สปสช. กับวิธีงบประมาณแบบเริ่มจากศูนย์

สปสช. กับวิธีงบประมาณแบบเริ่มจากศูนย์

วิธีงบประมาณแบบเริ่มจากศูนย์ หรือ Zero-based budgeting น่าจะเหมาะสมกับสำนักงานกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช) มากกว่าที่กำลังทำอยู่

ยอมรับว่าไม่เข้าใจเรื่องวิธีงบประมาณของ สปสช. เท่าไร เพราะเท่าที่เคยร่วมประชุม รวมทั้งที่อ่านจากรายงานประจำปี ก็ดูเหมือนว่าวิธีงบประมาณของ สปสช.เกือบปีละ 200,000 ล้านบาท เป็นการพิจารณาแบบต่อยอดจากปีที่ผ่านมาเป็นหลัก แต่เพิ่มจำนวนเงินมากขึ้นจากปีก่อนเนื่องจากเงินเฟ้อ การขึ้นเงินเดือนค่าตอบแทนบุคคลากรประจำปี และโครงการดูแลรักษาสุขภาพประชาชนที่ต่อเนื่องและโครงการใหม่

งบประมาณของ สปสช. ที่รวมเอาค่าจ้างเงินเดือนบุคคลากรของ กระทรวงสาธารณสุขไปรวมกับค่ารายหัว ทำให้วิธีงบประมาณของ สปสช.เป็นแบบเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปีก่อนหน้า หรือที่เรียกว่า Incremental budgeting เพราะสอดคล้องกับวิธีงบประมาณของประเทศไทยที่เป็นระบบใหญ่มากกว่าจะเป็นระบบของ สปสช.เอง

งบประมาณที่ สปสช.ได้มาจากรัฐบาลนั้นเป็นงบปลายปิด คือรัฐบาลให้เงินมาก้อนหนึ่ง แล้วให้ สปสช.ไปจัดสรรอย่างไรก็ได้ภายในวงเงินที่รัฐอนุมัติ ซึ่งถ้าจัดสรรได้ดีก็มีเงินพอ แต่ถ้าผิดพลาดก็เกิดภาวะเงินขาด และภาระทั้งหลายก็จะตกกับโรงพยาบาลรัฐที่เป็นผู้ให้บริการรักษาพยาบาลที่จะต้องหาเงินมาโปะ ซึ่งก็ไม่แคล้วจากการดึงเอาเงินบำรุงโรงพยาบาลมาใช้ ไปๆ มาๆ เงินบำรุงหมด งบเบิกจ่ายไม่ได้ โรงพยาบาลรัฐก็ขาดทุนและตกอยู่ในสถานะล้มละลายอย่างไม่มีทางเลือก

ทีนี้ ถ้าเราเปลี่ยนวิธีงบประมาณของ สปสช.ที่เป็นแบบ Incremental มาเป็น zero-based สถานการณ์การเงินของ สปสช.อาจจะดีขึ้น

วิธีงบประมาณแบบเริ่มจากศูนย์ หรือ zero-based budgeting ได้รับการยอมรับในหลายองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ เพราะสามารถตอบโจทย์ในเรื่องงบประมาณได้ตรงจุด ไม่ต้องเกลี่ยไปเกลี่ยมาเหมือนกับที่ สปสช.ทำอยู่ในปัจจุบัน โครงการดูแลรักษาสุขภาพประชาชนนั้นมีรายละเอียดค่อนข้างมากก็จริง แต่ก็ไม่มากจนไม่สามารถแยกแยะด้วยระบบเทคโนโลยีจัดการข้อมูลสมัยใหม่ ยิ่งในปัจจุบันเราสามารถวิเคราะห์จากข้อมูลขนาดใหญ่ (Big data) ได้ การคำนวณต้นทุนค่าใช้จ่ายสำหรับการทำงบประมาณในแต่ละโครงการก็ยิ่งง่ายมากขึ้น และใช้เวลาไม่นาน

ในสมัยก่อน วิธีงบประมาณแบบ zero-based budgeting เป็นเรื่องยุ่งยากมาก เพราะมีข้อมูลที่ลงลึกในรายละเอียดจำนวนมาก และไม่สามารถทำให้สำเร็จปีต่อปี จึงได้รับความนิยมน้อย สมัยประธานาธิบดีจิมมี่ คาร์เตอร์ ของสหรัฐพยายามให้ใช้วิธีงบประมาณนี้สำหรับทำงบประมาณของสหรัฐ แต่ด้วยความยุ่งยากในการจัดการข้อมูลทำให้ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร แต่ในปัจจุบัน เรื่องการจัดการข้อมูลจำนวนมากไม่ใช่เรื่องยาก และสามารถทำได้รวดเร็วด้วยการทำงานของระบบคอมพิวเตอร์ที่รวดเร็วและถูกต้องแน่นอน ยิ่งมี AI ช่วยคำนวณ ยิ่งจะรู้จำนวนเงินที่แน่นอนในการทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีเร็วและง่ายขึ้น ปัจจุบันองค์กรธุรกิจเอกชนขนาดใหญ่ของโลกได้หันมาใช้วิธีงบประมาณแบบเริ่มจากศูนย์ทุกปีมากขึ้นเรื่อย โดยเฉพาะหน่วยงานบริหารจัดการที่ไม่ใช่หน่วยผลิต ซึ่ง สปสช. มีความเหมาะสมเพราะเป็นหน่วยงานที่ทำเรื่องบริหารจัดการอย่างเดียวเช่นกัน

วิธีงบประมาณแบบปลายปิดที่ สปสช.ทำอยู่ในปัจจุบันยังมีจุดอ่อนอยู่มาก การเกลี่ยงบประมาณที่กระจายกันในกองทุนต่างๆเป็นเรื่องที่อาศัยดุลพินิจของหน่วยงาน สปสช. และเมื่อไม่สามารถเกลี่ยได้ ภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นแล้วกลับไปตกที่โรงพยาบาลรัฐในฐานะผู้ให้บริการ ทั้งๆ ที่พยายามบรรเทาด้วยการเอาเงินบำรุงที่เป็นเงินนอกงบประมาณมาช่วยก็ยังไม่พอ วิธีงบประมาณแบบเริ่มจากศูนย์ หรือ zero-based budgeting จึงน่าจะตอบโจทย์ได้ดีกว่า และไม่ทำให้เกิดภาระกับโรงพยาบาลรัฐผู้ให้บริการ จนตกอยู่ในสถานะล้มละลายดังที่เกิดในปัจจุบัน