จินตนาการใหม่ในการแก้ไขปัญหาแคชเมียร์

จินตนาการใหม่ในการแก้ไขปัญหาแคชเมียร์

ประชาคมโลกต่างตกตะลึงกันไม่น้อยกับการที่จู่ ๆรัฐบาลอินเดียก็ยกเลิกสถานะที่เหมือนกับจะเป็นเขตปกครองตนเองพิเศษของแคว้นแคชเมียร์เอาดื้อ ๆ

เบื้องหลังการตัดสินใจครั้งนี้ถูกตีความต่างๆ นานา แต่เกือบทั้งหมดมองตรงกันว่าในระยะสั้นต้องเกิดความไม่สงบทั้งในแคชเมียร์และในทั่วแผ่นดินอินเดียเองเป็นแน่ ชาวบ้านใกล้ศูนย์ราชการนิวเดลีระวังตัวเองให้ดีเถิด อย่างไรก็ตาม การก้าวเดินครั้งใหม่และแหวกแนวของรัฐบาล Narendra Modi นี้ ถือเป็นเรื่องกล้าหาญและเป็นมิติใหม่พ้นกรอบเดิมในการแก้ไขปัญหาหลายๆ ด้านของแคว้นนี้ ถ้าหากประสบความสำเร็จก้ออาจเป็นบทเรียนให้ประเทศอื่นๆ กล้าทำแบบนี้บ้าง

ปัญหาแคชเมียร์ในส่วนของอินเดียที่เรียกว่า Jammu & Kashmair นั้นประสบปัญหาความวุ่นวายมาตั้งแต่แรก เพราะการปกครองที่ผิดฝาผิดตัวมาโดยตลอด ตั้งแต่ยุคที่ราชวงศ์ชาวซิกข์ได้ปกครองดินแดนที่คนส่วนใหญ่เป็นมุสลิมเมื่อราว 300 ปีก่อน  แม้อังกฤษจะรบชนะซิกข์และได้แคชเมียร์มาครอบครองก็ยังยกให้ซิกข์กลุ่มที่เป็นพันธมิตรกับตนปกครองอีก ตระกูล Dogra ที่ปกครองครอบคลุมพื้นที่ทั้งจัมมูและแคชเมียร์มาตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 นี้เองที่ต้องตกอยู่ในภาวะอิหลักอิเหลื่อ เมื่ออินเดียต้องแบ่งประเทศเมื่อปี 1948 แม้ว่าอยากจะตั้งตัวเป็นประเทศเอกราช แต่แคว้นเล็กจะทำเช่นนั้นอย่างไรได้ กองทัพทั้งอินเดียและปากีสถานมาถึงแล้ว กระชากไปคนละเกือบครึ่ง จีนก็ฉกไปได้นิดหน่อย ทุกวันนี้ทั้งสามชาติก็ปกครองแคชเมียร์ทั้งสามส่วนโดยพฤตินัย หากแต่ว่าต่างก็ไม่รับรองสิทธิของอีกฝ่ายหนึ่ง จนดูเหมือนว่าสถานการณ์แบบนี้จะคงอยู่ไปตลอดกาล

จริงๆ ในช่วงนั้น แคว้นใหญ่ ๆที่มีผู้ปกครองกับพสกนิกรอยู่กันอย่างผิดฝาผิดตัวนั้นมีแค่แคชเมียร์กับ Hyderabad การจัดการกับไฮเดอราบัดนั้นง่ายกว่ามาก  เจ้าผู้ครองแคว้นเป็นมุสลิมอยากเป็นเอกราชไม่ขึ้นกับใคร แต่ดินแดนกลับอยู่ในวงล้อมของชาวฮินดู ผลคือโดยกองทัพอินเดียยึดซะโดยอ้างว่าปราบจลาจล เจ้าก็ถูกบีบให้เข้าร่วมสภามหาราชาที่ไร้อำนาจต่อรองใด ๆ แคว้นค่อยๆ ถูกกลืนรวมกับอินเดียอย่างสมบูรณ์ภายในไม่กี่ปี

 แต่สำหรับจัมมูแคชเมียร์ที่มีทหารปากีสถานจ่อคอหอยอยู่ ทำอย่างนี้ไม่ได้ ทหารอินเดียเข้าควบคุมแคว้นได้จริง แต่ไม่กล้าที่จะหักดิบผนวกเป็นของอินเดียอย่างสมบูรณ์ เพราะไม่เพียงแต่ต้องรบใหญ่กับปากีสถานในเรื่องนี้ถึงสองครั้ง สหประชาชาติก็ยังไม่อยากให้ทำเช่นนั้น การกบฏจลาจลก็มีอย่างต่อเนื่อง อินเดียได้แต่ค้างคาการแก้ปัญหาอย่างเบ็ดเสร็จมาจนตลอด 70 ปี จะกลืนก็กลืนไม่ได้ ได้แต่เอื้อประโยชน์ให้เจ้าพ่อมุสลิมท้องถิ่นปกครองไป ซึ่งบางทีก็กดขี่ชาวมุสลิมด้วยกัน (แบบนี้รัสเซียก็ทำกับแคว้นมุสลิมแถบคอเคซัส) จะให้ทำประชามติก็ไม่กล้าทำเพราะประชากรมุสลิมคงเทไปทางขอแยกตัว จะถอนทหารออกไปก็ไม่ควร กบฏอาจยึดแคว้นเมื่อไหร่ก็ได้ ขนาดมีทหารอย่างนี้กองโจรก็ข้ามฝั่งมาก่อการร้ายเนืองๆ ล่าสุดคือเมื่อต้นปีนี้เองที่เกือบทำสงครามใหญ่กับปากีสถานกันอีกยก เพราะอินเดียโจมตีข้ามพรมแดนไปถล่มฐานที่มั่นผู้ก่อการร้ายในเขตปากีสถาน จนเครื่องบินตนเองถูกปากีสถานยิงตกไปลำหนึ่ง

แต่การหาญกล้าล้มกระดานความหวังของชาวมุสลิมในแคว้นแคชเมียร์ทั้งมวล เป็นการพยายามแหวกหนทางใหม่ในการแก้ไขปัญหาแคชเมียร์อย่างเบ็ดเสร็จหลากหลายมิติจริงๆ ทั้งที่ไม่ชัดเจนว่าจะสำเร็จรึปล่า และในระยะเวลาอันใกล้น่าจะเกิดเรื่องร้ายแรงเช่นก่อการร้ายเกิดขึ้น แต่รัฐบาลอินเดียก็กล้าทำ และได้รับการสนับสนุนจากคนอินเดียทั่วไปไม่น้อย ไม่ใช่แม้แต่พวกชาตินิยมหัวรุนแรงเท่านั้น อาจเพราะเล็งเห็นว่านี่เป็นห้วงเวลาเหมาะสมที่สุด รัฐบาลวอชิงตันกำลังจะบรรลุข้อตกลงกับขบวนการตาลิบันเพื่อถอนทหารออกจากอัฟกานิสถานอย่างเท่ๆ ผลักตาลิบันให้ขจัดกลุ่มก่อการร้ายคลั่งลัทธิ เป็นมิติใหม่ที่อาจทำให้สถานการณ์ก่อการร้ายในภูมิภาคลดลง เงินและแรงที่อินเดียลงไปกับอัฟกานิสถานไม่น้อยก็คงมีส่วนช่วยบ้าง อีกทั้งตอนนี้ปากีสถานหรือสหประชาชาติก็ไม่มีขีดความสามารถพอในการคัดค้านอะไรอย่างแข็งขันต่ออินเดีย การสร้างการเปลี่ยนแปลงโดยใช้ตัวแปรทางประชากรศาสตร์ (Demographics) เข้ามากลืนแคชเมียร์ด้วยลัทธิบริโภคนิยมจึงน่าจะมีความเป็นไปได้มากกว่าจะจมอยู่กับแนวคิดเดิม ๆ

มีไม่กี่ชาติในโลกที่สามารถทำให้คนของตนกลืนคนท้องถิ่นได้ด้วยปริมาณคนมหาศาล  แต่ขณะที่รัฐบาลจีนสั่งคนฮั่นขวาหันซ้ายหันเดินเข้าเปลี่ยนสัดส่วนประชากรในซินเจียงได้โดยที่ยังคงสถานะเขตปกครองพิเศษอยู่ อินเดียที่เป็นประชาธิปไตยทำเช่นนั้นทันทีไม่ได้ ต้องแก้กฏหมายให้กลายเป็นเอื้อต่อบรรยากาศการลงทุนของธุรกิจฮินดูและส่งเสริมการย้ายฐานของคนฮินดูเข้าไปในแคชเมียร์เสียก่อน กองทหารก็ต้องลงไปแน่นหนารับสถานการณ์รุนแรง ซึ่งก็คงกินเวลานานไม่น้อย แต่ถ้าไม่เริ่มเสียวันนี้ แคชเมียร์ก็จะไม่มีทางเจริญและเป็นปมของอินเดียต่อไปไม่จบสิ้น การสลายอำนาจคนพื้นเมืองแบบนี้แม้จะกินเวลานานแต่ก็อาจประสบความสำเร็จ และเมื่อแคชเมียร์กลายเป็นเหมือนเมืองอื่น ๆของประเทศ การต่อต้านก็จะสลายไปตลอดกาลก็เป็นได้ แนวทางนี้จะถูกหรือผิดก็ต้องรอให้กาลเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์