ทหารม้ามองโกลไร้เทียมทาน .. พ่ายจูเหวียนจางอย่างไร?

ทหารม้ามองโกลไร้เทียมทาน .. พ่ายจูเหวียนจางอย่างไร?

ทหารม้ามองโกล ภายใต้การนำของเจงกิสข่านที่มีการฝึกมาอย่างดี วินัยเข้มงวด ยุทธศาสตร์คล่องตัวและความฉลาดพร้อมสรรพ พัดกระหน่ำดุจดังพายุทั่วยุโรป

ในศตวรรษที่ 13 จนเป็นที่ประหวั่นครั่นคร้ามไปทั่ว ทั้งๆ ที่เป็นสุดยอดของโลกในยุคนั้น แต่พ่ายต่อจูเหวียนจางในศตวรรษที่ 14 ได้อย่างไร วิวัฒนาการเช่นนั้นสมควรแก่การพิจารณาถึงเหตุผลเบื้องหลังในที่นี้

ในปี ค.ศ. 1211 เจงกิสข่านรวบรวมชนเผ่าย่อยๆ ของมองโกเลียให้เป็นปึกแผ่น หลังจากนั้น 5 ปี เข้ายึดประเทศจีน (金 หรือ ตะวันออกเฉียงเหนือจีนปัจจุบัน) และเกาหลีใต้ แต่ก็พบว่าการโจมตีกำแพงเมืองที่สูงทำได้ยาก จึงมีการคิดค้นเครื่องโยนก้อนหินขนาดใหญ่และธนูพลังสูงในปี 1221 ยึด Khwarezmia (ประมาณอิหร่าน)ให้อยู่ใต้อำนาจ หลังจากนั้น บุกต่อไปทางตะวันตก ทางใต้ และวกขึ้นเหนือบริเวณรัสเซียปัจจุบัน กองทัพมองโกลที่ใช้เพื่อการนี้มีขนาดไม่เกิน 240,000 คน หลังจากนั้น กองทัพที่ใช้บุกยุโรปตะวันออกก็ยังใช้ไม่เกิน 150,000 คน

กองทัพมองโกลไม่เน้นปริมาณแต่เน้นคุณภาพ ม้ามองโกลตัวเล็กกว่าม้ายุโรป แต่สามารถหากินในทุ่งหญ้าเองได้แม้ภายใต้หิมะที่ปกคลุมพื้นดิน ปัญหาเรื่องเสบียงจึงตัดทิ้งได้ นมม้ายังเป็นอาหารให้แก่ทหารได้ ม้ามองโกลอดทน รบไป วิ่งไป วันหนึ่งเป็นระยะทางไม่ต่ำกว่า 80 กม. ทหารมองโกลอยู่กินง่าย ใช้การปล้มสดมภ์เป็นหลัก นี่ก็ตัดปัญหาเรื่องส่งกำลังบำรุงเช่นเดียวกัน ทหารม้ามองโกลแบ่งออกได้เป็น ทหารม้าเบา 60% และ ทหารม้าหนัก 40% ทหารม้าเบาส่วนหนึ่งใช้การยิงธนูนำแล้ววิ่งเข้าหาเพื่อล่อให้ข้าศึกเข้ารบด้วย อีกส่วนหนึ่งวางไว้ที่ปีกทั้งสองข้างเพื่อโอบล้อม ทหารม้าหนักวางไว้หลังสุดใช้สำหรับบดขยี้ข้าศึกให้แหลกราน ทหารม้าหนักสวมหมวกและเกราะเหล็กแผ่น แต่ทหารม้าเบาสวมเกราะน้อยมากเพื่อความคล่องตัวในการวิ่งหลอกล่อและวกกลับ อาวุธประจำกายคือดาบโค้งและหอกยาว ทหารม้าเบามีคันธนูที่มีแรงดึงถึง 166 ปอนด์ ยิงไกล 320 ม. ในขณะที่คันธนูอังกฤษที่ดีที่สุดในยุโรปมีแรงดึง 80 ปอนด์ ยิงไกล 230 ม. นอกจากนี้ เกราะทหารม้าแบบยุโรปหนักเกินไปไม่คล่องตัว

ดังนั้นเมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว ทหารมองโกลน่าจะดีที่สุดในโลกในศตวรรษที่ 13 แล้วจูเหวียนจางเอาชนะได้อย่างไร?

จูเหวียนจางถือกำเนิดในมณฑลอันฮุย กองทัพของเขาเริ่มต้นจากชาวนาเป็นหลักและเป็นทหารราบเดินเท้า แต่การยกกองทัพขึ้นเหนือเพื่อขับไล่พวกมองโกลจะต้องใช้ทหารม้าในราว 1/3 ถึง 1/2 คำถามจึงมีอยู่ว่า 1) เอาม้ามากมายมาจากไหน? และ 2) ฝึกหัดในระยะเวลาอันสั้นอย่างไร? ประวัติศาสตร์ที่เขียนกันส่วนใหญ่จะข้าม 2 ประเด็นนี้ไป

ทหารม้ามองโกลไร้เทียมทานก็จริง แต่การรบด้วยทหารม้าแบบมองโกลเหมาะสำหรับทุ่งหญ้าอันเป็นที่โล่งเป็นหลักไล่ตั้งแต่ มองโกลเลีย เอเซียกลางไปจนถึงรัสเซีย เมื่อทหารม้าข้ามแม่น้ำแยงซีเกียงลงมาทางใต้ พื้นที่เป็นภูเขาและแม่น้ำมากก็ไม่อาจสำแดงพิษสงอะไรได้ กองทหารและม้ามองโกลพบกับอากาศร้อนชื้นอย่างเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ก็สู้ไม่ไหว เจอกับกองทัพช้างของอินเดียก็โดนเหยียบจนเละ เอาเรือบุกญี่ปุ่นก็เจอภูเขาอีกแตกพ่ายกลับมา

ที่จริงแล้ว เราควรจะพูดว่า ทหารม้ามองโกลไม่ใช่ไร้เทียมทาน เพียงแต่เหมาะกับการรบในที่ราบเท่านั้น แม้กระนั้นก็ตาม ยังใช้เวลาในการปราบซีเซี่ย (西夏ในราวมณฑลกันซู่และชิงไห่ปัจจุบัน) 21 ปี ปราบจิน (金) 23 ปี ปราบซ่งใต้ 45 ปี เฉพาะเมืองเซียงหยาง (襄阳) เมืองเล็ก ๆ ในมณฑลหูเป่ยก็ใช้เวลาถึง 5 ปี แม้แต่ มงเคอ ผู้พิชิตซีเรียกับอิรัคก็ยังถูกฆ่าตายที่นั่น

ทหารม้ามองโกลไม่ได้ถูกจำกัดด้วยภูมิประเทศที่เป็นทุ่งหญ้าที่ราบเท่านั้น แต่ยังถูกจำกัดด้วยกาลเวลาเฉพาะในศตวรรษที่ 13 เท่านั้น เมื่อกาลเวลาผ่านไปความหย่อนยานของกองทัพก็เกิดขึ้นเป็นลำดับจากความสุขสบายที่เกิดขึ้นในการเป็นชนชั้นปกครองและเสวยสุขจากความมั่งคั่งที่ยึดได้จากสงคราม อำนาจการรบของทหารม้ามองโกลจึงไม่อาจอยู่ที่จุดสุดยอดได้ตลอดไปนอกจากนี้ มองโกลยังนำเอาชนะพื้นที่ในตะวันออกกลางเข้ามาเป็นทหารในระดับรองจากมองโกล อีกทั้งยังใช้ทหารที่เป็นชาวฮั่นด้วยในบริเวณที่เป็นจีนปัจจุบัน ทั้งหมดนี้ทำให้มองโกลเองไม่อาจรักษาและควบคุมมาตรฐานของกองทัพมองโกลให้อยู่ในระดับเดียวกับจุดสูงสุดเหมือนเดิมได้

ปัจจัยเสริมอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้ระบบการปกครองของมองโกลอ่อนแอก็คือ การแบ่งชนชั้นที่สร้างความไม่พอใจและความแตกแยกภายในประเทศได้แก่ การแบ่งชนชั้นตามเชื้อชาติให้มองโกลเป็นชั้น 1 พวกคนตาสี ชั้น 2 พวกตอนเหนือแม่น้ำแยงซีเกียง ชั้น 3 และ พวกฮั่นเป็นชั้น 4 ทำให้แต่ละชนชั้นต่างเกี่ยงงอนที่จะปราบปราม เมื่อเกิดกลุ่มกบฏต่อราชวงศ์หยวนอย่าง หลิวฝูทง (刘福通) จางซื่อเฉิน (张士诚) สวีโซ่วฮุย (徐寿辉) และ จูเหวียนจาง (朱元璋) โดยเฉพาะชาวฮั่นที่คุมกำลัง ต่างตั้งตัวเป็นก๊กอิสระตอนปลายราชวงศ์

ในช่วงที่ราชวงศ์หยวนปกครองจีนนั้น ที่นาในที่ราบภาคกลางถูกแปลงสภาพให้เป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงม้ามองโกลแห่งละหลายหมื่นเฮคตาร์ ด้วยจุดประสงค์ที่จะสร้างม้าไว้ใช้ในกองทัพมองโกล แต่ว่าม้าเหล่านี้และวิธีการเลี้ยงม้าตลอดจนการฝึกการรบบนหลังม้ากลายเป็นแหล่งที่มาของม้าจำนวนมหาศาล รวมทั้งทหารม้าชาวฮั่นที่จะกลายมาเป็นเครื่องมือต่อกรกับมองโกลในภายหลัง จูเหวียนจางได้ม้าจากฟาร์มม้าหลูโจวในมณฑลอันฮุยแห่งเดียวได้กว่าพันตัว นี่คือสิ่งที่เป็นหลักในการต่อสู้กับมองโกลและยังเป็นสิ่งที่ทิ้งห่างผู้ที่ตั้งตนเป็นอิสระอื่นๆ จูเหวียนจางยังวางเส้นทางการยกทัพเข้าตีมองโกลทางเหนือให้เคลื่อนผ่านจุดที่มีฟาร์มเลี้ยงม้าขนาดใหญ่ทำให้จำนวนม้าเพิ่มขึ้นเป็นสิบเท่าตัว และยังได้ทหารมองโกลที่เป็นชนชั้นล่างเข้ามาใช้ในกองทัพจำนวนมากด้วย

จูเหวียนจาง จัดตั้งกองกำลังขึ้นในมณฑลอันฮุยใน 1356 และใช้เวลาถึง 10 ปีในการค่อยๆ เคลื่อนทัพรบชนะคู่แข่งเรื่อยมาจนสะสมประสบการณ์ในการรบมาเรื่อยๆ แรกๆ อาจจะมีทหารม้าไม่มาก แต่ใช้ทหารราบที่มีทวนยาวแทน ใน 1360 จูเหวียนจางได้พบหลิวป๋อเวิน นักคิดนักยุทธศาสตร์ ซึ่งได้เสนอว่าระบบกองทัพจะต้องทำการเพาะปลูก ผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ ฝึกซ้อม และ ทำการรบ ในบางกรณี ทหารจะต้องพัฒนาระบบชลประทานให้แก่ชาวบ้าน เขายังได้เสนอให้ยกเลิกการเก็บภาษีจากผลผลิตทางเกษตรกรรม จูเหวียนจางก็ยอมรับดำเนินการทั้งหมด ทำให้ได้รับการสนันสนุนจากประชาชนมาก ส่วนสวีต๋าและฉางอวี้ชุนเป็นสองแม่ทัพที่มีความสามารถที่ได้ดูดซับจุดแข็งของทหารม้ามองโกลและทำการต่อยอดให้ดีขึ้น แม้ว่าหวังเป๋าเป่า แม่ทัพมองโกลได้พัฒนาศักยภาพกองทัพให้ดีดังเดิมในภายหลังในการรบทางเหนือ ก็ยังสู้กับแม่ทัพทั้งสองนี้ไม่ได้

เมื่อพิจารณาปัจจัยโดยรอบที่ทำให้จูเหวียนจาง มีชัยเหนือมองโกลแล้วอาจแบ่งออกได้เป็นปัจจัยที่แน่นอน 5 ประการ และปัจจัยบังเอิญ 2 ประการ 

ปัจจัยที่แน่นอนได้แก่ 1.ยุทธศาสตร์ที่ถูกต้องในการตีเป้าหมายที่ง่ายบริเวณเหนือแม่น้ำแยงซีเกียงทั้งหมด แล้วจึงเข้าตีเป้าหมายที่ยากขึ้นได้แก่ ซานตง ปักกิ่ง และ ไท่เหวียน ตามลำดับ

2.กองทัพหมิงของจูเหวียนจางมีทหารที่สะสมความชำนาญในการรบมามาก และมีแม่ทัพสวีต๋าที่ฉลาดในการคิดกลยุทธ์และกลอุบายมาก ส่วนฉางอวี่ชุนที่ถนัดในการประจัญบาน หลิวป๋อเวินเป็นผู้มีวิสัยทัศน์ในการวางยุทธศาสตร์

3.กองทัพหมิงมีฐานกำลังเริ่มต้นที่หนานจิง ซึ่งเป็นบริเวณที่อุดมสมบูรณ์ สามารถส่งกำลังบำรุง และเสบียงอาหารให้แก่ทหารหลายแสนคนโดยไม่มีปัญหา ส่วนพวกมองโกลซึ่งอยู่ทางเหนืออันเป็นที่แห้งแล้ง มีการผลิตที่ไม่เพียงพอต่อการสนับสนุนทางทหาร

4.ประชากรใต้แม่น้ำแยงซีเกียงมีสัดส่วนเกินครึ่งของประชากรทั้งหมดในยุคนั้น ในขณะที่ทางเหนือมีประชากรเพียงประมาณครึ่งเดียวของพื้นที่ของจูเหวียนจาง แหล่งที่มาของกำลังพลจึงแตกต่างกัน

5.กองทัพหมิงมีทหารทุกประเภท ทั้งทหารราบซึ่งเหมาะกับทางใต้ และ ทหารม้าที่เหมาะกับทางเหนือ อีกทั้งนำอาวุธปืนมาใช้เป็นครั้งแรกของโลกจึงได้เปรียบฝ่ายมองโกล

ปัจจัยบังเอิญได้แก่ การแย่งชิงอำนาจกันในชนชั้นปกครองของมองโกล ราชวงศ์หยวนอยู่ในอำนาจ 98 ปี มีจักรพรรดิ 11 พระองค์ 2 พระองค์แรกครองราชย์รวม 59 ปี แต่ 39 ปีที่เหลือมีถึง 9 พระองค์ เพียงเท่านี้ก็คงไม่ต้องทำอย่างอื่นและไม่สนใจแม้กระทั่งกบฏที่เกิดไปทั่วใต้แม่น้ำแยงซีเกียง ปัจจัยบังเอิญอีกอย่างหนึ่งคือ ก่อนหน้าจูเหวียนจาง จางซื่อเฉินนำกองทัพกบฏของเขาล้างผลาญกองทัพมองโกลที่มีกำลังล้านคนไปมาก หลังจากนั้น กลุ่มกบฏจึงเพิ่มขึ้นเป็นดอกเห็ดโดยแปรรูปมาจากหัวหน้าชาวฮั่นที่คุมกองกำลังต่างๆ ให้แก่มองโกล

ที่จริงแล้ว การปะทะซึ่งๆ หน้าขนาดใหญ่ระหว่างมองโกลกับจูเหวียนจางมีเฉพาะการยุทธ์ที่ไท่เหวียนกับติ้งซีเสิ่นเอ๋อกู๋ (定西沈儿谷) เท่านั้น หลังจากนั้น พวกมองโกลหนีกลับไปที่ทะเลทราย ไม่ได้ถูกทำลายไป แต่ยังคงยกกำลังมาปล้นสดมภ์เป็นครั้งคราวตลอดเวลา จนกระทั่งปี 1387 จึงมีการยกกำลังไปกวาดล้างพวกมองโกลอย่างราบคาบ ดังที่ผู้เขียนเคยนำเสนอในอีกบทความหนึ่งไปแล้ว