เรื่องสำคัญที่ถูกมองข้ามในการแถลงนโยบายของรัฐบาล

เรื่องสำคัญที่ถูกมองข้ามในการแถลงนโยบายของรัฐบาล

หากจำกันได้ การอภิปรายในการแถลงนโยบายของรัฐบาลวันที่สองแตกต่างจากวันแรก มีความเรียบร้อยดี

หลายคนอภิปรายอยางสร้างสรรค์ ไม่ค่อยมีการกระทบกระเทียบเปรียบเปรยเหมือนเมื่อวันแรก พยายามที่จะประมวลเรื่องที่อภิปรายทั้งหมด ก็คิดว่าไม่มีอะไรที่นอกเหนือความคาดหมายอย่างมีนัยสำคัญ

แต่มีบางเรื่องที่ฝ่ายรัฐบาลมองข้ามไม่ได้นำมาชี้แจง และน่าจะเป็นประโยชน์กับการทำงานสานต่อรัฐบาล คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เช่น เรื่องประกันภัยพืชผลทางเกษตร หรือเรื่องของการเสริมสร้างทักษะประชาชนที่มีรายได้น้อย แปลกใจอยู่ว่า รัฐบาลมองข้ามเรื่องเหล่านี้ได้อย่างไร เพราะนี่เป็นเรื่องที่ดี ความสำเร็จของรัฐบาลชุดที่แล้ว (ถ้ามี) และน่าจะเป็นงานชิ้นโบว์แดง

เรื่องประกันภัยพืชผลทางการเกษตร เท่าที่ทราบ ดำเนินการโดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์(ธกส.) เป็นผู้รับประกัน ได้ทำไปแล้วเกือบล้านไร่ โดยเกษตรกรเป็นผู้จ่ายเบี้ยประกันส่วนหนึ่งและรัฐบาลช่วยอีกส่วนหนึ่ง และเมื่อเกิดภัยพิบัติกับพืชผลทางการเกษตร ก็เป็นเรื่องที่เกษตรกรได้รับการชดเชยโดยตรงจากผู้รับประกัน ลักษณะการชดเชยตามหลักการประกันภัยนี้เป็นสิ่งที่ประเทศพัฒนาแล้วดำเนินการมานานแล้ว เท่าที่ทราบเงื่อนไขการรับประกันอาจยังไม่ครอบคลุมในทุกเรื่อง ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องขยายขอบเขตการประกันให้มากขึ้น

เรื่องการประกันภัยนี้ จริงๆ แล้วสามารถเข้ามามีบทบาทในเรื่องอื่นๆ อาทิเรื่องประกันสุขภาพ หรือประกันอย่างอื่นนอกเหนือทางการเกษตร เช่น อุบัติเหตุอุบัติภัยที่เป็นภัยธรรมชาติ อย่างน้ำท่วม ไฟไหม้ แผ่นดินไหว เรื่องนี้จะช่วยสร้างความมั่นคงให้กับประชาชนผู้มีรายได้น้อยมีความมั่นคง และรัฐบาลก็ไม่ต้องใช้งบประมาณจากส่วนกลางมาใช้ตลอด ที่สำคัญการประกอบธุรกิจประกันภัยโดยทั่วไปจะมีลักษณะของการบริหารจัดการเช่นเดียวกับภาคธุรกิจจึงมีประสิทธิภาพสูง ต้นทุนต่ำ แม้ว่าจะต้องบริหารเพื่อให้มีผลกำไรบ้าง ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะเป็นผู้เจรจา และเปิดให้มีการแข่งขันการรับประกันอย่างเสรี

สำหรับเรื่องการสร้างเสริมทักษะของประชาชนผู้มีรายได้น้อยนี้ ถือเป็นเรื่องสำคัญมากเพราะเป็นการสร้างคน เป็นการลงทุนเพื่อให้ช่วยตัวเองได้ และเมื่อช่วยตัวเองได้ ครอบครัวก็จะเข้มแข็ง ชุมชนก็จะเข้มแข็ง ประเทศชาติเข้มแข็ง รัฐบาลควรมีการขยายโอกาสให้ประชาชนมีศักยภาพมากขึ้น

รัฐบาลน่าจะทราบดีว่าการยกระดับให้เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ตามที่ องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ(

Organisation for Economic Co-operation and Development :OECD) กำหนด ประชาชนของประเทศต้องมีรายได้เพิ่มขึ้น การเพิ่มรายได้จากการช่วยเหลือเชิงสวัสดิการไม่ใช่การเพิ่มรายได้ที่จะทำให้สามารถยกระดับได้ จึงต้องหาทางให้ประชาชนสร้างรายได้จากการทำงาน นั่นคือการเพิ่มผลิตภาพ ศักยภาพ เพิ่มประสิทธิภาพประสิทธิผล สร้างความสามารถในการแข่งขัน

กระทรวงที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาศักยภาพมนุษย์หรือสร้างทุนมนุษย์อาจมีหลายหน่วยงานและหลายกระทรวงร่วมกัน ไม่ว่ากระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือแม้กระทั่งกระทรวงมหาดไทย รัฐบาลต้องมีความชัดเจน มีตัวชี้วัดชัดเจน และอยู่ในมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับระหว่างประเทศ ทั้งนี้เพราะไม่ใช่แค่ยกระดับคนในประเทศ แต่การยกระดับนั้นต้องเป็นที่ยอมรับโดยองค์กรระหว่างประเทศด้วย

น่าเสียดาย เท่าที่ฟังมาทั้งหมดไม่ว่าฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน ดูเหมือนจะไม่มีใครพูดเรื่องเหล่านี้เลย ถ้าไม่มีใครอภิปราย โดยเฉพาะรัฐบาลหรือพรรคร่วมรัฐบาล ก็ถือว่าพลาดไป