คิดอนาคตเทคโนโลยีเกษตร 4.0

คิดอนาคตเทคโนโลยีเกษตร 4.0

ในบทความตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้ชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มในอนาคตของภาคเกษตรและอาหารระดับโลกที่สำคัญ อันประกอบด้วยแนวโน้มของประชากรที่เพิ่มขึ้น

ทำให้มีความต้องการอาหารเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่ทรัพยากรต่างๆ เพื่อนำมาผลิตอาหารมีจำกัดลงทั้งในด้านที่ดิน น้ำและพลังงาน รวมถึงความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่ระบบการผลิตภาคเกษตร 

จากความท้าทายดังกล่าว ทำให้มีการพัฒนาเทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อนำมาใช้ภาคเกษตรกรรมเพื่อผลิตอาหารด้วยวิธีการใหม่ๆ และเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานของเกษตรกรรมและอาหารใหม่ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยเทคโนโลยีการเกษตรที่สำคัญและน่าจับตามองได้แก่

(1) การทำการเกษตรจากน้ำทะเลและในทะเลทราย (Seawater Agriculture และ Desert Agriculture) เนื่องจากพื้นที่โลกทั้งหมด 70% เป็นผืนน้ำทะเลและมหาสมุทร ที่เหลือ 30% เป็นผืนดิน และ 1 ใน 3 ของผืนดินนั้นเป็นพื้นที่ทะเลทราย ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่าโลกยังมีพื้นที่และทรัพยากรอีกมากซึ่งที่ผ่านมาพื้นที่ดังกล่าวไม่เหมาะสมสำหรับทำการเกษตร แต่หากสามารถใช้เทคโนโลยีมาเปลี่ยนพื้นที่และทรัพยากรจากพื้นที่ดังกล่าวให้สามารถใช้เพื่อการเกษตรได้ก็จะเพิ่มโอกาสในการผลิตอาหารได้อย่างมากในอนาคต ซึ่งปัจจุบันมีหลายประเทศที่พัฒนาการเกษตรจากน้ำทะเลและทะเลทราย เช่น อิสราเอล ซาอุดิอาระเบีย จอร์แดน ดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จีน เป็นต้น

ประเทศเหล่านี้ได้พัฒนาเมืองเกษตรในทะเลทราย โดยพัฒนาเทคโนโลยีการปลูกพืชผลไม้ รวมทั้งข้าวในทะเลทราย ประเทศจอร์แดนได้ทำการเกษตรในทะเลทราย โดยการน้ำทะเลมาผ่านกระบวนการกำจัดเกลือเพื่อนำมาใช้ในการปลูกพืชในโรงเรือนแบบปิดขนาดใหญ่ ประเทศอิสราเอลพัฒนาเทคโนโลยีกลั่นน้ำเค็มและรีไซเคิลน้ำเสียเพื่อเปลี่ยนเป็นน้ำจืด ตลอดจนใช้ระบบเทคโนโลยีชลประทานน้ำหยดที่มีประสิทธิภาพสูงในการจ่ายน้ำ รวมถึงการพัฒนาพันธุ์พืชให้สามารถปรับตัวกับสภาพแวดล้อมแบบทะเลทรายให้มากที่สุด ดังนั้น ประเทศต่างๆ เหล่านี้จะเพิ่มการพึ่งพาตนเองด้านเกษตรและอาหารมากขึ้นเรื่อยๆ และในอนาคตยังมุ่งหวังที่จะกลายเป็นประเทศส่งออกสินค้าเกษตรที่สำคัญในอนาคต

(2) การทำฟาร์มเกษตรแนวตั้งและฟาร์มเกษตรในเมือง (Vertical and Urban Farming) เทคโนโลยีเพื่อการทำการเกษตรแนวตั้งได้พัฒนาไปมากและมีบริษัทสตาร์ทอัพจำนวนมากได้พัฒนาธุรกิจการเกษตรโดยการใช้ฟาร์มเกษตรแนวตั้ง โดยการควบคุมสภาพแวดล้อมในอาคารแบบปิด ซึ่งเทคโนโลยีช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดการใช้น้ำ ปุ๋ยและสารอาหารลงกว่า 95% ตลอดจนใช้พื้นที่ไม่มากผ่านการสร้างฟาร์มในตึกแนวตั้ง แถมไม่ต้องใช้ยาฆ่าแมลง รวมทั้งการใช้ระบบอัตโนมัติในกระบวนการผลิตทำให้ใช้คนในการทำฟาร์มเกษตรแนวตั้งน้อยมาก 

บริษัท AeroFarm ของสหรัฐเป็นตัวอย่างหนึ่งที่สามารถผลิตพืชผักเกษตรในฟาร์มเกษตรแนวตั้งได้ตลอดทั้งปี โดยไม่ขึ้นกับฤดูกาลและสภาพอากาศ โดยสามารถผลิตได้มากกว่าการปลูกพืชแบบเดิมถึง 390 เท่า ประเทศเนเธอร์แลนด์ก็เป็นตัวอย่างการใช้เทคโนโลยีทำเกษตรในพื้นที่ปิดแบบควบคุมสภาพแวดล้อมส่งผลให้การใช้พื้นที่น้อยกว่า 1% ของประเทศแต่สามารถผลิตพืชผักได้มากกว่า 35% ของความต้องการในประเทศ ประเทศสิงคโปร์มีการส่งเสริมการทำฟาร์มเกษตรแนวตั้ง โดยวางวิสัยทัศน์ไว้ว่าสิงคโปร์จะต้องสามารถผลิตอาหารเพื่อเลี้ยงประชากรในประเทศได้อย่างสมบูรณ์ผ่านฟาร์มเกษตรแนวตั้ง และอาจเปลี่ยนเป็นประเทศส่งออกอาหารในอนาคตได้

การทำฟาร์มเกษตรแนวตั้งช่วยให้เกิดการทำฟาร์มในเมืองเพื่อตอบสนองแนวโน้มการเป็นเมืองในอนาคตได้ ทำให้สามารถผลิตอาหารเพื่อป้อนคนเมือง มีความสด สะอาด ลดต้นทุนค่าขนส่ง ลดพื้นที่ในการเพาะปลูก แต่ก็มีความท้าทายต่อเกษตรกรในชนบทที่ภาครัฐจะต้องให้ความรู้และเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต

(3) การปลูกเนื้อสัตว์ (Cultured Meat) เทคโนโลยีการปลูกเนื้อสัตว์เริ่มเกิดขึ้นในโลกที่เป็นจริงแล้ว และที่สำคัญต้นทุนของเนื้อสัตว์ที่สังเคราะห์ได้เริ่มมีรสชาติที่ใกล้เคียงเนื้อจริงและราคาที่ต่ำลงอย่างรวดเร็ว โดยคาดว่าในปี 2020 ราคาเนื้อที่สังเคราะห์ขึ้นนี้จะมีราคาประมาณ 14.5 ดอลลาร์ต่อกิโลกรัม (430 บาทต่อกิโลกรัม) ซึ่งเริ่มใกล้ที่จะสามารถแข่งขันกับเนื้อสัตว์จากการผลิตแบบเดิมแล้ว บริษัท Aleph Farms สตาร์ทอัพอิสราเอลวางแผนจะเริ่มนำเนื้อสัตว์แบบใหม่นี้สู่ภัตตาคารในปี 2021

การปลูกเนื้อสัตว์เป็นการปลูกถ่ายเซลล์เพื่อผลิตเนื้อสัตว์ โดยไม่ต้องเลี้ยงสัตว์เพื่อฆ่ามาเป็นอาหารแบบเดิม เรียกอีกอย่างว่าเป็นเนื้อที่สังเคราะห์ขึ้นมาจากห้องแล็บ โดยมีข้อดีในแง่การใช้พื้นที่ลดลงมาก โดยประมาณการว่าจะใช้พื้นที่ลดลงเหลือเพียง 1% ของการใช้พื้นที่ในการทำปศุสัตว์แบบเดิมลดการใช้น้ำลง ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และตอบโจทย์สิทธิของสัตว์ นอกจากนี้ กระบวนการเลี้ยงสัตว์ เช่น วัวเนื้อจะใช้เวลาประมาณ 2 ปี ในขณะที่การปลูกเนื้อสัตว์จะใช้เวลาประมาณ 3 สัปดาห์เท่านั้น ดังนั้น การปลูกเนื้อสัตว์จะส่งผลกระทบอย่างสูงโดยตรงกับอุตสาหกรรมปศุสัตว์ 

นอกจากนี้ ยังมีการนำเทคโนโลยี 4.0 มาใช้ในกระบวนการผลิตเกษตรและอาหารอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นการใช้เครื่องพิมพ์ 3 มิติผลิตอาหาร ที่ในอนาคตจะมีธุรกิจที่ให้บริการพิมพ์อาหารได้ตามศูนย์กลางของชุมชนหรือแม้แต่พิมพ์อาหารได้จากที่บ้าน การใช้เทคโนโลยีโดรนในการทำการเกษตรแบบแม่นยำร่วมกับอินเทอร์เน็ตในทุกสิ่งและการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ การใช้บล็อกเชนเทคโนโลยีเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือในห่วงโซ่การผลิต หรือการใช้โมเดลธุรกิจแบบเศรษฐกิจแบ่งปันเพื่อบริหารจัดการการขนส่งอาหารหรือบริหารจัดการขยะอาหารให้มีประสิทธิภาพสูงสุด 

อนาคตมาถึงเร็วกว่าที่คิด ทุกฝ่ายจะต้องรีบเตรียมการเพื่อรับมือ โดยเฉพาะหากประเทศไทยยังจะต้องการเป็นประเทศเกษตรกรรมและครัวของโลกต่อไปในอนาคต

โดย... 

ธราธร รัตนนฤมิตศร

ประกาย ธีระวัฒนากุล

สถาบันอนาคตไทยศึกษา

https://www.facebook.com/thailandfuturefoundation/