ทิศทาง Crypto : จาก Libra สู่ CBDC

ทิศทาง Crypto : จาก Libra สู่ CBDC

บทความฉบับนี้ ผู้เขียนขอตั้งข้อสังเกตบางประการ หลังจากการเปิดตัวของ Libra หรือ สกุลเงินดิจิทัลของ Facebook เมื่อกลางปีที่ผ่านมา

ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่า มีหลายเหตุการณ์ที่น่าสนใจ และจะเป็นทิศทางของ Cryptocurrency ในอนาคตอันใกล้ 

Libra และเหตุผลของ Zuckerberg 

 นับจากการเปิดตัวของ Libra สิ่งที่ Facebook ให้ความสำคัญมากประการหนึ่ง คือ “Regulators ทั่วโลกจะให้การยอมรับ Libra มากน้อยเพียงใด” ซึ่งนั้นเป็นเหตุผลที่ทำให้ทีมงาน Fb เดินสายเข้าพบรัฐบาลและ Regulators ต่างๆ ทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย เพื่อทำความเข้าใจและปรึกษาในเรื่องข้อกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับความเป็นไปได้ในการเป็นสกุลเงินดิจิทัลของ Libra 

อย่างไรก็ดี ผลตอบรับที่ได้ เหมือนจะไม่เป็นที่น่าพอใจเท่าไรนัก ซึ่งล่าสุดหลังจาก Fb CEO ใช้เวลากว่า 6 ชั่วโมงเพื่อตอบกระทู้สดในสภาของสหรัฐ (Congressional hearing) ซึ่งหนึ่งในประเด็นที่น่าสนใจที่ถูกหยิบยกขึ้นมาไม่ใช่เรื่องข้อจำกัดในทางกฎหมายเพียงอย่างเดียว แต่ Fb ได้ยกประเด็นที่ว่า หากรัฐสภาสหรัฐไม่ปล่อยให้ Libra เกิดขึ้นในเวลานี้ แน่นอนว่าจีนก็จะสร้างสกุลเงินดิจิทัลในลักษณะเดียวกัน และสหรัฐก็จะพ่ายแพ้ในเกมส์นี้ไปอย่างน่าเสียดาย ดังนั้น จึงเป็นช่วงเวลาที่สหรัฐกับจีนต้องแข่งขันกันสร้าง “Global digital currency” เพื่อวางรากฐานทางการเงินในอนาคตให้กับโลกใบนี้ หรือพูดง่ายๆ ว่า Fb ต้องการให้รัฐบาลทั่วโลกยอมรับให้ libra เป็นสกุลเงินมาตรฐาน (Global Standard currency) อีกสกุลหนึ่งโดยเร็ว โดยเริ่มจากการโน้มน้าวสภาและ Lawmakers ในบ้านตนเองก่อน

นอกจากนี้ Fb ยังได้เปิดประเด็นเพิ่มเติมว่า ต้องการจะผลักดันให้ libra เป็น Alternative Digital payment หรือ ช่องทางการชำระเงินหลักอีกช่องทางหนึ่งไม่ต่างไปจาก ระบบ WeChat และ Alipay ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในจีนและทั่วโลก โดยหาก Libra project ไม่เป็นไปตามแผนหรือถูกสกัดกั้นโดยข้อจำกัดในทางกฎหมาย ผลที่จะเกิดขึ้น คือ การขึ้นแซงหน้าของบริษัทเทคโนโลยี และ Internet Companies ในจีน จนในที่สุดจีนจะกลายเป็นผู้นำและกำหนดทิศทางของเทคโนโลยีและ Internet Norm ของโลก ซึ่งจะส่งผลให้ Giant Tech ในสหรัฐได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก ซึ่งประเด็นที่ Zuckerberg ยกขึ้นมานี้ ไม่ต่างจากแนวคิดของ Google CEO ที่ได้เคยออกมากล่าวไว้ในลักษณะเดียวกันกับสำนักข่าว CNN เมื่อไม่กี่วันก่อนหน้า 

สำหรับผู้เขียน หลังจากได้ฟัง hearing ของ Zuckerberg แล้ว เห็นว่าข้อต่อสู้หลักที่ Fb ได้หยิบยกขึ้นมาในช่วงหลังนี้ เป็นประเด็นความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) และ Tech War ระหว่างสหรัฐและจีน มากกว่าประเด็นในเรื่อง Financial Inclusion ซึ่งถือเป็น Policy message ในช่วงแรกที่บริษัทได้กล่าวถึงการส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงินของกลุ่มคนที่ไม่มีบัญชีธนาคาร (Unbanked) หรือเป็นตัวกลางในการโอนเงินข้ามประเทศเพื่อลดตัวกลางทางการเงินให้กับกลุ่มคนที่ทำงานต่างถิ่นและมีอุปสรรคในการทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างประเทศ แต่ในอีกนัยหนึ่ง ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลังจากการเปิดตัวของ Libra ได้ไม่นาน ทิศทางของ Crypto ทั่วโลกได้มีการเปลี่ยนแปลงไปพอสมควร นับจากธนาคารกลางจีนได้ออกมาเปิดเผยถึงการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลของจีน และรัฐบาลของประเทศอื่น ๆ เช่น ภูฏานที่ได้เริ่มเปิดตัวสกุลเงินดิจิทัลของตัวเอง หรือ Prizm ซึ่งเป็นสกุลเงินดิจิทัลที่เทียบเท่ากับ fiat currency หรือ งุลตรัม (Ngultrum) ซึ่งเป็นสกุลเงินหลักของประเทศ โดยรัฐบาลได้สร้าง e-Wallet ให้กับประชาชนทุกคนเพื่อสามารถใช้เงินดิจิทัลผ่าน device ต่างๆ ได้โดยสะดวก นอกจากนี้ รัฐบาลภูฏานยังได้วางแผนให้ประชาชนสามารถใช้เงินดิจิทัลทำธุรกรรมต่าง ๆ ภายในประเทศได้ไม่ต่างจากเงินสดในอนาคตอันใกล้อีกด้วย

Yuan Project ของจีน

ในส่วนของจีน หลังจากการเปิดตัวของ Libra ทั่วโลกก็เริ่มได้รู้จักกับ Yuan project หรือ สกุลเงินดิจิทัล ที่กำลังอยู่ในระหว่างการพัฒนาของรัฐบาลจีน โดยธนาคารกลางของจีนได้ให้ข้อมูลว่า การพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลของจีนนั้น เป็นไปในลักษณะ Retail Central Bank Digital Currency (Retail CBDC) หรือสกุลเงินดิจิทัลที่ธนาคารกลางเป็นผู้ออกเอง โดยในทางปฏิบัติอาจมีการมอบหมายให้สถาบันการเงินในประเทศเป็นผู้ออกร่วม หรือที่เรียกว่า Direct Model (ซึ่งจีนยังไม่ได้เปิดเผยชัดเจนในประเด็นนี้) อย่างไรก็ดี ในรูปแบบการออกร่วมนี้ ธนาคารกลางจะแต่งตั้งสถาบันการเงินตัวแทนเพื่อช่วยในการออกเหรียญดิจิทัลและช่วยจัดการในเรื่อง e-Wallet เนื่องจากหากให้ภาระทั้งหมดตกอยู่ที่ธนาคารกลางของจีนเพียงผู้เดียวแบบรวมศูนย์อาจทำให้เกิดปัญหาด้านการบริหารจัดการ เนื่องจากประชากรของจีนนั้นมีจำนวนมากกว่าพันล้านคน (เท่ากับว่าต้องมีกว่าพันล้าน e-Wallet)

นอกจากนี้ ในส่วนของรูปแบบการใช้งาน Retail CBDC ของจีน มีวัตถุประสงค์เพื่อการชำระเงินรายย่อย หรือ พูดง่าย ๆ ว่า ให้ประชาชนใช้สกุลเงินดิจิทัลดังกล่าวผ่านกระเป๋าตังค์ e-wallet ของตนเองได้ โดยระบบที่จีนกำลังคิดค้นอยู่นั้นแตกต่างจาก BitCoin เพราะจะไม่มีการ Mining เนื่องจากรัฐบาลจะเป็นคนกำหนดนโยบายและมีส่วนร่วมในการออกสกุลเงินเอง และแตกต่างจากโครงการอินทนนท์ของไทย ที่มีลักษณะเป็น Wholesale CBDC ซึ่งกำหนดให้ธนาคารกลางเป็นคนออกสกุลเงินดิจิทัล หรือ digital tokens ที่มีมูลค่าเทียบเท่ากับสกุลเงินจริง แต่จะมีการอนุญาตให้ใช้เฉพาะกับสถาบันการเงินเท่านั้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำธุรกรรมที่มีมูลค่าสูงระหว่างกัน โดยประชาชนจะไม่มีโอกาสได้ใช้งานโดยตรง

ท้ายที่สุด ผู้เขียนเชื่อว่า จีน ยังคงเป็นอีกคู่แข่งที่น่ากลัวในเรื่องเทคโนโลยีสำหรับสหรัฐอย่างที่ Zuckerberg ได้กล่าวไว้จริง โดยจีนเข้าใจดีว่า Crypto หลายสกุลที่มีอยู่ในตลาดนั้นมีความเสี่ยงและอาจเป็น Threat ต่อรัฐบาลได้ในอนาคต แต่สิ่งที่แน่นอน คือ ระบบ Blockchain และเทคโนโลยีการเข้ารหัส ด้วยเหตุผลนี้ รัฐบาลจีนจึงได้ตรากฎหมาย Cryptography Law และประกาศให้มีผลใช้บังคับในวันที่ 1 ม.ค. 2020 .... ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าเป็นประเด็นที่น่าสนใจและจะขอหยิบยกมาเล่าในโอกาสถัดไป

[บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน  ]