เราจะสามารถป้องกันไม่ให้เป็นโรคสมองเสื่อมได้อย่างไร (2)

เราจะสามารถป้องกันไม่ให้เป็นโรคสมองเสื่อมได้อย่างไร (2)

ครั้งที่แล้วผมกล่าวถึงบทวิเคราะห์ของ Wall Street Journal (วันที่ 17 พ.ย. 2019) ที่นำเสนอข้อมูลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์ล่าสุด

เกี่ยวกับแนวทางในการลดความเสี่ยงจากการเป็นโรคสมองเสื่อม เพราะเมื่อประชากรโลกแก่ตัวลง มีงานวิจัยสรุปว่าจำนวนผู้ป่วยเป็นโรคสมองเสื่อมจะเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว จาก 43.8 ล้านคนเป็น 88 ล้านคนในปี 2030 และจำนวนผู้ป่วยเป็นโรคสมองเสื่อมในประเทศไทยอาจเพิ่มขึ้นไปถึงระดับ 1 ล้านคนหรือมากกว่าในปี 2040 ก็เป็นไปได้

เนื่องจากโรคสมองเสื่อมไม่มียารักษา ดังนั้นจึงต้องพยายามดูแลช่วยเหลือตัวเอง ซึ่งในครั้งก่อนผมนำเสนอข้อสรุปจากงานวิจัยของ Lancet ว่าการปรับพฤติกรรมของตัวเราเองจะลดความเสี่ยงจากการเป็นโรคสมองเสื่อมลงได้มากถึง 35% และหากโชคดีเกิดมาไม่มียีนส์ APOE4 ก็จะลดความเสี่ยงที่จะเป็นโรคสมองเสื่อมลงไปได้อีก 7% รวมเป็น 42%

องค์กรอนามัยโลกได้ทำคู่มือซึ่งบรรจุข้อแนะนำ (WHO Guidelines) ชื่อว่า “Risk Reduction of Cognitive Decline Dementia” ซึ่งเมื่อต้นปี 2019 ซึ่งแบ่งแนวทางของการลดความเสี่ยงจากการเป็นโรคสมองเสื่อมเป็นระดับตามความหนักแน่นของข้อมูลที่ได้รวบรวมมาจากงานวิจัยทั่วโลกคือ

1.พฤติกรรมที่ WHO สนับสนุนอย่างหนักแน่น (strong recommendation) เพราะมีข้อมูลจากงานวิจัยที่ยืนยันถึงความถูกต้องสูงได้แก่การออกกำลังกายและการไม่สูบบุหรี่ เพื่อลดความเสี่ยงจากการเป็นโรคสมองเสื่อม

2.พฤติกรรมที่ WHO สนับสนุน (recommendation) แม้ว่าหลักฐานทางวิชาการยังไม่สูงมากนัก (evidence for risk modification of cognitive decline is low) ได้แก่ การควบคุมความดันโลหิตและการหลีกเลี่ยงการเป็นโรคเบาหวาน เพราะโรคทั้งสองมีผลร้ายอย่างยิ่งต่อสุขภาพโดยรวม

3.พฤติกรรมที่ WHO สนับสนุนแบบมีเงื่อนไข คือการควบคุมการกินและการควบคุมน้ำหนักในการลดความเสี่ยงจากการเป็นโรคสมองเสื่อม ตรงนี้อาจขัดแย้งกับความรู้สึกของคนทั่วไปอยู่บ้าง แต่ดังที่นำเสนอข้อมูลผลงานวิจัยในตอนที่แล้วนั้น การไม่เป็นโรคอ้วนจะลดความเสี่ยงจากการเป็นโรคสมองเสื่อมเพียง 1% เท่านั้น

4.พฤติกรรมที่ WHO ไม่สามารถหาข้อสรุปทางวิชาการได้เพียงพอที่จะสรุปว่าเป็นประโยชน์ต่อการลดความเสี่ยงจากการเป็นโรคสมองเสื่อมคือการดูแลมิให้เกิดภาวะซึมเศร้า (ซึ่งเป็นอาการที่ไม่พึงปรารถนาในตัวของโรคเอง แต่ไม่มีหลักฐานเพียงพอที่ WHO จะสรุปว่าเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคสมองเสื่อม) นอกจากนั้น WHO ก็มิได้กล่าวถึงการสูญเสียความสามารถในการได้ยินเสียงในตอนวัยกลางคนว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เป็นโรคอัลไซเมอร์ ซึ่งประเด็นนี้จะขัดแย้งกับข้อมูลที่ผมนำเสนอในตอนแรกที่งานวิจัยในวารสาร Lancet สรุปว่าเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคสมองเสื่อมจะมีมากถึง 9% หากสูญเสียความสามารถในการได้ยิน

นอกจากนั้น WHO ก็ยังไม่ได้กล่าวคือภาวะการศึกษาต่ำว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรคสมองเสื่อม แต่ก็เป็นที่เข้าใจได้ว่าการศึกษาที่ดีนั้นย่อมเป็นสิ่งที่พึงปรารถนาอยู่แล้ว

จากการอ่านงานวิจัยหลายชิ้นนั้น ผมมีข้อสรุปคล้ายคลึงกับข้อสรุปของ Wall Street Journal ในประการสำคัญ 2 ข้อคือ

1.การลดความเสี่ยงในการเป็นโรคสมองเสื่อมนั้นน่าจะเป็นเรื่องของการดำเนินชีวิต (lifestyle) โดยรวมไม่ใช่การทำหรือไม่ทำกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่ง

2.ควรเริ่มต้นอุปนิสัยในการดำเนินชีวิตที่ดีต่อสุขภาพของสมองให้เร็วที่สุด อย่ารอช้า เริ่มต้นเสียวันนี้เลยก็ยังดีกว่ารู้สึกท้อแท้ว่า “มันสายเกินไปแล้ว”

บทความของ Wall Street Journal เริ่มต้นโดยการนำเสนองานวิจัยที่ผูกโยงความดันโลหิตกับการเป็นโรคสมองเสื่อม โดยกล่าวถึงผลการวิจัยของ Framingham Heart Study ซึ่งเป็นศูนย์ข้อมูลเกี่ยวกับระบบไหลเวียนของเลือดและโรคที่เกี่ยวข้องกับโรคหลอดเลือด (โรคหัวใจ โรคเส้นเลือดในสมองตีบตัน) ที่เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายเพราะเก็บข้อมูลของประชาชนในเมือง Framingham มายาวนานตั้งแต่ปี 1948 (รวมกันกว่า 70 ปีแล้ว) โดยการศึกษาข้อมูลพบว่า อัตราการเป็นโรคสมองเสื่อมลดลงไปถึง 44% สำหรับคนที่อายุ 60 ปีหรือมากกว่าจากช่วงปี 1977-1983 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงปี 2004-2008 ซึ่งผู้วิจัยสรุปว่าเป็นผลมาจากการดูแลรักษาระบบเส้นเลือดให้มีสุขภาพดีขึ้น (improvements in cardio vascular health) และจากการศึกษาที่ดีขึ้น ซึ่งข้อสรุปในส่วนหลังนี้ได้มาขากข้อมูลที่พบว่าประชาชนที่ได้รับการศึกษาต่ำกว่าระดับมัธยม (เรียนไม่จบมัธยม) ไม่ได้ลดความเสี่ยงจากการเป็นโรคสมองเสื่อมเลย แตกต่างจากประชาชนที่มีการศึกษาที่สูงกว่า