การคุ้มครองทารกในครรภ์จากการดื่มแอลกอฮอล์ของมารดา

การคุ้มครองทารกในครรภ์จากการดื่มแอลกอฮอล์ของมารดา

ความสัมพันธ์ระหว่างมารดาและบุตรเป็นเรื่องที่มีความซับซ้อนและละเอียดอ่อน ทั้งในมิติทางกายภาพ สังคม

รวมถึงทางกฎหมาย ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) มาตรา 1564 กำหนดไว้ว่าบิดามารดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตรในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์ ซึ่งถือว่าเป็นภาระหน้าที่โดยทั่วไประหว่างบิดามารดาและบุตร

อย่างไรก็ดี ในกรณีของทารกที่ยังอยู่ในครรภ์ความสัมพันธ์นี้ย่อมซับซ้อนยิ่งขึ้นไปอีก เนื่องจากทารกในครรภ์มารดายังไม่มีสถานะเป็นบุคคลจนกว่าจะคลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารก (ป.พ.พ.มาตรา 15) แต่ในอีกด้านหนึ่ง ทารกย่อมได้รับผลกระทบโดยตรงจากการกระทำต่างๆ ของมารดา ดังนั้น มารดาจึงควรมีความรับผิดชอบต่อทารกในการที่จะละเว้นการกระทำต่างๆ ที่อาจมีผลกระทบต่อสุขภาพของทารกในครรภ์ ตัวอย่างเช่นการสูบบุหรี่หรือดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น

โดยทั่วไปแล้วการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ถือว่าเป็นสิ่งที่บุคคลทั่วไปสามารถกระทำได้ อย่างไรก็ดี ปัจจุบันได้มีการตราพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ขึ้นมาเพื่อควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สืบเนื่องมาจากปัญหาด้านสุขภาพ ครอบครัว อุบัติเหตุ อาชญากรรมและสังคมที่เป็นผลกระทบจากเครื่องดื่มประเภทนี้ รวมถึงการคุ้มครองผู้เยาว์จากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อนวัยอันควร

แต่แม้จะมีการบังคับใช้บทบัญญัติดังกล่าวมากว่าสิบปีแล้ว หากแต่ในปัจจุบันยังมีจำนวนมารดาตั้งครรภ์ที่แม้ทราบว่าการดื่มแอลกอฮอล์ขณะตั้งครรภ์อาจจะส่งผลเสียต่อทารกในครรภ์แต่ยังคงดื่มแอลกอฮอล์อยู่ในขณะตั้งครรภ์ โดยเฉพาะในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ อ้างอิงจากผลการศึกษาของศูนย์วิจัยปัญหาสุรา สำรวจพฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์ของหญิงตั้งครรภ์ปี 2554 จำนวน 772 ราย พบว่า 30.9% ของผู้หญิงที่ตั้งครรภ์เป็นนักดื่มมาก่อน โดยดื่มในช่วง 12 เดือนก่อนการตั้งครรภ์ ทั้งนี้ 40.6% ของหญิงตั้งครรภ์ที่เป็นนักดื่ม ยังดื่มแอลกอฮอล์ต่อเพราะไม่รู้ว่าตนตั้งครรภ์ในช่วงแรก และที่น่าห่วงคือ 15.1% ของหญิงตั้งครรภ์ที่เป็นนักดื่ม ยังคงดื่มแอลกอฮอล์ต่อแม้รู้ว่าตั้งครรภ์ ขณะที่ 12.6% ดื่มแอลกอฮอล์ขณะตั้งครรภ์

เพื่อแก้ไขปัญหานี้มีความเห็นบางส่วนที่เสนอให้แก้ไขกฎหมายในประมวลกฎหมายแพ่งมาตรา 15 ให้ทารกที่อยู่ในครรภ์มารดาให้มีสภาพเป็นบุคคล ซึ่งจะส่งผลให้มารดามีหน้าที่โดยตรงต่อทารกในครรภ์ของตน โดยจำต้องดูแลความปลอดภัยของทารกในทุกๆ ด้าน และหากมารดากระทำการใดๆ ให้ทารกในครรภ์ได้รับความเสียหายก็จะต้องรับผิดต่อทารกในครรภ์ของตนในฐานละเมิดตามที่กำหนดไว้ใน ป.พ.พ.มาตรา 420 ที่บัญญัติว่าผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

อย่างไรก็ตาม มีข้อพิจารณาว่าการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนฐานละเมิดจากการที่มารดาจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำให้ทารกในครรภ์ได้รับความเสียหายนั้นจะเป็นทางเยียวยาที่ถูกต้องและสมควรหรือไม่ เพราะถึงอย่างไรเมื่อทารกเกิดมาก็ต้องอยู่ภายใต้อำนาจปกครองของมารดา และมารดายังคงเป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูและเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของทารกนั้น (ป.พ.พ.มาตรา 1564) อีกทั้งยังมีอำนาจปกครองบุตรซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะ (ป.พ.พ.มาตรา 1566) นอกจากนี้ การที่ทารกฟ้องมารดายังเป็นคดีอุทลุมที่บุตรต้องห้ามฟ้องบุพการีอีกประการหนึ่งด้วย (ป.พ.พ.มาตรา 1562)

นอกจากนี้ การนำมาตรการทางกฎหมายมาใช้ก็อาจก่อให้เกิดปัญหาที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น เช่น ถ้ากฎหมายมุ่งจะเอาผิดหญิงมีครรภ์มากจนเกินไป ก็อาจทำให้หญิงมีครรภ์เกิดความกลัวที่จะไปพบแพทย์เพราะอาจถูกตรวจพบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงแก่ทารกในครรภ์ ซึ่งการไม่ไปพบแพทย์นั้นย่อมจะส่งผลเสียต่อตัวหญิงนั้นและทารกในครรภ์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ในส่วนของความผิดทางอาญานั้นประมวลกฎหมายอาญาได้กำหนด “ความผิดฐานทำให้แท้งลูก เป็นหมวดเฉพาะขึ้นมาตามมาตรา 301 ประกอบมาตรา 304 มีใจความสำคัญที่ว่าหญิงตั้งครรภ์ที่ทำให้ตัวเองแท้งลูกหรือให้ผู้อื่นทำให้แท้ง มีโทษทั้งจำคุกหรือปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ หากมีเพียงแต่ “ความพยายาม ทำให้ตัวเองแท้งลูกหรือให้ผู้อื่นทำให้แท้งหรือทำให้หญิงตั้งครรภ์แท้งลูก ย่อมไม่มีความผิดใดๆ อีกนัยหนึ่งคือกฎหมายยังไม่คุ้มครองสิทธิของทารกในครรภ์จากการบาดเจ็บ ความพิการทุพพลภาพที่เกิดจากการบริโภคของมึนเมาหรือการใช้สารเสพติดของมารดา ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ต่อเนื่องไปถึงการเจริญเติบโต

เห็นได้ชัดว่ากฎหมายไทยยังไม่ประสงค์จะลงโทษผู้ที่เป็นมารดาอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับกฎหมายในต่างประเทศ เช่น สหรัฐหรือญี่ปุ่น ซึ่งแยกความสัมพันธ์ในฐานะมารดาและบุตรผู้เยาว์ออกจากสถานะทางกฎหมายและการฟ้องร้องต่อกันในรูปแบบของโจทก์และจำเลย เนื่องจากประเทศดังกล่าวให้น้ำหนักการคุ้มครองสิทธิของเด็กเป็นสำคัญมากกว่าการประคับประคองสายสัมพันธ์ในครอบครัว ประกอบกับแนวคิดในการให้ผู้กระทำผิดต้องชดใช้ความรับผิดของตนต่อคู่กรณีโดยไม่ยึดกับคุณสมบัติและสถานะทางครอบครัวระหว่างคู่กรณี

ดังนี้แล้ว บุตรผู้เยาว์และทารกในครรภ์มารดา ตามบทบัญญัติของกฎหมายในต่างประเทศจึงให้สิทธิเด็กหรือผู้แทนซึ่งมิใช่มารดาสามารถฟ้องร้องคดีต่อมารดาผู้กระทำความผิดหรือมีพฤติกรรมเสี่ยงในการบริโภคแอลกอฮอล์ในขณะตั้งครรภ์ และรับโทษ ชดใช้ ดูแล และรับผิดในค่าทดแทนต่อบุตรผู้เยาว์ของตนเองตามข้อบังคับของกฎหมายอย่างเคร่งครัด

ถึงเวลาอันสมควรแล้วหรือไม่ที่ประเทศไทยจะต้องมีมาตรการทางกฎหมายทั้งทางแพ่งและอาญา ซึ่งมีผลบังคับใช้และบทลงโทษเพื่อปกป้องคุ้มครองสิทธิของทารกที่ยังอยู่ในครรภ์มารดาที่มิใช่เพียงนโยบายสาธารณสุข ข้อเสนอแนะหรือความเห็นทางวิชาการซึ่งไม่มีผลบังคับใช้แต่อย่างใด

โดย... 

ดร.ภาณุพงศ์ เฉลิมสิน

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์