จีน: มหาอำนาจ Blockchain ในอนาคต

จีน: มหาอำนาจ Blockchain ในอนาคต

ความเดิมจากตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้เล่าถึงทิศทางของคริปโทในอนาคต ซึ่งหนึ่งในประเด็นที่น่าสนใจคือการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลของรัฐบาลจีน

โดยผู้เขียนได้เกริ่นว่า ไม่ใช่เพียงแค่การพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลเพียงประการเดียวที่ทำให้จีนเป็นประเทศที่มีอิทธิพลในด้านเทคโนโลยีของโลก แต่จีนยังมีแนวนโยบายต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีภายในประเทศ รวมไปถึงการออกกฎหมายฉบับใหม่เพื่อรองรับเทคโนโลยีเข้ารหัส หรือ Cryptography Law ซึ่ง Cryptography หรือ เทคโนโลยีเข้ารหัสเป็นเทคโนโลยีพื้นฐานในการพัฒนาระบบ Blockchain นั่นเอง

DCEP สกุลเงินดิจิทัลของจีน

DCEP หรือ Digital Currency Electronic Payment คือ สกุลเงินดิจิทัลของจีนที่ทำงาน
บนระบบ
Private Blockchain ซึ่งเป็นระบบที่จำกัดผู้มีสิทธิเข้าถึงข้อมูล (แบบวงปิด) ซึ่งแน่นอนว่ารัฐบาลจีนต้องการจำกัดกลุ่มคนในการเข้าถึงและตรวจสอบข้อมูลที่รันอยู่บนระบบ

ในด้านคุณลักษณะ แม้ DCEP จะอิงอยู่กับสกุลเงินหยวนในอัตราส่วน 1:1 ซึ่งรูปแบบดังกล่าวคล้ายการสร้าง Stable Coin ของบริษัทเอกชนต่าง ๆ แต่ในกรณีของ DCEP ผู้ออกและกำหนดนโยบายในการกำกับดูแลจะเป็นรัฐบาลจีน (โดยธนาคารกลาง) เท่านั้น ซึ่งแตกต่างจากกรณีของ Stable coin สกุลอื่น ๆ ที่ออกโดยเอกชนแต่ใช้สกุลเงินหยวนของจีนมาค้ำประกันไว้ เช่น เหรียญ CNHT ของ Tether หรืออาจกล่าวได้ว่า วัตถุประสงค์ในการออก DCEP นั้นไม่ได้ต่างจากการออกธนบัตรและเหรียญกษาปณ์ในแบบเดิม แต่ DCEP คือ การทำหยวนให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัลและให้มีค่าไม่ต่างจากเงินในรูปแบบ Physical form ซึ่งร้านค้าและประชาชนทั่วไปสามารถใช้แทนกันได้ในระบบการเงินของประเทศจีน

ดังนั้น วัตถุประสงค์หลักของ DCEP คือ การสร้างระบบการเงินแบบดิจิทัลที่สามารถส่งเสริมการทำธุรกรรมแบบ Real-time และการเพิ่มความสามารถในการเก็บข้อมูลการทำธุรกรรมเหล่านั้นได้อย่างทันท่วงทีอันจะเป็นประโยชน์ต่อการส่งผ่านนโยบายทางการเงินของรัฐบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังเป็นการลดปัญหาในเรื่องค่าใช้จ่ายและระยะเวลาในการโอนเงินผ่านระบบชำระเงินในแบบเดิม รวมถึงแก้ปัญหาความล่าช้าของระบบ SWIFT ที่ใช้ในระบบการชำระเงินระหว่าง Inter-Bank

สำหรับผู้เขียน เชื่อว่าคุณสมบัติที่โดดเด่นของสกุลเงินดิจิทัล เช่น การเป็นทรัพย์สินที่ไม่มีรูปร่างและทำงานผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ จะช่วยให้ DCEP ของจีนสามารถหมุนเวียนอยู่ในระบบการเงินทั่วโลกได้ไม่ยากนัก เหล่านี้ คือ แนวทางของจีนในการปูทางไปสู่การเป็น Digital global currency ในอนาคต

กฎหมาย Cryptography law

ที่ผ่านมา หากไม่นับโครงการ DCEP ของรัฐบาลจีน การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลในจีน เช่น Cryptocurrency Trading และ ICO นั้น ถูกควบคุมอย่างเข้มงวดจากรัฐบาลจีนมาโดยตลอด เนื่องจากจีนมองว่ากิจกรรมเหล่านี้เป็นการสร้างความเสี่ยงทางการเงินอย่างหนึ่งให้กับประเทศ

อย่างไรก็ดี เมื่อ ต.ค. ที่ผ่านมา จีนได้ประกาศแผนพัฒนา Blockchain โดยประธานาธิบดีสีได้กล่าวชัดเจนว่า การพัฒนา Blockchain คือแผนยุทธศาสตร์หลักที่ต้องเร่งดำเนินการโดยเร็ว และ Cryptography law คือ หนึ่งในกฎหมายที่จะมีผลบังคับใช้ในเดือน ม.ค. 2020  ทั้งนี้ จากการศึกษาข้อมูลที่เปิดเผยโดยรัฐบาลจีน พบว่ามีประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้

ประเด็นแรก มุ่งส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีเข้ารหัสในเชิงพาณิชย์ กล่าวคือ กฎหมายฉบับนี้มุ่งส่งเสริมการศึกษาและวิจัย รวมถึงการแลกเปลี่ยนความรู้ในเชิงวิชาการในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมให้มีการค้นคว้า วิจัย และทดลอง เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีเข้ารหัสและนำไปประยุกต์ใช้ในเชิงพาณิชย์ (เช่น สร้างผลิตภัณฑ์หรือการให้บริการในรูปแบบใหม่) ทั้งนี้ การพัฒนาดังกล่าวจะต้องไม่เป็นการละเมิดผลประโยชน์ส่วนบุคคลของผู้ใด และไม่เป็นการสร้างผลิตภันฑ์หรือบริการที่กระทบต่อความมั่นคงของภาครัฐ ดังนั้น ก่อนการขายสินค้าหรือนำเสนอบริการโดยใช้ Cryptography ผู้ประกอบการจะต้องเข้าสู่ระบบตรวจสอบตามหลักเกณฑ์ที่ภาครัฐกำหนด โดยหากนำเสนอสินค้าโดยไม่ผ่านกระบวนการตรวบสอบดังกล่าวจะมีความผิดตามกฎหมายฉบับนี้

ประเด็นที่สอง การให้ความคุ้มครองข้อมูลและการสร้างความปลอดภัยให้กับระบบ
กล่าวคือ เมื่อกฎหมายมุ่งส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับ Cryptography แล้ว กฎหมายยังได้ระบุให้มีการคุ้มครองข้อมูลที่ได้มาจากการพัฒนานั้น ซึ่งได้มีการระบุชัดว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการปรับใช้เทคโนโลยีการเข้ารหัสจะต้องไม่บังคับให้ผู้พัฒนาระบบเปิดเผยข้อมูล ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาหรือข้อมูลที่เป็นความลับทางธุรกิจให้กับตน (เช่น ข้อมูล Source Codes) นอกจากการนี้ กฎหมายยังกำหนดให้การพัฒนา Cryptography ดังกล่าวจะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ภายใต้กฎหมาย Cybersecurity Law อีกด้วย

ประเด็นที่สาม บทกำหนดโทษในกรณีมีการกระทำโดยมิชอบ เช่น กรณีที่มีการขโมยข้อมูลการเข้ารหัส (Encrypted Information) การ hack ระบบความปลอดภัยของระบบเข้ารหัสของบุคคลอื่น การใช้เทคโนโลยีเข้ารหัสเพื่อวัตถุประสงค์ในการทำลายความมั่นคงของรัฐ เป็นต้น
ทั้งนี้หากภาครัฐตรวจพบบุคคลที่มีความเสี่ยงในการกระทำความผิดดังกล่าว สามารถสั่งให้บุคคลนั้นกำหนดนโยบายหรือปรับใช้มาตรการต่าง ๆ เพื่อป้องกันเหตุร้ายอันอาจเกิดขึ้นได้

นโยบายสนับสนุน Blockchain

ธนาคารกลางของจีนได้มีการประกาศเกณฑ์ Certification of FinTech Products (CFP) โดยเป็นการเร่งให้ใบอนุญาตกับผู้ประกอบการ digital payment ที่นำเอาเทคโนโลยี Blockchain มาใช้ในการให้บริการ ซึ่งการออกเกณฑ์ใหม่ในครั้งนี้ ถือเป็นการเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการชำระเงินเพื่อรองรับสกุลเงินดิจิทัลที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งในปัจจุบัน ผู้ที่มายื่นขอรับใบอนุญาตดังกล่าว เช่น ผู้ให้บริการ point-of-sale mobile terminal และผู้พัฒนา Trusted Execution Environment (TEE) หรือ เทคโนโลยีที่จะช่วยในการสร้าง Consortium Blockchain Network ซึ่งจะเป็นโครงข่ายที่สำคัญในการ Verify การทำธุรกรรมทางการเงินบนระบบ Blockchain

ท้ายที่สุด รัฐบาลจีนไม่ได้สนับสนุนการใช้ Blockchain ในภาคธุรกิจเพียงอย่างเดียว
แต่รัฐบาลยังได้จัดให้มีวิดีโอสื่อการสอนจำนวน
25 รายการเพื่อให้ความรู้ประชาชนเกี่ยวกับ Blockchain โดยยังรวมไปถึงการให้ข้อมูลเกี่ยวกับคริปโทสกุลต่าง ๆ เช่น Ethereum และ BitCoin อีกด้วย .... สำหรับผู้เขียน นี่คือตัวอย่างที่น่าเลียนแบบในการส่งเสริมรัฐบาลและประชาชนในยุค5G อย่างแท้จริง

[บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน]