ลูกน้องไม่อยากโปรโมท

ลูกน้องไม่อยากโปรโมท

ปัญหาโลกแตก “มีลูกน้องไม่อยากโปรโมท ทำอย่างไรดีครับอาจารย์?”

ผู้จัดการยุคปัจจุบันพบกับเรื่องนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ นั่นคือลูกน้องไม่ต้องการการเลื่อนตำแหน่ง ไม่ต้องการความรับผิดชอบที่มากขึ้น ไม่ต้องการดูแลคน ไม่ต้องการปวดหัว เรื่องเงินเรื่องผลตอบแทนไม่เอาก็ได้ ไม่คุ้ม ฯลฯ

หลายคนบอกผมว่าเป็นอาการของคนรุ่นเก่า ที่ติด Comfort Zone จนยากจะออก บางคนอย่าว่าแต่งานใหม่เลย จะขยับโต๊ะทำงานยังไม่ได้ พี่นั่งมา 30 ปีแล้ว น้องอย่ามายุ่งกับพี่ ถ้ายุ่งพี่ออก

แต่ก็มีอีกหลายคนที่บอกผมว่า เป็นอาการของเด็กรุ่นใหม่ มีฐานะอยู่แล้วไม่ง้อเงินเดือน อยากจะทำงานเฉพาะตน พี่อย่ามายุ่งกับหนู ถ้ายุ่งหนูออก

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ Gen Y Gen Z หรือ Baby Boomer การตัดสินใจก็ไม่พ้นหัวหน้าอยู่ดี “แล้วอย่างนี้จะให้ทำอย่างไร?”

อ่านหนังสือหลายเล่ม บางเล่มให้ดูเรื่อง Motivation แรงจูงใจ แต่คุยกันแล้วเจ้าตัวบอกว่า แรงจูงใจคือการได้มาทำงานไม่ต้องเบื่ออยู่บ้าน ได้เจอเพื่อน สบายใจ ถ้าต้องมีเรื่องให้ปวดหัวอย่างการบริหาร ก็จะลาออก

อ้าว?

กระทั่งหนังสือ Open Source Leadership ของ Iclif เอง ยังเขียนว่า พนักงานรุ่นใหม่ควรมีสิทธิในการเลือก ถ้าเค้าอยากทำแค่นี้ ก็ควรให้ทำแค่นี้ มันจะมีคน 20% ที่สร้างผลงาน 80% เอง กฎ 80/20 ไม่ต้องบังคับ

โอ้ว?

แต่ถ้าทิ้งไว้เป็นปูชนียบุคคลมันจะสร้างตัวอย่างไม่ดีให้ลูกน้องหรือเปล่าอาจารย์? คนอื่น ๆ จะอ้างได้ว่าพี่ไม่เห็นต้องทำเลย แล้วทำไมพวกเขาต้องทำ?

โปรโมทลูกน้อง

สรุปง่าย ๆ คือ หัวหน้ามีทางเลือก 2 ทาง 1) ปล่อยไว้ไม่ต้องยุ่ง ลูกน้องควรได้ลิขิตชีวิตตัวเอง หรือ 2) กระตุ้นให้ขยับ เพื่อเกิดการเปลี่ยนแปลง จะให้เลือกทางไหน?

ไม่มีคำตอบให้หรอกครับ มีแค่วิธีคิดอีกมุมให้ลองดู

ข้อคิดสำหรับผู้นำสมอง

1. หยุดใช้ Work Lens หัวหน้าส่วนมากมักพยายามแก้ปัญหานี้ด้วยมุมมองด้านงาน เช่น ลูกน้องคนนี้ทำงานได้หรือเปล่า? คำตอบคือ ได้ เผลอ ๆ ได้ดีเสียด้วย ละเอียดรอบคอบ รวดเร็วว่องไว เพราะมีความชำนาญจากประสบการณ์ที่สะสมมา เข้ากับคนอื่นได้ไหม? คำตอบคือ ได้ ใคร ๆ ก็ชอบพี่เพราะพี่นิสัยดีน่ารัก แต่ได้เฉพาะเรื่องส่วนตัวนะ เพราะเรื่องงานไม่ชอบยุ่งกับใคร ลูกน้องทำงานดีหัวหน้าเลยต้องเกาหัว เพราะ if it isn’t broken why fix it? เกิดไปยุ่งไปแตะ แกลาออกหรือถอดใจขึ้นมาจะซวย

2. ลองใช้ Values Lens แทนการดูว่าเขาทำงานได้หรือเปล่า ลองเปลี่ยนมาพิจารณาว่าเขาให้ความสำคัญกับอะไร หรือที่เราเรียกว่า Values เช่น ผมลองให้ผู้จัดการท่านนี้อธิบายว่าทีมต้องการปลูกฝังความสำคัญใดให้กับลูกทีม แกตอบโดยไม่ลังเลว่า Team’s Values = Agility, Openness, and Teamwork คราวนี้ลองเขียนลิสต์ของลูกน้องคนนี้ออกมาบ้าง Subordinate’s Values = Solitude, Certainty, and Harmony ในกรณีนี้หากเอามาเทียบกัน เราจะเห็นว่ามันไปคนละทาง แปลว่าในขณะที่ Work Lens เค้าผ่าน ทำงานได้ แต่ Values Lens เค้าตก เราจะสร้างทีมงานที่มีความคล่องตัว ยืดหยุ่น กล้าลองผิดลองถูก และทำงานเป็นทีมได้อย่างไร หากมีสมาชิกที่รักสันโดษ ชอบอะไรที่ไม่เสี่ยง และไม่ชอบการเห็นต่าง

3. ไม่ต้องชอบแต่ต้องทำ หัวหน้าในโซนเอเชียหลายคนไม่ชอบการฝืนใจลูกน้อง เราถูกปลูกฝังให้เข้าใจว่า การเป็นผู้นำที่ดีคือการดูแลคนในอาณัติให้มีความสุข แต่ความจริงนั่นไม่ใช่นิยามของ Leadership ภาวะผู้นำคือความกล้าหาญในการทำสิ่งที่ถูกต้อง สิ่งที่นำไปสู่การพัฒนา สู่อนาคตที่ดีขึ้นต่างหาก “แล้วถ้าเค้าไม่ชอบล่ะครับอาจารย์?” คำตอบของ Brain-BASEd Leadership คือ ไม่ต้องชอบแต่ต้องทำครับ การฝืนให้ลูกน้องเปลี่ยนแปลงไม่ได้ทำเพื่อตัวเขาเองเท่านั้น แต่เพื่อให้หัวหน้าสามารถสร้างทีมที่มี Values ดังต้องการ สามารถรับมือกับความท้าทายที่กำลังจะมา และสร้างผลงานได้สำเร็จ

ข่าวดีคือ สมองคนเปลี่ยนได้ Belief Action Social Environment (BASE) ของเราสามารถ Shift ได้เสมอ ลูกน้องบางคน หมั่นฝึกฝนการเปลี่ยนแปลงสมองของเขาเองด้วยการหาความท้าทายใหม่ ๆ แต่อีกหลายคนอาจไม่สามารถขยับ BASE ได้ด้วยตัวเอง จึงต้องอาศัยหัวหน้าช่วย

สรุปสั้น ๆ หากลูกน้องไม่ยอมโปรโมท หยุดใช้ Work Lens ในการตัดสินใจ ให้ใช้ Values Lens เพื่อดูว่าเขายังเป็นตัวอย่างที่ ‘รับได้’ ของทีมอยู่หรือเปล่า หากได้ ก็ปล่อยไว้ แต่ถ้าไม่ได้ ก็ต้องฝืน

ไม่งั้นได้อาจไม่คุ้มเสียนะครับ!