GSP ไม่ได้มาฟรี

GSP ไม่ได้มาฟรี

ความเป็นมาของโครงการGSP ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เศรษฐกิจโลกซบเซามาก สาเหตุหนึ่งเพราะบรรดาประเทศที่กำลังพัฒนาและที่พัฒนาน้อยขาดกำลังซื้อ

การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา หรือ UNCTAD ครั้งแรกเมื่อปี2507 เลขาธิการ UNCTAD ได้เสนอโครงการ Generalized System of Preferences :GSPให้สิทธิประโยชน์เป็นการทั่วไปแก่ประเทศเหล่านี้ โดยมีหลักการ ไม่มีการต่างตอบแทน ไม่เลือกปฏิบัติ เพื่อเพิ่มรายได้จากการส่งออก พัฒนาอุตสาหกรรม เร่งอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ 

ภายใต้โครงการ GSP ประเทศที่ให้สิทธิพิเศษ จะยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีจากอัตรา MFN ให้แก่สินค้าที่นำเข้าจากประเทศที่ได้รับสิทธิ โดยจะต้องเป็นสินค้าในรายการที่กำหนดไว้ตามโครงการGSPของประเทศนั้นฯ สำหรับประเทศที่พัฒนาน้อยจะมีจำนวนรายการสินค้าที่ได้รับสิทธิพิเศษและได้รับการยกเว้นหรือลดหย่อนอากรมากกว่าประเทศกำลังพัฒนา 

UNCTAD ได้มีมติรับรองโครงการ GSP ในปี2511 ต่อมามีการแก้ไขความตกลงแกตต์ ให้ยกเว้นหลักMFN สำหรับโครงการGSP เปิดทางให้การให้สิทธิพิเศษตามโครงการ GSP สามารถกระทำได้ โดยไม่เป็นการขัดกับหลักMFN

ประเทศผู้ให้สิทธิGSP 

ประเทศที่ให้สิทธิ GSP ในระยะแรก คือออสเตรเลีย บัลแกเรีย แคนาดา เดนมาร์ค ฮังการี ไอร์แลนด์ ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ นอร์เวย์ โปแลนด์ สหภาพศุลกากรที่มีสมาชิก 3 ประเทศ คือรัสเซีย เบลารุส และคาซัคสถาน โรมาเนีย สวีเดน สโลวาเนีย สวิตเซอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร สหรัฐ ต่อมาเมื่อมีการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจยุโรป( European Economic Community : EEC) ก็มีการให้สิทธิGSP ในนามของประชาคมเศรษฐกิจยุโรป ประเทศสมาชิกคือสหราชอาณาจักร ไอร์แลนด์ และเดนมาร์ค ก็ได้หยุดโครงการGSP ของตนเองตั้งแต่ 1 ม.ค. 2517

เมื่อมีการตั้งสหภาพยุโรป(อียู)ในปี 2536 การให้สิทธิGSP ก็เปลี่ยนมาเป็นในนามของอียู ประเทศสมาชิกอียูที่เคยให้สิทธิ GSP ก็หยุดโครงการ GSP ของตนเอง

ปัจจุบันมีประเทศและกลุ่มประเทศให้สิทธิ GSP 12 ประเทศ และ 1 กลุ่มประเทศ คือ ออสเตรเลีย เบลารุส แคนาดา ไอซ์แลนด์ ญี่ปุ่น คาซัคสถาน นิวซีแลนด์ นอร์เวย์ รัสเซีย สวิตเซอร์แลนด์ ตุรกี สหรัฐ และสหภาพยุโรป

การยกเลิกการให้สิทธิ GSP

การให้สิทธิ GSP เป็นการให้ฝ่ายเดียว ไม่มีข้อผูกมัดที่ต้องให้ตลอดไป ประเทศผู้ให้สิทธิจะยกเลิกการให้สิทธิแก่ประเทศใดประเทศหนึ่งก็ได้ตามกฎเกณฑ์ที่กำหนดไว้ หลักทั่วไปคือการยกเลิกการให้สิทธิเป็นรายสินค้าเมื่อมีการนำเข้าไปยังประเทศผู้ให้ มีปริมาณหรือมูลค่าเกินเพดานที่กำหนด หรือในกรณีที่ประเทศผู้รับสิทธิเจริญเติบโตเข้าข่ายเป็นประเทศที่มีรายได้สูง ก็อาจถูกเพิกถอนจากรายชื่อประเทศที่ได้รับสิทธิ รวมทั้งกรณีประเทศผู้รับสิทธิกระทำผิดหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้

นอกจากนี้โครงการ GSP ของแต่ละประเทศ มีกำหนดระยะเวลาของโครงการไว้ด้วย ถ้าสิ้นสุดโครงการแล้ว ประเทศผู้ให้สิทธิไม่ต่ออายุหรือขยายอายุโครงการไปอีก การให้สิทธิGSP ของประเทศนั้นเป็นอันสิ้นสุดลง

เงื่อนไขการให้สิทธิ GSP

ประเทศผู้ให้สิทธิบางประเทศ มีการกำหนดเงื่อนไขในการให้สิทธิไว้ด้วย เช่นสหรัฐ กำหนดเงื่อนไขในการให้สิทธิไว้หลายข้อ เช่น ประเทศผู้รับสิทธิต้องไม่รวมกลุ่มหรือเข้าร่วมกิจกรรมการรวมกลุ่มเพื่อไม่ให้มีการแข่งขันในการค้าสินค้าที่สำคัญบางชนิดในตลาดการค้าระหว่างประเทศ หรือเพื่อขึ้นราคาสินค้าในระดับที่ไม่สมเหตุสมผล ประเทศผู้รับสิทธิต้องไม่ใช้ระบอบชาตินิยม หรือมีการเข้ายึดหรือริบทรัพย์สินของพลเมืองสหรัฐหรือวิสาหกิจของสหรัฐโดยไม่มีการจ่ายเงินชดเชยที่เหมาะสม ประเทศผู้รับสิทธิต้องไม่สนับสนุนหรือให้ที่พักพิงแก่ผู้ก่อการร้าย ต้องยอมรับให้การรับรองสิทธิของแรงงานตามหลักสากล ยอมรับสิทธิในการรวมตัวและการต่อรอง ไม่มีการเกณฑ์แรงงาน ต้องกำหนดอายุขั้นต่ำของแรงงานเด็ก ต้องยอมรับสภาพการทำงานที่เกี่ยวเนื่องถึงค่าแรงขั้นต่ำ ยอมรับการกำหนดชั่วโมงทำงานและความปลอดภัยและสุขอานามัยของแรงงาน ต้องขจัดการใช้แรงงานเด็ก

สำหรับโครงการGSP ของอียู ก็ได้กำหนดกรณีการสิ้นสุดของการได้รับสิทธิไว้ เช่นกัน เมื่อประเทศผู้รับสิทธิส่งสินค้าชนิดใดชนิดหนึ่งเข้าไปในอียู มีมูลค่าเกิน 25% ของมูลค่ารวมของสินค้าชนิดนั้นที่ประเทศผู้ได้รับสิทธิทั้งหมดส่งไปอียู นอกจากนี้ อียูยังได้กำหนดเงื่อนไขที่จะเพิกถอนสิทธิGSP ทั้งหมดหรือบางส่วนไว้หลายข้อ เช่น เป็นสินค้าที่ผลิตจากแรงงานที่เป็นผู้ต้องขัง หรือมีการใช้แรงงานทาส หรือมีการเกณฑ์แรงงาน หรือปรากฏโดยชัดแจ้งว่าปล่อยปะละเลยให้มีการส่งออกหรือส่งผ่านยาเสพติด หรือละเลยล้มเหลวในการปฏิบัติตามความตกลงระหว่างประเทศในการปราบปรามการฟอกเงิน เป็นต้น

ข้อสรุป 1.จากข้อเท็จจริงข้างต้น กล่าวได้ว่า GSP ไม่ใช่ของที่ได้มาฟรีๆ ประเทศผู้ให้ไม่ได้ให้เป็นการกุศล เมื่อประเทศที่ได้รับสิทธิเติบโตแข็งแรงมีกำลังซื้อแล้วก็จะหันไปซื้อสินค้าจากประเทศที่พัฒนาแล้วรวมทั้งประเทศผู้ให้สิทธิอยู่ดี ในที่สุดผู้ได้รับประโยชน์คือประเทศผู้ให้สิทธินั่นเอง นอกจากนี้ประเทศผู้ให้สิทธิบางประเทศก็ใช้เงื่อนไขที่กำหนดขึ้น ข่มขู่ทั้งทางตรงทางอ้อมจะตัดสิทธิGSP ทำให้ประเทศผู้รับสิทธิต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้

2.สิทธิGSP เป็นการให้ฝ่ายเดียว จะถูกยกเลิกเมื่อใดก็ได้ ผู้ส่งออกผู้ผลิตของไทย จึงควรเตรียมตัวเตรียมพร้อมปรับตัวรับมือกรณีที่ไม่มีGSP พร้อมที่จะยืนบนขาของตัวเองให้ได้ ตราบใดที่เรายังพึ่งพาGSP ไทยก็จะเป็นเบี้ยล่างถูกนำเรื่องจะตัดGSP มาข่มขู่ตลอด เรื่องของGSP ที่ไม่ได้มาฟรี เราควรยึดหลัก “ได้มาก็ดี ถ้าไม่ได้ก็ไม่เป็นไร เราจะสู้และยืนบนขาของตนเอง”

3.การที่ไทยถูกสหรัฐแขวนสิทธิGSP ไม่ได้ทำให้เราไม่สามารถส่งสินค้าดังกล่าวไปสหรัฐ เพียงแต่ทำให้ข้อได้เปรียบเรื่องต้นทุนการนำเข้าสินค้าถูกลงเพราะไม่ต้องเสียภาษีหรือได้รับการลดหย่อนหมดไปเท่านั้น หากเราสามารถลดต้นทุนการผลิตหรือผลิตสินค้าที่มีคุณภาพเป็นที่ต้องการของตลาด เราก็สามารถแข่งขันได้ นอกจากนี้หนทางการเจรจาต่อรองเพื่อคืนสิทธิยังมีอยู่ และควรดำเนินการในฐานะที่เท่าเทียมกัน ไม่ใช่ไปแบมือขอ โดยใช้การที่ไทยจะซื้อสินค้าจากสหรัฐ เช่นเครื่องบินเป็นอำนาจต่อรอง

4.ตามที่ สหราชอาณาจักร จะออกจากการเป็นสมาชิก อียู หรือที่เรียกกันว่า BREXIT ในเร็วฯนี้ มีข่าวยืนยันแล้วว่า สหราชอาณาจักรจะยังคงให้สิทธิ GSP ต่อไป ฝ่ายไทยก็ต้องเตรียมการในการใช้สิทธิ GSP ของสหราชอาณาจักรต่อไป