2020…ปีแห่ง “ความยั่งยืน” (1)

2020…ปีแห่ง “ความยั่งยืน” (1)

สวัสดีค่ะคุณผู้อ่านทุกท่าน อีกหนึ่งปีกำลังจะผ่านพ้นไป และเรากำลังจะเข้าสู่ทศวรรษใหม่กันแล้วในอีกไม่กี่วันนี้

เมื่อเราลองย้อนกลับมามอง ในรอบหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา จะพบว่าโลกเราเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก โดยเฉพาะในเรื่องของเทคโนโลยี สมาร์ทโฟนเข้ามาเปลี่ยนแปลงทุกอย่าง ตลอดจนการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์และระบบอัตโนมัติ ก็เข้ามามีบทบาทในโลกธุรกิจมากขึ้น

จึงไม่ผิดนักหากจะบอกว่า ในรอบสิบปีที่ผ่านมา เทคโนโลยีคือตัวแปรที่สำคัญ ที่ทำให้โลกเปลี่ยนแปลงไป

แต่สำหรับทศวรรษหน้าหน้านั้นต่างออกไปค่ะ โดย “จอนควิล แฮคแคนเบิร์ก” ผู้เชี่ยวชาญด้านความยั่งยืน ได้เขียนไว้ในเวบไซต์ Forbesว่า ในอนาคต สิ่งที่ธุรกิจต่างๆจะต้องให้ความสำคัญ คือ ความยั่งยืน” นั่นเอง

โดยความยั่งยืนในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงเพียงส่วนใดส่วนหนึ่ง เช่น การรีไซเคิล การนำนโยบายแฟร์เทรด(Fair Trade)มาใช้ในองค์กรเท่านั้น แต่ความยั่งยืนนั้นเกี่ยวข้องกับทุกส่วนในองค์กร ตั้งแต่ระบบห่วงโซ่อุปทานหรือซัพพลายเชน (Supply Chain) ไปจนถึงการปฏิบัติงานทั่วไป การบริหารทรัพยากรบุคคล หรือแม้กระทั่งเรื่องของสถานที่ทำงาน ในปีหน้าและอนาคตต่อจากนี้ไป ธุรกิจจึงต้องปรับตัวให้เป็น “ธุรกิจแห่งความยั่งยืน” ด้วยแนวทางดังต่อไปนี้

ระบบซัพพลายเชนแบบ เซอร์คูลาร์” (Circular) การเปลี่ยนแปลงแรกที่เราจะต้องเห็นอย่างแน่นอนในปีหน้า คือการที่บริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกหลายแห่ง จะปรับระบบซัพพลายเชนของตนเองไปสู่ “ระบบหมุนเวียน” หรือ “เซอร์คูล่า”(Circular) โดยมีแรงกดดันที่มาจากผู้บริโภค ที่มีความเอาใจใส่และให้ความสำคัญต่อประเด็นทางด้านจริยธรรมและคุณธรรมมากขึ้น เช่น ผู้บริโภคจะมองหาองค์กรที่ลดภาวะโลกร้อน และลดการใช้พลาสติกเพื่ออนุรักษ์ท้องทะเล ซึ่งธุรกิจจะต้องให้ความสำคัญต่อการรับผิดชอบเรื่องต่างๆ เหล่านี้มากขึ้น

โดยธุรกิจต่างๆ จะต้องปรับตัว โดยหันมารับผิดชอบระบบซัพพลายเชนของตนเองตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง ไม่ใช่รับผิดชอบในด้านที่ผู้บริโภครับรู้หรือมองเห็นเท่านั้น แต่ต้องรับผิดชอบในทุกด้าน ซึ่งหมายความว่า ไม่ใช่แค่การผลิตแชมพูบรรจุลงขวดพลาสติกแล้วจำหน่ายอีกต่อไป แต่หมายถึงต้องรับผิดชอบไปจนสุดทาง ว่าขวดพลาสติกเรานั้นจะไปสิ้นสุดลงตรงไหน

 ตัวอย่างเช่น ต่อไปเราอาจจะเห็นผู้ผลิตแชมพูรายใหญ่ของโลก ออกแคมเปญอ “รีฟิล” โดยให้ผู้บริโภคนำขวดแชมพูเก่ามาคืนพร้อมได้รับส่วนลดในการซื้อครั้งต่อไป เป็นต้น ซึ่งการหมุนเวียนแบบนี้ ไม่ได้หมายถึงการนำมาคืนเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่บริษัทใหญ่ๆ จะต้องมีความรับผิดชอบตั้งแต่เริ่มต้น อาทิเช่น การจัดหาวัตถุดิบอย่างมีจริยธรรม หรือ Ethical Sourcing หรือการพิสูจน์แหล่งที่มา เป็นต้น

การบริหารคน : จาก “Retire”สู่ “Re-hire” จ้างคนเก่าคุ้มกว่า แนวคิดของเซอร์คูล่าหรือการหมุนเวียน ไม่ได้หมายถึงเพียงระบบซัพพลายเชนเท่านั้น โดยในแง่ของการบริหารทรัพยากรบุคคล ขั้นตอนของการบริหารพนักงาน1คนนั้นค่อนข้างมีขั้นตอนที่ชัดเจน เริ่มตั้งแต่การสัมภาษณ์ การจ้างงาน การเริ่มปฏิบัติงาน ไปจนถึงการลาออกของพนักงาน โดยปัจจุบัน องค์กรส่วนใหญ่ต่างๆ อาจจะไม่พิจารณารับอดีตพนักงานที่ลาออกไปแล้วให้กลับเข้ามาทำงานใหม่ แต่ในปี 2020 เป็นต้นไปจะมีบางบริษัทที่มีหัวคิดก้าวหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทในอุตสาหกรรมที่กำลังอยู่ภายใต้แรงกดดัน อย่างเช่นอุตสาหกรรมการเงิน จะใช้โอกาสนี้ในการว่าจ้างพนักงานที่เคยทำงานด้วยกันมาแล้ว เพื่อให้เข้ามาทำงานต่อได้เลยทันที

สำหรับฝ่ายสรรหาหรือฝ่ายทรัพยากรบุคคล การหมุนเวียนหรือเซอร์คูล่าในที่นี้หมายถึงการเปลี่ยนจาก การจ้างงานไปจนถึงการออกจากงาน”(Hire to Retire)ไปสู่ การจ้างงานไปจนถึงการออกจากงาน ไปจนถึงการจ้างกลับมาทำงานใหม่”(Hire to Retire to Re-hire) เพราะด้วยวิธีนี้ อดีตพนักงานสามารถ ข้ามขั้นตอนการเริ่มงานได้เลย และสามารถปฏิบัติงานได้ทันที ซึ่งจะช่วยให้ฝ่ายทรัพยากรบุคคลลดเวลา หางานด้านธุรการที่เกี่ยวข้องกับการรับพนักงานใหม่เข้ามา

แนวโน้มของการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนในปี2020ยังไม่จบเพียงเท่านี้ มาต่อกันหลังปีใหม่นี้ค่ะ