การลงทุนในประชาชน กุญแจสำคัญกับการพัฒนาอาเซียน

การลงทุนในประชาชน กุญแจสำคัญกับการพัฒนาอาเซียน

ประเทศสมาชิกอาเซียนได้บรรลุเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็งและลดความยากจนอย่างยั่งยืนตลอด 20 ปีที่ผ่านมา

ความมุ่งมั่นทางการเมืองเพื่อผลักดันนโยบายที่มีประสิทธิภาพ ช่วยให้ประชาชนกว่า 100 ล้านคนหลุดพ้นจากความยากจน แต่ภาพการพัฒนาในประเทศอาเซียนที่ชัดเจนนี้ กลับพบค่าเฉลี่ยตัวชี้วัดด้านการศึกษา การพัฒนาทักษะ และสุขภาพยังต่ำกว่าที่คาดหวังไว้เมื่อมองจากระดับรายได้ของแต่ละประเทศ ที่ยังมีความเหลื่อมล้ำในเรื่องอายุขัยเฉลี่ย ผลิตภาพแรงงาน และคุณภาพการศึกษาต่างกันไปทั้งภูมิภาค นอกจากนี้ เด็กที่เกิดในครอบครัวที่มีรายได้ล่างสุด 40% ในแต่ละประเทศมีผลสัมฤทธิ์ในด้านต่างๆ ด้อยกว่าเด็กที่มาจากครอบครัวที่มีร่ำรวย 20% ในลำดับแรกอย่างเห็นได้ชัด

การที่ประเทศสมาชิกอาเซียนจะรักษาความสำเร็จด้านการพัฒนาที่เกิดขึ้นอย่างน่าประทับใจตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านมาไว้ได้นั้น ต้องให้ความสำคัญเรื่องการลงทุนในประชาชนเป็นลำดับแรก นี่เป็นความท้าทายด้านศีลธรรมและเศรษฐกิจสำหรับผู้นำอาเซียน อีกทั้งยังเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ธนาคารโลกให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่องผ่านการมีส่วนร่วมในเรื่องโภชนาการ การเรียนรู้ การคุ้มครองทางสังคม และสุขภาพ จากความช่วยเหลือกว่า 3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ในโครงการต่างๆ ทั่วภูมิภาค

ทั้งนี้ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับสูงอาเซียนว่าด้วยการพัฒนาทุนมนุษย์เพื่อผลักดันความร่วมมืออย่างเข้มแข็งในการหาแนวทางเพื่อดำเนินการเรื่องนี้ให้ประสบความสำเร็จ

หากคำนึงถึงต้นทุนแล้วนั้น เด็กที่ถือกำเนิดในประเทศสมาชิกฯในวันนี้คาดว่าจะมีโอกาสใช้ศักยภาพที่มีแค่ 59% เมื่อเทียบกับเด็กที่เกิดในประเทศที่มีระบบสุขภาพและการศึกษาที่มีคุณภาพ นอกจากนี้แล้ว ยังมีเด็กอีกเกือบ 1 ใน 3 ที่มีร่างกายแคระเกร็นจากภาวะทุพโภชนาการ ซึ่งส่งผลให้พวกเขามีความเสี่ยงเผชิญข้อจำกัดในเรื่องความสามารถด้านการรับรู้และสุขภาพไปตลอดชีวิต

โดยใน 15% ของประชากรอาเซียนที่มีอายุ 15 ปีวันนี้จะเสียชีวิตก่อนอายุครบ 60 ปี ด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โดยเฉพาะโรคเบาหวาน มะเร็ง โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ รวมถึงโรคหัวใจและหลอดเลือด นอกจากนี้ หลายประเทศได้ก้าวสู่สังคมสูงวัยที่มีจำนวนคนสูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้มีความต้องการมาตรการคุ้มครองทางสังคมในการดูแลสุขภาพและรายได้หลายรูปแบบเพิ่มขึ้นตามไปด้วย แม้ว่าบางประเทศจะมีระบบการศึกษาที่มีคุณภาพดีที่สุดในโลก แต่อีกหลายประเทศก็ยังคงมีปัญหาที่ต้องแก้ไข

แรงงานในประเทศสมาชิกฯ จำนวนมากได้งานที่ไม่มั่นคงและมีคุณภาพต่ำ ลูกจ้างส่วนใหญ่ไม่มีสัญญาจ้างงานทำให้พวกเขาต้องเผชิญความเสี่ยงตกงาน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะตำแหน่งงานที่เพิ่มจำนวนขึ้นส่วนใหญ่เป็นงานในภาคส่วนที่มีผลิตภาพต่ำ และภาคบริการที่มีค่าแรงน้อย นอกจากนี้ ผู้หญิง แรงงานสูงวัย กลุ่มชาติพันธุ์ และชาวชนบทส่วนใหญ่มักได้งานที่มีคุณภาพต่ำ เกิดความแตกต่าง สร้างความเหลื่อมล้ำ และยังทำให้สัดส่วนของงานที่มีคุณภาพนั้นแย่ลงไปกว่าเดิมอีกด้วย

ทั้งนี้ อาเซียนได้ก้าวผ่านความท้าทายที่ยิ่งใหญ่นี้ได้สำเร็จในอดีต ดังนั้น หากภาครัฐ ภาคประชาชนและภาคเอกชนได้ร่วมมือร่วมใจกันอย่างเต็มที่แล้วย่อมสามารถปิดช่องว่างด้านทุนมนุษย์ได้แน่นอน

ยกตัวอย่าง ประเทศไทย ตลอด 30 ปีที่ผ่านมาประสบความสำเร็จในการลดจำนวนเด็กที่มีร่างกายแคระเกร็น จาก 25% เหลือ 11% ซึ่งต้องขอบคุณโครงการด้านโภชนาการที่ขับเคลื่อนโดยชุมชนไปยังกลุ่มเป้าหมายซึ่งมีระดับความยากจนสูง ความสำเร็จนี้เกิดจากการผสานงานกันหลายภาคส่วน ทั้งด้านสุขภาพ เกษตรกรรม การศึกษา น้ำ และสุขาภิบาล ซึ่งมีส่วนช่วยลดภาวะทุพโภชนาการ นอกจากนี้ ยังได้รับแรงสนับสนุนจากอาสาสมัครสุขภาพชุมชนที่ได้รับการฝึกอบรมเพื่อดำเนินโครงการด้านโภชนาการ และติดตามความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องทั่วประเทศ

เวียดนามเป็นอีกประเทศในอาเซียนที่มีความโดดเด่นเรื่องการศึกษาคุณภาพสูง ซึ่งเกิดจากความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าเพื่อพัฒนาการศึกษาและการใช้จ่ายงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ ระบบการศึกษาของเวียดนามดึงดูดและส่งเสริมครูที่มีคุณภาพ ลงทุนในเด็กก่อนวัยเรียน และประเมินครูและโรงเรียนเพื่อให้เกิดการรับผิดรับชอบในการให้บริการการศึกษาที่มีคุณภาพแก่ประชาชน

ประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคนี้จะบรรลุผลสำเร็จในเรื่องเดียวกันนี้ได้อย่างไร? ขั้นแรกคือการเพิ่มเงินลงทุนในเรื่องสุขภาพ การศึกษา การคุ้มครองทางสังคม และโครงข่ายความคุ้มครองทางสังคม ประเทศสมาชิกอาเซียนหลายประเทศอาจต้องใช้เงินทุนด้านนี้สูงกว่าประเทศอื่นเนื่องจากสัดส่วนของงบประมาณในแต่ละประเทศ รวมถึงต้องใช้จ่ายงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพขึ้นด้วย

เรื่องสำคัญอีกประการ ได้แก่ การฝึกอบรมแรงงานผ่านการศึกษานอกระบบ เนื่องด้วยการจะสร้างคนให้พร้อมรองรับตลาดแรงงานในอนาคตนั้น แรงงานต้องมีทักษะพื้นฐานด้านคณิตศาสตร์ และการรู้หนังสือ อีกทั้งต้องมีทักษะทางสังคมและพฤติกรรม และการเรียนรู้อย่างเป็นระบบในระดับสูง รวมถึงความรู้เรื่องดิจิทัลด้วย

อย่างไรก็ตาม หากปราศจากการตระหนักถึงความสำคัญเรื่องทุนมนุษย์แล้ว การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกอาเซียนอาจไม่ยั่งยืน เนื่องจากขาดกำลังแรงงานที่พร้อมรับงานที่ใช้ทักษะระดับสูงในอนาคตและไม่สามารถแข่งขันในเศรษฐกิจโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การที่ผู้นำอาเซียนเห็นถึงความสำคัญและหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาพูดคุยกันในที่ประชุมระดับสูงของอาเซียนครั้งที่ผ่านมานั้น เราแน่ใจได้ว่าภูมิภาคนี้จะสามารถเป็นต้นแบบการพัฒนาให้กับประเทศในภูมิภาคอื่นๆ ได้ต่อไปจากการที่ประเทศสมาชิกอาเซียนจะได้สร้างอนาคตที่มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนให้แก่ประชาชนของตนได้สำเร็จ

โดย... 

วิคตอเรีย กวากวา 

รองประธานธนาคารโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก