ระบบการชำระเงินยุค 4.0

ระบบการชำระเงินยุค 4.0

ระบบการชำระเงินมีความสำคัญอย่างมากในฐานระบบเศรษฐกิจ

 โดยเฉพาะในยุคที่บริการทางการเงินผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ได้รับความนิยม แพร่หลายและมีแนวโน้มความนิยมที่สูงขึ้นต่อเนื่อง ระบบการชำระที่มีความปลอดภัยเปรียบเสมือนเป็นเครื่องมือที่หล่อลื่นเศรษฐกิจของประเทศให้ดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง ก่อให้เกิดความมั่นคงในระบบการเงินของชาติ

โครงสร้างพื้นฐานด้านการชำระเงินเป็นอีกปัจจัย ที่ช่วยส่งเสริมการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment)โดยสามารถตรวจสอบข้อมูลต่างๆ ย้อนหลังได้ จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ใช้บริการและลดความเสี่ยงอันเกิดจากภัยคุกคามต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงจากช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือช่องทางการปลอมแปลงเอกสาร ลักลอบนำข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้บริการไปเผยแพร่ เพื่อก่อให้เกิดความเสียหายในทางใด

แม้ปัจจุบัน ธนาคารพาณิชย์จะมีกลยุทธ์ต่างๆ ในการให้บริการไม่ว่าจะเป็นการขยายช่องทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อให้ครอบคลุมกลุ่มผู้ใช้บริการอย่างทั่วถึง และวิธีการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลผู้ใช้บริการ แต่ก็ยังคงมีภัยที่เกิดจากผู้ไม่ประสงค์ดีที่อาศัยช่องโหว่หรือจุดอ่อนจากผู้ใช้บริการ กระบวนการ หรือเทคโนโลยีที่ขาดการควบคุมอย่างเพียงพอ ส่งผลทำให้ระบบงานและตัวผู้ใช้บริการได้รับความเสียหาย จึงมีความจำเป็นต้องมีมาตรการทางกฎหมายเพื่อสร้างมาตรฐานกลางที่จะช่วยสร้างความมั่นใจและความน่าเชื่อถือในการประกอบกิจการของผู้ให้บริการ

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่วมกับกระทรวงการคลังจึงร่วมกันผลักดันให้มีการตราพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ระบบการชำระเงิน พ.ศ. 2560 ซึ่งได้ประกาศลงราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2560 และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 16 เม.ย.2561 นับว่าเป็นการบูรณาการกฎหมายด้านการชำระเงินต่างๆ ที่มีอยู่หลายฉบับมารวบรวมเป็นฉบับเดียว

กฎหมายฉบับนี้ มุ่งสร้างเสถียรภาพ ความปลอดภัย ต่อผู้ใช้บริการในการชำระเงินโดยมีการกำหนดกระบวนการตรวจสอบการพิสูจน์ตัวบุคคลในการเข้าใช้ระบบ หรือต้องมีหลักฐานในการแสดงตัวตนเพื่อสร้างความปลอดภัยในการใช้งานผ่านการบริการอิเล็กทรอนิกส์ในระบบการชำระเงิน ทั้งยังสามารถรับการใช้บริการได้อย่างต่อเนื่องทันต่อความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี สร้างประสิทธิภาพและความสามารถในการแข่งขัน สร้างความเท่าเทียมกันในระหว่างบรรดาผู้ประกอบธุรกิจ ส่งผลให้เกิดการแข่งขันในการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ อันช่วยในการเพิ่มประสิทธิภาพและยกระดับการชำระเงินของประเทศไทยให้ทันตามมาตรฐานสากล

สำหรับประโยชน์ที่ผู้ใช้บริการจะได้รับจากกฎหมายฉบับนี้ เนื่องจากกฎหมายมุ่งเน้นให้ผู้ใช้บริการได้รับความคุ้มครองอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม มีการรักษาความปลอดภัย มีการดูแลและจัดการข้อร้องเรียนต่างๆ ตลอดจนผู้ใช้บริการจะได้รับทราบข้อมูลที่ครบถ้วนและเพียงพอต่อการตัดสินใจก่อนเลือกใช้บริการ นับว่าเป็นทางเลือกที่ทำให้ผู้ใช้บริการสามารถเลือกใช้บริการได้ตามความต้องการ โดยคำนึงถึงประสิทธิภาพของผู้ให้บริการเป็นหลัก ซึ่งย่อมส่งผลต่อการแข่งขันกันระหว่างผู้ให้บริการในการหาสิ่งดึงดูดหรือสร้างมาตรฐานในการให้บริการที่ดีขึ้น ส่งผลก่อให้เกิดการแข่งขันที่มีประสิทธิภาพในการประกอบธุรกิจ ก่อให้เกิดผลดีในระบบเศรษฐกิจของประเทศไปโดยปริยาย

ในด้านประโยชน์ต่อผู้ให้บริการนั้น เนื่องจาก พ.ร.บ.นี้เป็นการบูรณาจากกฎหมายที่มีอยู่หลายฉบับ จึงลดภาระแก่ผู้ให้บริการในขั้นตอนการดำเนินการตามกฎหมายฉบับต่างๆ ตลอดจนลดการกำกับดูแลจากหน่วยงานของรัฐ ส่งผลให้การดำเนินธุรกิจสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น อีกทั้งกฎหมายฉบับนี้ยังผลักดันให้มีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้ในการชำระเงิน ส่งผลให้เกิดการส่งเสริมที่ผู้ให้บริการสามารถคิดและสร้างสรรค์การให้บริการในรูปแบบใหม่ๆ ที่มีประสิทธิภาพ และส่งผลให้เกิดการขยายตัวของผู้ประกอบธุรกิจรายใหม่มากขึ้น

จะเห็นได้ว่า พ.ร.บ.ระบบการชำระเงิน  ปี 60 เป็นการวางมาตรฐานของระบบการชำระเงินที่มีความสำคัญ เป็นระบบที่สร้างพื้นฐานโครงสร้างหลักของประเทศ โดยยกระดับการกำกับดูแลระบบและการให้บริการชำระเงินที่เข้มงวดขึ้น อาทิ การกำหนดให้ฐานะการเงินของผู้ให้บริการต้องมีความเข็มแข็ง หลักธรรมาภิบาล แผนบริหารความเสี่ยงที่ดี เป็นต้น ทั้งยังให้ความสำคัญการคุ้มครองผู้ใช้บริการที่มากขึ้น

อีกทั้ง ยังมีการกำหนดบทลงโทษผู้ให้บริการที่กระทำผิดไว้เพื่อเป็นหลักประกันในการคุ้มครองสิทธิ์ของผู้ใช้บริการว่าจะไม่ถูกละเมิด หรือนำข้อมูลของผู้ใช้บริการไปใช้ในทางที่ก่อให้เกิดความเสียหาย รวมทั้งได้กำหนดโทษทางปกครองเพิ่มขึ้นอีกด้วย โดยให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการพิจารณาโทษปรับทางปกครองขึ้นเพื่อมีอำนาจในการพิจารณาลงโทษปรับทางปกครองได้

มาตรการต่างๆ ข้างต้น จึงน่าจะช่วยเพิ่มความสามารถในการกำกับดูแลและคุ้มครองผู้ใช้บริการระบบการชำระเงินในรูปแบบต่างๆ ในประเทศไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันต่อการเปลี่ยนแปลง และสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่งของระบบการเงินการคลังของประเทศ ให้สามารถรองรับการขยายตัวของการพัฒนาเศรษฐกิจในอนาคตด้วย

โดย... 

พรพล เทศทอง

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์