ตลาดหุ้นใกล้ Bottom

ตลาดหุ้นใกล้ Bottom

กำไรของบริษัทจดทะเบียนในไตรมาส 3 ที่ประกาศออกมานั้น มีกำไรสุทธิรวม 2.13 แสนล้านบาท ทรงตัวจากไตรมาส 2 แต่ลดลง 18% เเทียบกับไตรมาส 3ปีที่แล้ว

 หากรวมกำไรสุทธิ 9 เดือนแรกของปีนี้ จะอยู่ที่ 6.83 แสนล้านบาท ลดลง 15% จากปี 2018 โดยกลุ่มที่กำไรเติบโตสูงได้แก่ กลุ่มสื่อสาร อาหาร และเงินทุนหลักทรัพย์ ส่วนกำไรลดลงมาก ได้แก่ กลุ่มพลังงานปิโตรเคมี และรับเหมาก่อสร้าง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทขนาดใหญ่ มีมูลค่าตลาดสูง ทำให้เป็นตัวฉุดกำไรของตลาด ทำให้ประมาณการกำไรสุทธิต่อหุ้นของตลาด (SET EPS) ในปี 2019 อยู่ที่ 94.5 บาท และในปี 2020 อยู่ที่ 105.2 บาท ทำให้กำไรของตลาดในปีนี้ติดลบจากปีที่แล้ว -3.2% และฟื้นตัว 11% ในปีหน้า ปัจจัยนี้เองที่เป็นตัวกดดัน SET Index ทำให้ดัชนีปรับลดลงต่อเนื่องตั้งแต่กลางปี

ทางสภาพัฒน์เอง ได้ประกาศตัวเลขจีดีพีในไตรมาส 3 ของไทยออกมาอยู่ที่ 2.4% ดีขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาส 2 ที่ขยายตัว 2.3% แต่ต่ำกว่าที่ตลาดคาดไว้ที่ 2.6% มีเพียงภาคบริการที่เติบโตค่อนข้างดี (+11%) ส่วนภาคการส่งออกและนำเข้ายังหดตัว การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนยังขยายตัวได้เล็กน้อย (+2.8%) ภาคการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมหดตัว (-1.5%) ทำให้ทางสภาพัฒน์ได้มีการปรับลดการประมาณการจีดีพีทั้งปีนี้ลง จากเดิม 2.7-3.2% มาอยู่ที่ 2.6% ขยายตัวลดลงจากปี 2018 ที่ 4.1%

ทั้งตัวเลขกำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนและตัวเลขจีดีพีที่ออกมานั้น เป็นสิ่งยืนยันการชะลอตัวเศรษฐกิจของไทย และตลาดหุ้นได้ตอบสนองไปแล้วเช่นกัน จากการที่ดัชนีปรับลดลงจากจุดสูงสุดบริเวณ 1,740 จุดในเดือนกรกฎาคม มาอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 1,600 จุดในปัจจุบัน ซึ่งคิดเป็นการปรับลดลงถึง 8% ในเวลาเพียง 4 เดือน ปัจจัยเสี่ยงของตลาดหุ้นในเวลานี้ นอกจากจะมีปัจจัยต่างประเทศ ได้แก่ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ความขัดแย้งในฮ่องกง หรือการออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษแล้ว ปัจจัยหลักคือ ความกังวลการปรับลดลงต่อเนื่องของ SET EPS นั่นเอง

หากพิจารณาดูระดับการปรับ SET EPS จะพบว่า ตัวเลขคาดการณ์ในปี 2019 และ 2020 ถูกลดลงจากประมาณการเมื่อตอนต้นปีไปแล้วถึง -18% และ -16% ตามลำดับ ซึ่งตัวเลขนี้ได้สะท้อนผลประกอบการณ์ของบริษัทจดทะเบียนที่แย่กว่าคาดใน 9 เดือนแรกของปี 2019 และรวมไปถึงแนวโน้มของกำไรที่อ่อนตัวในไตรมาส 4 ไปแล้ว ในขณะที่ธนาคารกลางแห่งประเทศไทยและรัฐบาล ต่างร่วมกันใช้นโยบายการเงินการคลังแบบผ่อนคลายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งนโยบายเหล่านี้จะใช้เวลาประมาณ 3-6 เดือนในการส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจ ทำให้น่าจะเห็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 1 ปี 2020 และกำไรของบริษัทจดทะเบียนรายไตรมาสน่าจะเริ่มฟื้นตัวได้ yoy จากฐานที่ต่ำในปีนี้ โดยเฉพาะในกลุ่มพลังงาน ปิโตรเคมี และชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิคส์ ณ ระดับ SET Index ปัจจุบัน คิดเป็นค่าพีอีตลาดสำหรับปี 2019 ที่ 16.9 เท่า แต่หากมองไปถึงปีหน้า ค่าพีอีสำหรับปี 2020 ค่าพีอีจะอยู่ที่ 15.2 เท่า ซึ่งถือว่าไม่สูงมากเมื่อเทียบกับการเติบโต 11%

กลุ่มธุรกิจที่ยังน่าสนใจ ได้แก่ กลุ่มค้าปลีก ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์โดยตรงจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ชิม ช็อป ใช้ ของรัฐบาล และไม่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าและปัจจัยลบจากต่างประเทศ กลุ่มขนส่งภายในประเทศ เช่น รถไฟฟ้าใต้ดิน รถไฟฟ้า รวมไปถึงสนามบิน ยังมีการเติบโตได้ดีจากการขยายเส้นทางเดินรถ การลดค่าโดยสาร และการต่อสัญญาสัมปทานดิวตี้ฟรี กลุ่มธนาคารพาณิชย์ แม้จะยังมีความเสี่ยงหากมีการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีกในปีหน้า แต่ราคาหุ้นได้ปรับลดลงมามาก คิดเป็นเพียง 0.8 เท่าของมูลค่าทางบัญชี ซึ่งค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในอดีต ทำให้ความเสี่ยงที่ราคาจะปรับลงไปกว่านี้ค่อนข้างน้อย อาจเป็นจังหวะเข้าสะสมสำหรับการลงทุนในระยะยาว และกลุ่มสุดท้ายคือ กลุ่มเงินทุนหลักทรัพย์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ผลการดำเนินงานยังเติบโตได้ดีในระดับ 20 – 25% ในปีหน้า เหมาะสำหรับนักลงทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นเติบโตครับ

ส่วนกลุ่มธุรกิจที่ยังไม่เห็นการฟื้นตัวที่ชัดเจน ได้แก่ กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ที่เริ่มชะลอตัวตั้งแต่ไตรมาส 2 ของปีนี้หลังจากธนาคารแห่งประเทศไทยออกมาตรการควบคุมเพดานการปล่อยสินเชื่อ และธนาคารพาณิชย์เริ่มระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ทำให้กำลังซื้ออสังหาริมทรัพย์หดตัว ผู้ประกอบการชะลอการเปิดโครงการใหม่ ดังนั้น ทั้งยอดโอนและยอดขายล่วงหน้าน่าจะยังติดลบ yoy ในปีหน้า กลุ่มขนส่งทางอากาศ ที่แม้จะมีจำนวนผู้โดยสารมากขึ้น แต่ด้วยโครงสร้างของตลาดที่เป็นแบบผู้ขายน้อยราย การแข่งขันที่รุนแรงแบบไม่สมเหตุสมผล ทำให้ผู้ประกอบการทุกรายมีผลประกอบการขาดทุน จนกว่าสายการบินใดจะออกจากตลาดหรือควบรวมธุรกิจกันเอง ธุรกิจนี้ยังคงเหนื่อยครับ

สำหรับระดับ SET Index ในปีหน้า ในกรณีที่ SET EPS 2020 ถูกปรับลดลงเหลือ 103 ซึ่งผมคิดว่าเป็นระดับที่ต่ำมากในกรณีเลวร้าย ดังนั้น หากให้ค่าพีอีของตลาดอยู่ที่ 15 เท่า ซึ่งเป็นระดับ -1S.D. ของค่าเฉลี่ยพีอีตลาดย้อนหลัง 5 ปี จะได้ระดับดัชนีอยู่ที่ 1545 นั่นคือ มีความเสี่ยงขาลงจากระดับปัจจุบันอยู่ราว 50 จุด หรือคิดเป็น 3.5% แต่ในสภาวะดอกเบี้ยขาลง ส่วนต่างผลตอบแทนระหว่างสินทรัพย์เสี่ยงกับสินทรัพย์ปลอดภัยที่นักลงทุนคาดหวังจะสูงขึ้น ทำให้ค่าพีอีตลาดอาจปรับขึ้นได้สูงถึง 17-18 เท่า คิดเป็น SET Index ที่ 1,750 – 1,850 จุด คิดเป็น Upside สูงถึง 9.3-15.6% ในเวลานี้จึงเป็นจังหวะที่น่าทยอยสะสมหุ้นได้ครับ