งเชื่อมต่อกับบทความในคอลัมน์นี้ 3 บทที่ผ่านมาแบบแทบแนบชิด

 การวิจัยเกี่ยวเนื่องกับเรื่องความต้องการอาหารของชาวโลกในอนาคต ส่วนบทความพูดถึงภาวะโลกร้อน การวิจัยมองความต้องการอาหารในระยะยาวของชาวโลกในอีก 80 ปีข้างหน้า ด้านภาวะโลกร้อนมักมองกันไปที่อีก 30 ปีข้างหน้าว่าอุณหภูมิของโลกจะร้อนขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียสหรือไม่

การวิจัยมองไปที่ 2 ปัจจัยหลักซึ่งจะมีผลต่อความต้องการอาหารในอนาคต นั่นคือ จำนวนประชากรโลกและความต้องการอาหารของแต่ละคน ปัจจัยทั้ง 2 จะทำให้ความต้องการเพิ่มขึ้นจากระดับปัจจุบันถึงประมาณ 80% โดยแยกออกเป็นผลของการเพิ่มขึ้นของประชากร 60% และผลของความต้องการของแต่ละคน 20%

สำหรับด้านการเพิ่มขึ้นของประชากร การวิจัยชิ้นดังกล่าวคาดว่าประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นเป็นราว 11,000 ล้านคนในอีก 80 ปีข้างหน้า ตัวเลขนี้ต่างกับการคาดการณ์ของบางองค์กรซึ่งมองว่าการเพิ่มขึ้นของประชากรโลกจะหยุดอยู่ในระดับต่ำกว่า 10,000 ล้านคน เนื่องจากประชากรของในหลายประเทศยังเพิ่มขึ้นในอัตราสูงและหลายประเทศที่ก้าวหน้า หรือพัฒนาสูงแล้วเริ่มใช้นโยบายกระตุ้นให้อัตราการเกิดของประชากรเพิ่มขึ้น การคาดการณ์ที่นักวิจัยใช้จึงน่าจะนำมาพิจารณาเพื่อวางแนวนโยบาย

สำหรับด้านความต้องการอาหารของแต่ละคน ผลของการวิจัยดังกล่าวต่างกับการวิจัยชิ้นอื่นๆ ในแง่ที่ให้ความสำคัญแก่ขนาดและน้ำหนักของประชากรโลกแต่ละคน นั่นคือ โดยเฉลี่ยชาวโลกจะสูงขึ้นพร้อมกับน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นด้วย ขนาดที่ใหญ่ขึ้นย่อมต้องการปริมาณอาหารเพิ่มขึ้นซึ่งการวิจัยสรุปว่าอีก 80 ปีน่าจะเป็นราว 20%

การวิจัยเสนอต่อไปว่า การเพิ่มขึ้นของความต้องอาหารจะทำให้ความขาดแคลนอาหารและความเหลื่อมล้ำร้ายแรงขึ้นอีกโดยเฉพาะในเขตที่อัตราการเกิดของประชากรยังสูงแต่พื้นที่เพาะปลูกถูกคุกคามจากทะเลทราย เช่น ในแอฟริกา

การวิจัยดังกล่าวมิได้นำภาวะโลกร้อนมาพิจารณาว่าจะทำให้ปัญหาร้ายแรงขึ้นอีกหรือไม่ จากบทความในคอลัมน์นี้ที่สรุปว่าโลกจะร้อนขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียสในอีก 30 ข้างหน้าแน่นอน เป็นไปได้สูงว่าปัญหาจะร้ายแรงยิ่งกว่าข้อสรุปของการวิจัย ทั้งนี้เพราะการผลิตอาหารจะถูกกระทบอย่างมีนัยสำคัญจากความแห้งแล้งที่จะเพิ่มขึ้น พายุใหญ่ที่จะเกิดบ่อยขึ้นและร้ายแรงขึ้น และน้ำทะเลที่จะสูงขึ้นและอุ่นขึ้นแต่กลับมีออกซิเจนน้อยลง

ชาวโลกจะทำอย่างไรในภาวะเช่นนี้?

คงมีชาวโลกเพียงน้อยนิดที่คิดถึงเรื่องการมองไปข้างหน้าไกล ๆ แบบการวิจัยที่อ้างถึง ส่วนที่คิดกันบ้างก็คงอ้างว่าเทคโนโลยีจะมีความสามารถช่วยผลิตอาหารเพิ่มให้พอกับความต้องการได้ อย่างไรก็ดี ผู้หวังพึ่งเทคโนโลยีมักลืมไปว่าเทคโนโลยีมักมีคำสาปแฝงมาด้วย

คงทราบกันโดยทั่วไปแล้วว่าสหรัฐเพิ่งก่อตั้งกองกำลังอวกาศด้วยเทคโนโลยีนำสมัย ในไม่ช้ารัสเซียกับจีนก็คงก่อตั้งกองกำลังแนวเดียวกัน นั่นเป็นคำสาปร้ายแรงแนวหนึ่ง นอกจากคำสาปแนวนี้ ยังมีคำสาปในภาคเกษตรกรรมอีกด้วย ตัวอย่างมีให้ดูอยู่ตลอดเวลา การใช้ยาฆ่าหญ้าและสารเคมีเป็นตัวอย่างที่กำลังเกิดขึ้นสดๆ ในเมืองไทย แต่มันมิใช่ของใหม่ ทั้งนี้เพราะตั้งแต่ยุคเริ่มการปฏิวัติสีเขียวเมื่อราว 70 ปีที่ผ่านมา การใช้สารเคมีในไร่ในนาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนสร้างปัญหาให้ที่นาที่ไร่อย่างมีนัยสำคัญแล้ว

เมืองไทยจะได้รับผลกระทบจากทั้งภาวะโลกร้อนและเทคโนโลยี แต่คงยังโชคดีที่จะมีความสามารถผลิตอหารได้เกินความต้องการภายในประเทศในอีก 80 ปีข้างหน้า ปัญหาของไทยจึงจะต่างกับของประเทศที่โชคดีไม่เท่า กล่าวคือ จะมีหลายประเทศต้องการพื้นที่ผลิตอาหารของเรา เขาจะเข้ามารุกรานด้วยการสมยอมของคนไทยในนามของการลงทุนจากต่างประเทศและการพัฒนาสารพัดด้านจนเมืองไทยกลายเป็นเมืองขึ้นของเขาโดยปริยาย ขอฝากประเด็นนี้ไว้คิดเป็นการบ้าน

บทความนี้เป็นบทสุดท้ายสำหรับปี 2562 ขอส่งความขอบคุณและไมตรีจิตมายังทุกท่าน หวังว่าตลอดปีหน้า ท่านจะสมปรารถนาทุกประการ