The Smiling Curve : เมื่อต้องแข่งที่ต้นทางและปลายทาง
หากเราจะมุ่งพัฒนาประเทศให้แข่งต่อในอนาคตได้ เราต้องพัฒนาที่ต้นทางและปลายทาง ไม่ใช่มาแข่งกันเป็นคนกลางอีกต่อไป
The Smiling Curve จากหนังสือ “The Digital Transformation Playbook: Rethink Your Business for the Digital Age” ของ David L. Rogers คือ เรื่องหนึ่งที่ผมชอบยกตัวอย่างมาให้เห็นมื่อกล่าวถึง ดิจิิทัล ดิสรัปชั่น (Digital Disruption) เพราะผู้ที่ผลิตอยู่ต้นทางและผู้พบกับลูกค้าที่ปลายทาง จะมีมูลค่าเพิ่มได้ดีที่สุด
โลกกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างมากจากเทคโนโลยีดิจิทัลกำลังเข้ามาปั่นป่วน ทำให้คนกลางที่อาจเป็นผู้จำหน่ายสินค้าหรือผู้ผลิตสินค้าในรูปแบบเดิม กำลังถูกทำลายพังไปอย่างราบคาบ ช่องทางการจำหน่ายและการผลิตไม่เหมือนเดิมแล้ว เทคโนโลยีทำให้คนอยู่ที่ต้นทางที่มีนวัตกรรม สามารถมีวิธีการผลิตที่ต้นทุนต่ำลงโดยการใช้ออโตเมชันและช่องทางการจำหน่ายที่อาจเข้าถึงลูกค้าโดยตรง
ในยุค 2520 สมัยอุตสาหกรรม 2.0 ประเทศเรายังมีสินค้าที่ผลิตได้ดี มีอุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมรถยนต์ แม้เราอาจจะไม่มีงานวิจัยและพัฒนามากนัก ไม่มีแบรนด์ดังๆ เป็นของเราเองนัก แต่ด้วยต้นทุนที่ต่ำ และตำแหน่งที่ตั้งของประเทศที่ดีกว่า ทำให้ประเทศเราเป็นแหล่งการผลิตที่ดี เป็นตัวกลางกระจายสินค้าที่ดี ยิ่งสมัยพลเอกเปรม มีนโยบายสร้างแหล่งอุตสาหกรรมอย่างอีสเทิร์น ซีบอร์ด ก็ยิ่งทำให้ต่างชาติต่างย้ายฐานการผลิตมาไทยมากขึ้น
แต่ในช่วงเปลี่ยนไปสู่อุตสาหกรม 3.0 เรื่องไอทีเข้ามา ประเทศเราเองก็ไม่ได้ทำอะไรมากนัก มีความสุขอยู่กับการผลิตแบบเดิมๆ ยิ่งช่วงนั้นคนกลางที่เป็นผู้แทนจำหน่ายสินค้าก็ยังร่ำรวยขึ้น จากการสั่งสินค้าจากต่างประเทศมาขายในประเทศหรือประเทศเพื่อนบ้าน บางรายได้สัมปทานผูกขาด ไม่จำเป็นต้องสนใจเรื่องนวัตกรรมหรืองานวิจัยมากนัก บ้างก็ผันตัวเองเป็นนักการเมือง เป็นผู้บริหารประเทศ ก็ยิ่งไม่สนใจจะวางรากฐานการศึกษาหรือการวิจัยให้ดีขึ้น ก็เพราะตัวเองร่ำรวยมาแบบคนกลาง
พอวันนี้เข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 เทคโนโลยีหลายอย่างเข้ามาทั้ง เอไอ ออโตเมชัน รูปแบบการผลิตไม่เหมือนเดิม หุ่นยนต์เข้ามาไม่ได้แข่งที่ต้นทุนการผลิตจากแรงงานคนที่ต่ำอีกต่อไป เราก็เริ่มพบว่าตัวเองช้ากว่าเพื่อนบ้านที่ได้เร่งพัฒนาการศึกษา ให้ความสำคัญกับงานวิจัย เด็กเราไม่ได้ถูกสร้างให้เรียนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ หรือพัฒนานวัตกรรมมากนัก แต่เราเน้นที่จะสร้างคนให้เป็นคนกลาง เป็นผู้ผลิตแบบเดิมๆ และคิดจะร่ำรวยเร็วๆ จากการเป็นคนกลาง
คนกลางก็เปลี่ยนเป็นแพลตฟอร์ม แต่ไม่ใช่แพลตฟอร์มแบบเดิมๆ วันนี้ จะต้องมีคนทำแพลตฟอร์มเข้าใจ ดีป เทค มีข้อมูลจำนวนมหาศาล ต้องทำเอไอ เราเจอคู่แข่งจากบริษัทข้ามชาติอย่าง อาลีบาบา ลาซาด้า อโกด้า แอร์บีเอ็นบี ที่เราเริ่มแข่งไม่ได้ เพราะเราไม่มีข้อมูลและคนพอที่จะแข่งกับเขาได้ในเกมส์ของแพลตฟอร์มที่ว่า Winner take all ซึ่งต้องยอมรับแล้วว่า เกมส์นี้เราแพ้แล้ว เราไม่มีทางมาแข่งสร้างแพลตฟอร์มได้ คือเราช้าไปแล้วครับกับเกมนี้
หันกลับมาที่ The Smiling Curve เราก็ยังมีโอกาสในจุดที่เราแข่งได้ หากเราพัฒนานวัตกรรมหรือการบริการลูกค้าให้ดี จุดแข็งเราก็ยังอยู่ที่ภาคการท่องเที่ยว เกษตรกรรม หรือแม้แต่ทางการแพทย์ ถ้าเรามีนวัตกรรมมากขึ้น เรายังได้เปรียบ จะเห็นตัวอย่างว่า ร้านอาหารที่อร่อยมีแบรนด์ดีๆ ต่อให้ช่องทางการขายเปลี่ยนไปมี ฟู้ด ดิลิเวอรี่ ก็กลับขายได้ดีขึ้น เช่นเดียวกับโรงแรมดัง บริการดี ก็ไม่ได้รับผลกระทบจากอโกด้า หรือแม้แต่แอร์บีเอ็นบี เช่นเดียวกับสินค้าอาหารหรือการเกษตรดีๆ เราก็ยังสามารถแข่งกันได้ แถมมีช่องทางขายมากขึ้นผ่านแพลตฟอร์มดังๆ อย่าง ลาซาด้า หรืออาลีบาบา
ดังนั้น หากเราจะมุ่งพัฒนาประเทศให้แข่งต่อในอนาคตได้ เราต้องพัฒนาที่ต้นทางและปลายทาง ไม่ใช่มาแข่งกันเป็นคนกลางอีกต่อไป ผมไม่แปลกใจที่ร้านโชว์ห่วย หรือคนซื้อมาขายไป อนาคตอาจยิ่งลำบากขึ้น เพราะดิจิทัล ดิสรัปชั่น คือ สิ่งที่กระทบคนกลางโดยตรง และเกมของคนกลางวันนี้ต้องมีดีปเทค และเงินลงทุนมหาศาลจริงๆ ซึ่งเราแข่งไม่ได้
ถามว่าเมืองไทยยังมีโอกาสไหม? ผมว่ารัฐบาลเองก็มีนโยบายที่ชัดเจนขึ้นในการพัฒนาคน พัฒนานวัตกรรม การลงทุนด้านงานวิจัย แม้ยังไม่มีงบมากนัก แต่ก็เริ่มชัดเจนขึ้น หลายอย่างกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ก็เริ่มทำได้ดี แต่เรื่องนี้ต้องใช้เวลา เราต้องให้เวลากับประเทศในการสร้างคน 10-15 ปี เป็นอย่างต่ำ อย่าหวังว่าเศรษฐกิจจะเปลี่ยนได้เพียงแค่ข้ามวันหรือใน 1-2 ปี วันนี้ต้องเร่งพัฒนาคน และเน้นสร้างนวัตกรรมเพื่ออนาคตครับ