ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น ต้องพร้อมเปลี่ยนทุกเมื่อ

ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น ต้องพร้อมเปลี่ยนทุกเมื่อ

หากองค์กรไม่เปลี่ยนแปลงก็อาจจะล้มหายไปในแต่ละยุคของการปฏิวัติอุตสาหกรรม

เริ่มต้นก้าวสู่ ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น ไม่ใช่การลงทุนเทคโนโลยี แต่ต้องเปลี่ยนหลายองค์ประกอบให้เป็นดิจิทัล ตั้งแต่วัฒนธรรมองค์กร การทำงาน รวมทั้งผลิตภัณฑ์บริการ

เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาผมมีโอกาสอ่านหนังสือเรื่อง Why Digital transformations fail ที่เขียนโดย Tony Saldanha พูดถึงการปฏิวัติอุตสาหกรรม ทุกครั้งที่มีการปฏิวัติอุตสาหกรรมแต่ละยุค จะมีประเด็นที่น่าสนใจ คือ หากองค์กรไม่เปลี่ยน ก็อาจล้มหายไปในแต่ละยุค เห็นได้จากค่าเฉลี่ยช่วงอายุของบริษัทใน S&P 500 ลดลงจาก 60 ปีเมื่อยุค 1950 มาเหลือเพียง 20 ปีในปัจจุบัน

ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น คือ การเปลี่ยนแปลงในยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 ที่กำลังเปลี่ยนจากยุคอุตสาหกรรม 3.0 ซึ่งเป็นยุคของไอทีและอินเทอร์เน็ตไปสู่ยุคเอไอ ออโตเมชั่น และหุ่นยนต์ รวมถึงเปลี่ยนจากโลกกายภาพไปสู่โลกดิจิทัล

บริษัทจำนวนมากกว่า 70% ที่พยายามทำดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่นจะล้มเหลวส่วนมาก เพราะขาดความเข้าใจ และขั้นตอนดำเนินงานที่ถูกต้อง

ผมไม่แปลกใจกับข่าวหลายๆ บริษัทหรืออุตสาหกรรมที่ประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจ ทั้งค้าปลีก สื่อสิ่งพิมพ์ ทีวี โฆษณา หรือแม้แต่สถาบันการศึกษา จากความปั่นป่วนของเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Disruption) ผลจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 และคำว่า ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น คือ การเปลี่ยนองค์กรและสังคมจากยุคของอุตสาหกรรม 3.0 ไปสู่ 4.0

ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น มีความซับซ้อนกว่าการการลงทุนด้านเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อทำระบบขององค์กรให้เป็นดิจิทัล (Doing Digital) แต่หมายถึงการทำองค์กรให้กลายเป็นดิจิทัล (Becoming Digital) กล่าวคือ ปรับเปลี่ยนผลิตภัณฑ์และบริการให้เป็นดิจิทัล ปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กร และการทำงานที่ใช้ดิจิทัลเป็นหลัก

ความปั่นป่วนจากเทคโนโลยีดิจิทัลปัจจุบันเห็นชัดเจนแล้ว และกำลังขยายตัวในวงกว้างอย่างรวดเร็ว องค์กรจึงจำเป็นต้องทำดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น แต่ผลสำรวจพบว่าองค์กรจำนวนมากไม่ได้เริ่มต้นทำ และคิดว่ายังสามารถแข่งขันได้ในรูปแบบเดิมๆ

ส่วนองค์กรที่เริ่มทำดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่นแล้ว ก็ไม่สามารถต่อสู้ให้คงอยู่ข้างหน้าอย่างยั่งยืนได้เพราะคิดว่าปรับเปลี่ยนเพียงแค่ครั้งเดียว ส่วนหนึ่งเกิดจากความไม่เข้าใจเรื่องคิดว่าเป็นเรื่องของเทคโนโลยีทั้งที่เป็นเรื่องของกลยุทธ์ รวมถึงขาดขั้นตอนดำเนินงานที่ถูกต้อง

ในหนังสือ Why Digital transformations fail แบ่งขั้นตอนการทำ ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่นไว้ 5 ขั้นตอน คือ

Foundation คือ องค์กรเริ่มนำระบบออโตเมชั่นมาใช้ เช่น การขาย, การผลิตหรือการเงิน โดยจัดหาเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามา ขั้นตอนนี้เป็นการทำออโตเมชั่น (หรือ Digitizing) มากกว่าการทำทรานส์ฟอร์เมชั่น

Siloed คือ เริ่มเห็นบางแผนกใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ปรับรูปแบบของธุรกิจ เช่น นำไอโอทีมาใช้ในกระบวนการผลิตหรือจัดส่งสินค้า หรือนำเทคโนโลยีมาเปลี่ยนรูปแบบการขายไปสู่ลูกค้าโดยตรงแทนที่จะผ่านตัวแทนการขาย เป็นการปรับเปลี่ยนแบบเดี่ยวๆ โดยทางบริษัทก็อาจยังขาดกลยุทธ์ที่จะปรับเปลี่ยนทั้งองค์กร

Partially Synchronized Transformation คือ ผู้นำองค์กรเห็นความสำคัญของเทคโนโลยีดิจิทัล และกำหนดให้อนาคตขององค์กรมีทิศทางเดียวกันไปสู่ดิจิทัล ขั้นตอนนี้ไม่สามารถปรับทั้งระบบให้เป็นดิจิทัลหรือมีรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ ได้

Fully Synchronized คือ องค์กรทั้งหมดถูกปรับเป็นดิจิทัลหรือมีรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ แต่เป็นการเปลี่ยนเพียงครั้งเดียวที่ยังขาดความคล่องตัวปรับเปลี่ยนองค์กรอย่างต่อเนื่อง

Living DNA คือ องค์กรพร้อมปรับเปลี่ยนตลอดเวลา เป็นผู้นำในอุตสาหกรรมได้ เพราะมีนวัตกรรมใหม่ๆ เป็นผู้กำหนดแนวโน้มของอุตสาหกรรม

จะเห็นได้ว่าดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น ไม่ใช่เรื่องง่ายแต่ต้องปรับเปลี่ยนองค์กรครั้งใหญ่ และพร้อมปรับต่อเนื่อง เพราะเทคโนโลยีดิจิทัลใหม่ๆ เข้ามาป่วนโลกได้อยู่ตลอดเวลา