โลกหลังยุคโลกาภิวัฒน์

โลกหลังยุคโลกาภิวัฒน์

จะเป็นโชคดีหรือโชคร้ายของคนยุคผู้อ่านและผู้เขียนก็ไม่ทราบได้ ที่กำลังอยู่ในยุคเปลี่ยนผ่านขนานใหญ่

ทั้งในแง่สังคม เศรษฐกิจ เทคโนโลยี การเมือง และภูมิประชากร ซึ่งผู้เขียนมองว่า การเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่เหล่านี้ จะทำพลิกให้โลกยุคใหม่เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง

หากหลับตา และนึกถึงสิ่งที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนในโลกปัจจุบัน อาจกล่าวได้ว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีสิ่งที่เปลี่ยนไปอย่างชัดเจน 5 ประการ คือ

(1) สังคมทั่วโลกเข้าสู่ภาวะสูงวัย (Aging Society) มากขึ้น (2) กระแสต่อต้านโลกาภิวัฒน์มีมากขึ้น (3) เทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่ (หรือ Industry 4.0) ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งบวกและลบต่อกระบวนการผลิต การทำงาน และการดำเนินชีวิตอย่างหน้ามือเป็นหลังเท้า (4) เศรษฐกิจทั่วโลกมีแนวโน้มขยายตัวต่ำลงเรื่อย ๆ ทั้งจากเทคโนโลยีใหม่ที่แม้จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แต่ก็ (ยัง) ไม่ได้พลิกโลกเท่ายุคก่อน ขณะที่ประชากรที่สูงวัยก็ทำให้กำลังแรงงานลดลง และ (5) นโยบายการเงินทั่วโลกกำลังหมดประสิทธิภาพลง ผลจากการที่ภาครัฐทั่วโลกที่ใช้นโยบายการเงินอย่างพร่ำเพรื่อ จนกระทั่งประสิทธิภาพของดอกเบี้ยต่อเศรษฐกิจไม่มากเหมือนเก่า

จากภาพดังกล่าว ทำให้ผู้เขียนมองว่า ในอีก 10 ปีข้างหน้า จะเกิด 10 Megatrends หรือแนวโน้มเปลี่ยนโลก โดย 5 แนวโน้มแรกจะเป็นสิ่งที่ผู้เขียนคาดว่าจะเกิดขึ้น และ 5 ประเด็นหลังจะเป็นผลกระทบของ 5 แนวโน้มแรก ดังนี้

1.โลกาภิวัฒน์ด้านการค้าจะยิ่งลดลงโดยจะย้ายฐานการผลิตมาในประเทศมากขึ้น (หรือที่เรียกว่า Reshoring) อันเป็นผลจาก (1) แนวนโยบายกีดกันทางการค้าทั้งภาษี (Tariff) และไม่ใช่ภาษี (NTB) รวมถึงการตอบโต้กันไปมา (Retaliation) จะทำให้ราคาสินค้านำเข้าแพงขึ้น (2) เทคโนโลยีใหม่ๆ ทำให้การผลิตง่ายขึ้น ทำให้ประเทศหนึ่ง ๆ สามารถผลิตสินค้าจำนวนไม่มากเองได้ เช่น ผู้ผลิตอาดิดาสสามารถกลับไปผลิตรองเท้ากีฬาในเยอรมนีและสหรัฐเองได้โดยใช้เครื่อง 3D Printing

2.โลกาภิวัฒน์ด้านการลงทุน เทคโนโลยี การเงิน รวมถึงการเดินทางจะลดลงจาก (1) นโยบายต่อต้านการลงทุน (Outward Direct Investment) เช่น สหรัฐมีการลดภาษีเพื่อดึงให้บริษัทที่ไปผลิตต่างชาติกลับประเทศ (2) เกิด Splinternet หรือการแบ่งแยกระบบ Internet ออกเป็น 2 ขั้ว โดยขั้วหนึ่งจะเป็นขั้วที่นำโดยสหรัฐ เช่น iOS และ Android และอีกขั้วหนึ่งของจีน นำโดย Harmony OS ของหัวเว่ย ทำให้ประเทศต่าง ๆ ต้องเลือกว่าจะใช้ระบบใด (3) ระบบการเงินจะแบ่งแยกมากขึ้น โดยเฉพาะการที่สหรัฐใช้ระบบการชำระเงิน SWIFT เป็นอาวุธในการคว่ำบาตรประเทศต่าง ๆ เช่น อิหร่าน เกาหลีเหนือ ทำให้การโอนเงินจะยากขึ้น และ (4) นโยบายคุมเข้มการตรวจคนเข้าเมือง ทำให้การเดินทางระหว่างประเทศยากขึ้น

3.ขั้วอำนาจของโลกจะเปลี่ยนไปจากสหรัฐที่เป็นมหาอำนาจหนึ่งเดียวของโลก (Unipolar) กลายเป็นเกิดโลกหลายขั้ว (Multipolar)จากมหาอำนาจระดับภูมิภาคต่าง ๆ ซึ่งจะทำให้การร่วมกลุ่มทางการค้าและการลงทุนระดับภูมิภาค (Trade and Investment bloc) ใหม่ ๆ มีมากขึ้น โดยมีกลุ่มสำคัญ ๆ 5 กลุ่ม คือ อเมริกาเหนือ (USMCA), ยุโรป (EU), เอเซียแปซิฟิก (ASEAN+6 หรือ RSEP), กลุ่มที่นำโดยจีน (BRI) และกลุ่มอื่น ๆ (เช่น แอฟริกา ตะวันออกกลาง และกลุ่มที่นำโดยรัสเซีย) เป็นต้น

4.นโยบายการเงินโลกจะคงดอกเบี้ยต่ำระยะยาวโดยดอกเบี้ยนโยบายไม่สามารถขึ้นได้ หรือหากขึ้นก็เพียงชั่วคราว ก่อนที่จะต้องลดลงอีกครั้ง จาก (1) เงินเฟ้อจะต่ำยาว เนื่องจาก Demand ทั่วโลกตกต่ำ (2) หนี้ทั่วโลกสูงขึ้น การขึ้นดอกเบี้ยจะทำให้ภาระทางการเงินของประชาชนและภาครัฐสูงขึ้น และ (3) ตลาดการเงินโลกเสพติดสภาพคล่อง เมื่อใดที่มีแนวโน้มที่ทางการจะถอนสภาพคล่อง จะทำให้เกิดความปั่นป่วนในตลาดการเงินรุนแรง ทำให้ธนาคารกลางไม่กล้าที่จะถอนสภาพคล่อง

5.การพึ่งนโยบายการคลังจะมากขึ้นจากนโยบายการเงินที่กระสุนหมด สิ่งที่ทางการจะทำได้ก็คือกระตุ้นการใช้จ่ายภาครัฐมากขึ้น ดังนั้น ในอีก 10 ปีข้างหน้า เป็นไปได้ที่จะเห็นภาคการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ทั้งด้านการคมนาคมขนส่ง และด้านเทคโนโลยี ทำให้หนี้สาธารณะจะเพิ่มมากขึ้นทั่วโลก แต่ผลตอบแทนพันธบัตรจะไม่ปรับเพิ่มขึ้นมาก จากความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างพันธบัตรรัฐบาลยังมีอยู่

6.ภาวะ New normalอันได้แก่ โตต่ำ ค้าน้อย โภคภัณฑ์ถูก และผลตอบแทนการลงทุนที่ต่ำและผันผวนนั้นจะอยู่กับเราไปอีกนาน อันเป็นผลหลายปัจจัยโดยเฉพาะสังคมสูงวัยที่ทำให้ทั้งความต้องการจับจ่ายและกำลังแรงงานลดลง และผลิตภาพ (Productivity) ของโลกจะลดลง อันเป็นผลจากการปิดกั้นทางการค้าที่เพิ่มขึ้น ทำให้เกิด Trade Diversion หรือการบิดเบือนทางการผลิตและการค้า ทำให้ประสิทธิภาพลดลงและต้นทุนสูงขึ้น

นอกจากนั้น ปัจจัยอื่น ๆ เช่น ระบบ splinternet การโอนเงินรวมถึงการเดินทางของผู้คนที่ยากขึ้น ก็ทำให้การเติบโตลดลง

7.ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของแต่ละบุคคลและระหว่างเศรษฐกิจจะมีมากขึ้นผลจากความสามารถด้านเทคโนโลยี (Technological Literacy) ที่แตกต่างกัน ทำให้แรงงานที่ไม่สามารถควบคุมเทคโนโลยีในการทำงานได้จะถูกเลิกจ้าง

ขณะที่ในระดับประเทศ ประเทศที่เคยเป็นผู้ผลิตและส่งออกเช่นประเทศกำลังพัฒนาจะแย่ลง แต่ประเทศร่ำรวยและมีเทคโนโลยีจะสามารถผลิตเองได้มากขึ้น

8.ภาคบริการจะสำคัญมากขึ้นผู้คนจะหันเข้าสู่ภาคบริการมากขึ้น ขณะที่ภาคการผลิต (โดยเฉพาะอุตสาหกรรม) จะลดความสำคัญลง ผลจากทั้งสงครามการค้า ความนิยมใน e-commerce และเทคโนโลยีใหม่ ๆ ทำใหไม่จำเป็นที่ต้องผลิตสินค้าจำนวนมากเช่นแต่ก่อน

9.ความเสี่ยงสงครามเย็นจะมีมากขึ้นจากความขัดแย้งของมหาอำนาจในภูมิภาคต่าง ๆ ในระบบ Multipolar จะมีมากขึ้น โดยเฉพาะสหรัฐกับจีน ยุโรปกับรัสเซีย อิหร่านและซาอุดิอาราเบีย ทำให้การสั่งสมกำลังอาวุธมีมากขึ้น และ

10.โลกจะเสี่ยงต่อการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจอีกครั้งจากนโยบายการเงินที่กลับมาอัดฉีดขนานใหญ่ นำไปสู่การเก็งกำไรในสินทรัพย์เสี่ยง นำมาซึ่งภาวะฟองสบู่แตกได้ โดยผู้เขียนเชื่อว่ามีความเป็นไปได้ที่จะเกิดวิกฤตในอีก 1-2 ปีข้างหน้า

เศรษฐกิจผันผวน การค้าโดดเดี่ยว การเมืองอึมครึม แต่เทคโนโลยีให้ความหวัง เป็นสิ่งที่รอเราในทศวรรษหน้า ผู้อ่านทั้งหลาย เตรียมพร้อมแล้วหรือยัง

[ บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่ ]