ฝันร้ายของโลกไร้เงินเฟ้อ

ฝันร้ายของโลกไร้เงินเฟ้อ

ในทศวรรษที่ 70-80 สิ่งที่ทางการทั่วโลกกลัวที่สุดคือเงินเฟ้อ กว่า 80% ของเศรษฐกิจในประเทศพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนามีเงินเฟ้อสูงกว่า 10%

ทำให้ค่าครองชีพสูง กดดันกำลังซื้อของประชาชน และทำให้ธนาคารกลางทั่วโลกต้องขึ้นดอกเบี้ยสูงมากเพื่อลดทอนเงินเฟ้อ และนำมาสู่วิกฤตเศรษฐกิจโลกถึง 2 ครั้ง

แต่ในยุคนี้ สิ่งที่ทางการทั่วโลกเริ่มกังวลคือ โลกที่ไร้เงินเฟ้อและกำลังเข้าสู่เงินฝืด กว่า 91% ของประเทศที่ใช้เงินเฟ้อเป็นเป้าหมายในการทำนโยบายการเงิน มีเงินเฟ้อที่ต่ำกว่าเป้าหรืออยู่ในกรอบล่างของเป้าหมายเงินเฟ้อ ขณะที่ตัวอัตราเงินเฟ้อเองที่เคยอยู่ในระดับ 10-15% ในช่วงทศวรรษที่ 70-80 นั้น ก็เหลือเพียงประมาณ 0-2% และยังมีแนวโน้มที่จะลดลงต่ำอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับอัตราการว่างงานที่ลดลงต่อเนื่องเช่นกัน

ในโลกที่ไร้เงินเฟ้อ (ซึ่งหมายความว่าราคาข้าวของไม่ได้แพงขึ้น และมีแนวโน้มจะลดลงเสียด้วยซ้ำ) ขณะที่่ผู้คนมีงานทำนั้น (ทำให้อัตราว่างงานต่ำ) น่าจะเป็นสังคมในอุดมคติ แต่ทำไมเศรษฐกิจจึงซึมเซา ผู้คนหดหู่ ข้าวของขายไม่ได้ ขณะที่นักลงทุนรวมถึงผู้ฝากเงินก็ได้รับผลตอบแทน (เช่นดอกเบี้ย) ที่ต่ำลงเรื่อย ๆ

ตัวอย่างที่น่ากลัวที่สุดของโลกไร้เงินเฟ้อคือญี่ปุ่น โดยผู้เขียนได้เห็นด้วยตาตนเองในการไป Business Trip เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา หลังจากที่ไม่ได้ไปเกือบ 10 ปี พบว่าข้าวของราคาแทบไม่ได้เปลี่ยนไป แต่สิ่งที่แตกต่างกันคือ ผู้คนที่ทำงานบริการทั้งในเมืองและชนบท รวมถึงตามท้องถนน เป็นผู้สูงอายุมากขึ้น และดูไม่ค่อยมีความสุขนัก ขณะที่สินค้าส่วนใหญ่ที่ค้าขายก็เปลี่ยนไป กล่าวคือจะเป็นเวชภัณฑ์ เครื่องสำอาง เสื้อผ้า เครื่องกีฬา แทนที่จะเป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เหมือนเมื่อ 10 ปีก่อน

ในส่วนของธุรกิจที่ประสบความสำเร็จสูง จะเป็นธุรกิจร้านขายของลดราคา (Discount store) มากกว่า รวมถึงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ (ที่เป็นการขายที่ดินและอสังหาฯ ให้กับต่างชาติ) และในส่วนของตลาดเงินตลาดทุนนั้น ผู้เขียนก็พบว่ากว่า 40% ของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์หลักของญี่ปุ่นนั้น ราคาของหลักทรัพย์ที่ซื้อขายต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชี (Book value) บ่งชี้ว่าบริษัทญี่ปุ่นจำนวนมากเป็น Zombie companies หรือบริษัทที่มีหนี้สินล้นพ้นกว่าสินทรัพย์ แต่ยังดำเนินอยู่ได้ด้วยสภาพคล่องที่อัดฉีดจากทางการ อันเป็นผลจากนโยบาย QE ของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ที่เข้าสู่ตลาดหุ้นโดยตรงผ่านการถือครองกองทุน ETF ที่เข้าลงทุนในตลาดหลักทรัพย์

สาเหตุที่เป็นเช่นนี้เป็นเพราะญี่ปุ่นจมอยู่กับภาวะเงินฝืด (โดยอัตราเงินเฟ้อติดลบถึงกว่า 10 ปี) จากรายได้ของแรงงานไม่ได้เพิ่มขึ้น ทำให้บริษัทเอกชนไม่สามารถขึ้นราคาสินค้าได้ (หรือขาด Pricing power) ภาวะเช่นนี้ทำให้ธุรกิจที่ต้องใช้ทุนสูง เพื่อพัฒนาสินค้าและบริการ เช่น ธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์ ไม่สามารถเติบโตได้ ต้องพ่ายแพ้ต่อคู่แข่งที่มีงบวิจัยพัฒนา ทำให้มีเทคโนโลยีล้ำหน้ากว่า โดยเฉพาะจากประเทศที่กำลังเติบโตเช่น เกาหลีใต้ ฉะนั้น ธุรกิจในญี่ปุ่นที่ดำเนินอยู่ได้ก็คือธุรกิจที่เน้นการผลิตต้นทุนต่ำ เช่น เวชภัณฑ์ เครืองสำอาง เสื้อผ้า รวมถึงของใช้ทั่วไปในร้านขายของราคาถูกแทน

ในส่วนของลูกจ้างนั้น เมื่อธุรกิจตกต่ำ แต่จำเป็นต้องอยู่รอด นายจ้างจึงกดค่าแรงลูกจ้างต่อเนื่อง และพยายามให้ลูกจ้างทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพที่สุดเพื่อให้อยู่รอด ทำให้ลูกจ้าง (ซึ่งก็คือประชาชน) ไม่มีความสุขนัก มีรายได้น้อย ใช้จ่ายประหยัด นำมาสู่กำลังซื้อที่ลดลงเป็นดังลูกโซ่

ผู้เขียนเชื่อว่าภาวะไร้เงินเฟ้อที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่นในขณะนี้ กำลังจะลามเข้าสู่เศรษฐกิจโลก จากเหตุผล 3 ประการ คือ ประการแรก ได้แก่ ภาวะสังคมสูงวัย ทำให้ความต้องการจับจ่ายลดลง โดยนอกจากค่าใช้จ่ายด้านการแพทย์แล้ว ค่าใช้จ่ายของผู้สูงอายุในชีวิตประจำวันโดยเฉลี่ยแล้วน้อยกว่าผู้ที่อยู่ในวัยทำงานโดยเปรียบเทียบ ซึ่งเป็นส่วนกดดันทำให้ความต้องการลดลง ส่งผลโดยรวมต่อเงินเฟ้อ

โดยจากการคำนวณของผู้เขียน พบว่าภายในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา ค่าสหสัมพันธ์ระหว่างอัตราการเติบโตของประชากรกับภาวะเงินเฟ้อในประเทศพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนาต่าง ๆ เช่น สหรัฐ จีน ญี่ปุ่น ยุโรป รวมถึงไทยอยู่ในระดับสูงถึง 50-80% และเมื่อโลกกำลังเข้าสู่ภาวะสังคมสูงวัย สถานการณ์ไร้เงินเฟ้อดังเช่นที่ญี่ปุ่นเผชิญอยู่นั้นก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก

ประการที่สอง ได้แก่ กระแสโลกาภิวัฒน์และความก้าวหน้าของเทคโนโลยี โดยนอกจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทั่วโลกที่ลดลง (ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ต้นทุนถูกลง) แล้วนั้น กระแสโลกาภิวัฒน์ที่เพิ่มขึ้น ทำให้เกิดการแบ่งแยกกระบวนการผลิตของสินค้าหนึ่ง ๆ ในหลายประเทศ ทำให้สามารถผู้ผลิตสามารถเลือกที่จะผลิตในประเทศที่ต้นทุนการผลิตต่ำสุดได้ ทำให้ราคาสินค้าสำเร็จรูปถูกลง

ในส่วนของเทคโนโลยี ส่งผลทำให้เงินเฟ้อลดลงใน 2 ประการหลัก คือ (1) ทำให้ต้นทุนการผลิตถูกลง รวมถึงทำให้ความจำเป็นของสินค้าหลายชนิดหายไป เช่น โทรศัพท์มือถือ 1 เครื่องสามารถใช้ทดแทนกล้องถ่ายรูป เครื่องถ่ายเอกสาร VDO call เครื่องแปลเอกสาร และโทรสาร เป็นต้น และ (2) ธุรกิจ E-commerce ที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดการเปรียบเทียบราคาสินค้า รวมถึงการส่งสินค้าถึงที่ ทำให้ความจำเป็นในการเดินทางลดลง และยิ่งทำให้การบริโภคสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางลดลงไปด้วย

ประการสุดท้าย ได้แก่ ความคาดหวังของประชาชนว่าเงินเฟ้อจะลดลง ทำให้ลดลงจริง (Self-fulfilling) โดยนอกจากราคาสินค้าที่ลดลงเมื่อเทียบกับเงินในกระเป๋าจะทำให้ผู้คนไม่อยากจับจ่ายแล้ว (โดยเฉพาะสินค้าที่ไม่จำเป็น) ดอกเบี้ยที่ลดต่ำลงจากภาวะเงินเฟ้อที่ลดลง ก็ยิ่งทำให้ประชาชนจำเป็นต้องเก็บออมจำนวนมากขึ้นเพื่อให้ได้รายได้จากออมเท่าเดิม ส่งผลให้การจับจ่ายยิ่งลดลงและกดดันเงินเฟ้อในอนาคต

ผู้เขียนมองว่า หากภาวะไร้เงินเฟ้อเช่นนี้ดำเนินต่อไป โลกจะค่อยๆ เข้าสู่ กับดักเงินฝืด (Deflation trap) ซึ่งจะทำให้อัตราเงินเฟ้อต่ำลงเรื่อย ๆ ดึงให้ดอกเบี้ยทั่วโลกต่ำลง ผู้คนไม่จับจ่าย และเศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะซึมเซายาวนาน

แต่หากทางการของประเทศใดเห็นภาพนี้ได้ก่อน และประสานนโยบายการเงินการคลังเพื่อเร่งการลงทุนภาครัฐ เศรษฐกิจนั้นก็อาจรอดพ้นกับดักนี้ได้ แต่จากประสบการณ์ที่ผ่านมานั้น ความหวังที่จะเห็นการประสานนโยบายทั้งสองเป็นไปได้ยาก

หากเป็นเช่นนั้น ฝันร้ายของโลกไร้เงินเฟ้อก็จะกลายเป็นจริง

[บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่]