มังกรกร้าว.. สู้ศึก AI

มังกรกร้าว.. สู้ศึก AI

การปะทะคารมระหว่างแจ๊ค หม่า (Jack Ma) และอีลอน มัสก์ (Elon Musk) ในงาน World Artificial Intelligence Conference (WAIC) ที่นครเซี่ยงไฮ้

เมื่อวันที่ 29 ส.ค.ที่ผ่านมา แสดงให้เห็นการมองต่างมุมของสองผู้นำทางความคิดดิจิทัลที่มีต่อ Artificial Intelligence (AI) โดยแจ๊คหม่าเห็นว่ามนุษย์ซึ่งมีความชาญฉลาดต่อประสบการณ์ชีวิตมากกว่า AI จะมีความปราชญ์เปรื่องเหนือ AI และ AI จะทำให้ชีวิตมนุษย์ผาสุกขึ้น ขณะที่อีลอนผู้ซึ่งคว่ำหวอดในอุตสาหกรรมหนักที่ใช้งาน AI และเพิ่งร่วมก่อตั้งบริษัท Neuralink กลับกังวลต่อความประมาทที่คิดว่ามนุษย์จะฉลาดเหนือ AI ได้เสมอไป และคิดว่าในอนาคต AI อาจฉลาดล้ำจนสามารถเขียนซอฟต์แวร์ขึ้นเพื่อพัฒนาตัวเอง

โดยในงาน WAIC นายหลี่ เฉียง (Li Qiang) เลขาธิการพรรคฯ นครเซี่ยงไฮได้ กล่าวว่า AI เป็นโอกาสสำคัญที่ผลักดันประเทศไปสู่การปฏิวัติทางอุตสาหกรรมซึ่งเป็นเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ของโลก ใครที่สามารถคว้าโอกาสของการพัฒนาด้าน AI ได้จะสามารถคว้าโอกาสการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคต ตอกย้ำให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ที่แน่วแน่ของจีนต่อการพัฒนาประเทศเพื่อก้าวสู่ความเป็นผู้นำด้านการค้นคว้าและพัฒนา AI ในปี 2030 ตามแผนแม่บท “New Generation Artificial Intelligence Development Plan” ที่ประกาศในปี 2017

 

สร้างทักษะ AI

แผนแม่บทการพัฒนา AI ของจีนได้วางขั้นตอนการใช้ AI ทั้งในด้านความพร้อมทางการทหาร การวางแผนสำหรับเมือง และการพัฒนาหลักสูตร AI สำหรับนักเรียนชั้นประถมและมัธยมต้น ซึ่งมีโครงการพัฒนาการศึกษา AI ในระดับประถมและมัธยมโดยศูนย์ค้นคว้าวิจัยของ East China Normal University ที่ร่วมมือกับบริษัทสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นที่ชื่อ “SenseTime” ในการผลิตหลักสูตรและตำราเรียนขึ้นใช้ในเดือนเมษายน 2018 เพื่อทดลองกับโรงเรียนกว่า 100 แห่ง รวมถึงอบรมคณาจารย์กว่า 900 รายเพื่อร่วมสอนในหลักสูตร โดยในเดือนกันยายน 2019 มหาวิทยาลัยชั้นนำ 35 แห่งของจีนได้เริ่มเปิดโปรแกรม AI กับนักศึกษาในระดับปริญญาตรี

นับเป็นความท้าทายของจีนในการสร้างทักษะด้าน AI ให้กับเยาวชนจำนวนมากในประเทศที่ผ่านการเรียนการสอนในแบบเดิมที่มุ่งเน้นการท่องจำการคิดเลขเร็วหรือการสอบ ซึ่งหากมองในเชิงการเรียนการสอนรูปแบบใหม่เพื่อตอบรับกับ AI ควรเน้นถึงการพัฒนาทักษะด้านความคิดสร้างสรรค์ ความสามารถในการทำงานร่วมกับผู้อื่น และความคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking) เพื่อสร้างทักษะความพร้อมกับตลาดงานด้าน AI ในอนาคต

 

อุปสรรคบนเส้นทาง AI

สถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนได้ท้าทายโอกาสของจีนในการก้าวขึ้นเป็นผู้นำดิจิทัลและ AI โดยส่อเค้าขึ้นในเดือนเม.ย. 2018 เมื่อรัฐบาลสหรัฐมีคำสั่งจากห้ามบริษัทอเมริกันขายสินค้าให้กับบริษัท ZTE ซึ่งเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์สื่อสารรายใหญ่ของจีนที่ได้ละเมิดข้อห้ามการทำการค้ากับอิหร่านและเกาหลีเหนือ โดยสินค้าที่ถูกสั่งห้ามได้แก่ เซมิคอนดักเตอร์และส่วนประกอบของอุปกรณ์สื่อสาร โดยได้ทวีความรุนแรงขึ้นเมื่อรัฐบาลสหรัฐได้เพิ่มชื่อบริษัทหัวเว่ย (Huawei) และบริษัทในเครือเข้าไปอยู่ในรายชื่อบริษัทที่ห้ามใช้เทคโนโลยีจากบริษัทอเมริกันโดยไม่ได้รับการอนุญาตจากรัฐบาล (Entity List) จนส่งผลต่อการค้าของบริษัทคู่ค้าและผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่ในสหรัฐอย่าง Qualcomm, Intel, Broadcom และ Micron

ชิ้นส่วนสำคัญที่มีผลอย่างมากต่อการผลิตและการพัฒนา AI ของจีนคือ “เซมิคอนดักเตอร์ หรือชิพ (Chip)” ซึ่งสำนักข่าว SCMP ระบุว่าถึงแม้จีนจะได้เร่งค้นคว้าและพัฒนานวัตกรรมการผลิตชิพมาตั้งแต่ปี 2000 เมื่อเริ่มก่อตั้งบริษัท Semiconductor Manufacturing International Corporation (SMIC) แต่ก็สามารถผลิตชิพเพื่อใช้ในตลาดจีนได้เพียง 16% โดยในปี 2018 จีนนำเข้าเซมิคอนดักเตอร์ถึง 312,000 ล้านดอลลาร์ซึ่งมากกว่ามูลค่าการนำเข้าน้ำมันดิบเสียอีก สงครามการค้าที่กำลังถาโถมในขณะนี้ทำให้จีนมีแผนการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ขึ้นใช้เองในประเทศให้มากถึง 40% ในปี 2020 และผลิตให้มากถึง 70% ในปี 2025

การพัฒนาการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ไม่ใช่เป็นเพียงแต่การใช้อุปกรณ์ราคาสูงในการผลิตเท่านั้น แต่ยังต้องอาศัยความสามารถด้านการออกแบบสถาปัตยกรรมของชิพซึ่งในปัจจุบัน SMIC สามารถผลิตชิพที่ขนาด 14 นาโนมิเตอร์ ในขณะที่คู่แข่งอย่าง TSMC และ Samsung ผลิตได้ที่ขนาดเล็กเพียง 7 นาโนมิเตอร์ซึ่งจึนต้องใช้เวลา 5 ถึง 10 ปีและเงินลงทุนมากจึงจะตามทัน กล่าวได้ว่าจีนผลิตชิพที่ล้าสมัยไม่ทันต่อการแข่งขันของสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ในตลาด

เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาด้านการแข่งขันและเพื่อให้ชิพที่ผลิตในจีนสามารถรองรับความต้องการด้าน AI, Internet of Things, Facial Recognition หรือรถยนต์ไร้คนขับ จีนจึงหันมาพัฒนาชิพสำหรับการใช้งานด้าน AI (AI Chip) โดยอาศัยประสิทธิภาพของโมเดล AI ในการคำนวณมากกว่าการใช้ประสิทธิภาพของชิพ

 

ทีละก้าวรับมือ AI

การกระโดดข้ามเข้าสู่สนาม AI คงเป็นเรื่องยากหรืออาจยังไม่มีความสำคัญต่อองค์กรในเวลานี้ แต่การแข่งขันในยุคเข้าสู่ AI เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และจำเป็นอย่างยิ่งที่องค์กรต้องเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับความต้องการของธุรกิจและการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ ความสามารถของบุคลากรด้านดิจิทัล การปรับวัฒนธรรมองค์กร การบริหารจัดการข้อมูล การเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมและขั้นตอนในการทรานส์ฟอร์มองค์กรเข้าสู่ยุค AI จึงเป็นกลยุทธ์ก้าวสำคัญที่ขับเคลื่อนองค์กรให้อยู่รอดและประสบความสำเร็จต่อไป