ต้องก้าวข้ามความขัดแย้งแบบ 2 ขั้วสุดโต่ง ประเทศถึงจะเข้มแ

ต้องก้าวข้ามความขัดแย้งแบบ 2 ขั้วสุดโต่ง ประเทศถึงจะเข้มแ

ประเทศจะเข้มแข็ง แก้ปัญหาและแข่งขันกับคนอื่นในโลกยุคใหม่ได้ คนไทยจะต้องเรียนรู้ที่จะ “แสวงจุดร่วมสงวนจุดต่าง”

 เพื่อร่วมมือกันแก้ปัญหาและปฏิรูปประเทศให้เจริญก้าวหน้าได้อย่างจริงจัง กลุ่มการเมืองที่ขัดแย้งกันแบบแบ่งเป็น 2 ขั้วสุดโต่ง ต้องปฏิรูปเปลี่ยนแปลงตัวเองให้ได้ก่อน คือจะต้องเปลี่ยนวิธีคิดแบบพวกฉันถูก 100% หรือถูกทุกเรื่อง พวกแกผิด 100% หรือผิดทุกเรื่อง มาฝึกการคิดใหม่ ทำใจให้กว้าง อดกลั้นต่อกลุ่มคนที่คิดแตกต่าง มองตามความเป็นจริงเป็นเรื่องๆ ไป มองให้กว้างและไกลหน่อยที่ประโยชน์ระยะยาวของคนทั้งประเทศร่วมกัน ซึ่งรวมทั้งฝ่ายเราและลูกหลานเราด้วย เรียนรู้จักการประนีประนอม, ประสานประโยชน์, สามัคคีรวมพลัง รู้จักใช้สติปัญญารวมหมู่ (Collective Wisdom) ระดมความรู้ ความคิด ของสมาชิกในองค์กร ชุมชน ประเทศ เพื่อหาทางออกที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล มีประสิทธิภาพ เพื่อประโยชน์คนส่วนใหญ่ในรยะยาว มากกว่าผลประโยชน์ของกลุ่มตัวเองในระยะสั้น

ฝ่ายรัฐบาลเลิกวิธีการบริหารประเทศแบบที่ผู้นำเดี่ยวหรือกลุ่มเดียวมีอำนาจแบบรวมศูนย์มากเกินไป ฝ่ายค้านเลิกค้านทุกเรื่องแบบเหมารวม แต่ค้านเฉพาะเรื่องอย่างเป็นรูปธรรมและเสนอแนวทางแก้ไขด้วย

โลกยุคใหม่ทำให้แต่ละประเทศต้องใช้ความรู้ เทคโนโลยีและภาวะการนำที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น การยกย่องฝากความหวังทั้งหมดไว้ที่ผู้นำเดี่ยวเป็นเรื่องล้าสมัย ผู้นำแบบไทยมักเชื่อมั่นในตนเองสูง(หรือต้องแสดงตัวเช่นนั้น) ไม่ค่อยสนใจรับฟัง เรียนรู้ จากคนอื่น ไม่รูจักการหาข้อมูลให้รอบคอบก่อนที่จะตัดสินใจทำเรื่องใหญ่ๆ ชอบสั่งการ ตามอำนาจ กฎระเบียบ, ความเชื่อส่วนตัว มีอัตตาติดตัวเองสูง กลัวเสียหน้า พอทำอะไรผิดพลาดก็มักจะแก้ตัว โทษคนอื่น ไม่มีวุฒิภาวะพอที่จะเข้าใจ, ยอมรับว่าคนทุกคนนั้นผิดพลาดได้และเรียนรู้ที่จะทำให้ดีกว่าเดิมได้ ผู้นำที่คิดแบบจารีตนิยม/อำนาจนิยม ใช้วิธีการบริหารแบบสั่งการไปที่ลูกน้องในระบบราชการแบบมีอำนาจลดหลั่นมาเป็นชั้นๆ จะไม่สามารถแข่งขันกับผู้นำประเทศอื่นๆ ที่นำแบบรวมหมู่ นำแบบประชาธิปไตย รู้จักใช้คนอื่นๆ ใช้ข้อมูลจากทุกฝ่ายให้เป็นประโยชน์และมีประสิทธิภาพได้

สังคมไทยล้าหลังเพราะระบบการศึกษาล้าหลัง เรียนหนังสือกันแบบท่องจำข้อมูล คิดวิเคราะห์ไม่เป็น ไม่ค่อยมีความคิดจิตใจแบบนักวิทยาศาสตร์ ที่พิจารณาปัญหาต่างๆ ด้วยข้อมูล หลักฐาน เหตุผล เพื่อจะได้เข้าใจความจริงและค่อยตัดสินใจหลังจากได้เปรียบเทียบข้อมูล ผลดี, ผลเสีย อย่างรอบด้านแล้ว แม้แต่ชนชั้นนำที่ได้รับการศึกษาสูงก็ยังชอบใช้ความรู้ ประสบการณ์เท่าที่มีและอารมณ์ความรู้สึกขณะนั้นตัดสินใจเอาง่ายๆ คิดแบบขาวดำ 2 ขั้วสุดโต่ง เชื่อแต่พรรคพวกตนเอง เชื่อว่าพวกตัวเองถูก 100% ฝ่ายตรงข้ามผิด 100% คนคิดแบบนี้จะเสียโอกาสที่จะได้เรียนรู้เรื่องต่างๆ อย่างมีเหตุผล อย่างจำแนกเป็นเรื่องๆ ไป

นโยบายที่พรรคการเมืองเสนอกัน มักเป็นการคิดขึ้นลอยๆ แบบแจกโน้นแจกนี่ มุ่งหาเสียงอย่างง่ายๆ แยกเป็นส่วนๆ โดยไม่สนใจว่าในการบริหารประเทศจริงจะหางบประมาณจากไหน จะทำได้จริงหรือไม่ ถ้าทำไปแล้วจะส่งผลเสียอย่างไรบ้าง พรรคการเมืองไทยเป็นกลุ่มนักการเมืองที่มารวมตัวกันเพื่อหาทางเอาชนะลงเลือกตั้ง ยังไม่ได้มีการลงทุนจัดตั้งฝ่ายวิชาการ, ฝ่ายข้อมูล และพัฒนาเป็นองค์กรทางการเมืองที่สนใจการวิจัยและพัฒนาแนวนโยบายการพัฒนาประเทศอย่างเป็นระบบวิชาการที่รับฟังข้อมูลจากภาคประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ เหมือนในประเทศพัฒนาอุตสาหกรรม

ประเทศไทยที่มีประชากรมากเป็นอันดับ 21 ของโลก มีพื้นที่ที่เพาะปลูกได้ใหญ่อันดับที่ 18 แต่ยังเป็นประเทศรายได้ปานกลาง ที่ดัชนีการพัฒนามนุษย์อยูอันดับ 83 ล้าหลังกว่าหลายประเทศมาก มีปัญหาความเหลื่อมล้ำต่ำสูงทางฐานะและอำนาจต่อรองทางเศรษฐกิจการเมือง ระดับการศึกษา การได้รับผลตอบแทนในการทำงาน ระหว่างคนรวยส่วนน้อย กับคนจนส่วนใหญ่สูงมากกว่าหลายประเทศ ทำให้ผลิตภาพหรือประสิทธิภาพการผลิตของแรงงานไทยต่ำ รายได้และอำนาจซื้อต่ำ มีความขัดแย้งและปัญหาสังคมสูง ทำให้พัฒนาประเทศได้ยาก ชนชั้นนำกลุ่มน้อยยังผูกขาด ครอบงำทางความคิด ความรู้ ทำให้ไม่อาจเกิดแนวคิดใหม่ในการปฏิรูปประเทศให้ได้ผลอย่างแท้จริง

ทางออก คือ การระดมสมอง ระดมสติปัญญา ความรู้ความคิดจากปัญญาชนหรือตัวแทนของเกษตรกร คนงาน ผู้ประกอบอาชีพอิสระรายย่อย นักวิชาการ นักวิชาชีพ นักบริหาร ฯลฯ ให้มาสัมมนาอภิปรายกันแบบเปิดใจ ใจกว้าง ตั้งใจ รับฟังกันและกัน และหาแนวคิด บทเรียน ข้อสรุปที่ดีที่สุดไปเผยแพร่ต่อ/ทดลองทำ ไม่ใช่แค่มาโต้วาทีในที่สาธารณะเพื่อเอาชนะคะคานกัน แบบเลือกข้างรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน เราจึงจะมีทางได้องค์ความรู้ที่จะนำไปแก้ปัญหาพัฒนาประเทศได้ถูกทางได้

นักวิชาการของภาคประชาชน ได้เสนอแนวทางแก้ไขปัญหาและพัฒนาประเทศในแนวที่ก้าวหน้าเป็นประโยชน์กับคนส่วนใหญ่ในเรื่องเศรษฐกิจ การคลัง การเงิน พลังงาน การจัดการทรัพยากร ที่ดิน ป่าไม้ เรื่องการปฏิรูปการเกษตร การประมง ธุรกิจขนาดย่อม ปฏิรูปการศึกษา การฝึกอาชีพ สาธารณสุข การแก้ไขปัญหาสังคม และรัฐสวัสดิการ ฯลฯ ไว้มากพอสมควร แต่สื่อมวลชนและคนชั้นนำไม่ค่อยสนใจรับฟังและร่วมอภิปรายด้วยน้อย ถ้าคิดจะปฏิรูปประเทศให้ได้จริง คนไทยต้องสนใจที่จะอ่าน เรียนรู้ในเชิงวิชาการ ความรู้ เหตุผล มากขึ้น จะได้เข้าใจว่าปัญหาทางเศรษฐกิจสังคมระดับประเทศนั้นเป็นปัญหาเชิงระบบโครงสร้างทุนนิยมผูกขาดที่เป็นบริวาร ที่เป็นตัวสร้างปัญหาความเหลื่อมล้ำต่ำสูง ความยากจน และความขัดแย้ง และเราต้องคิดเรื่องการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปทั้งระบบโครงสร้าง มากกว่าแค่การคิดเรื่องเปลี่ยนตัวผู้นำหรือให้พรรคหรือกลุ่มการเมืองใดได้เป็นรัฐบาล เพราะพวกเขาต่างมีข้อจำกัดพอๆกัน

ข้อจำกัดของพวกเขาคือ ต่างมุ่งแสวงหาอำนาจ/ผลประโยชน์และมีนโยบายเอื้อนายทุนไม่แตกต่างกัน ประชาชนต้องวิเคราะห์เรื่องนี้ให้เข้าใจ ไม่ควรเชื่อง่ายและฝากความหวังกับโครงการใหม่ๆ ที่ส่งกระตุ้นการเติบโตเศรษฐกิจเพื่อประโยชน์ของคนรวยอย่างฉาบฉวย โดยไม่สนใจผลกระทบทางลบต่ออาชีพความเป็นอยู่และสภาพแวดล้อมของประชาชนส่วนใหญ่ ประเทศไทยมีประชากรและทรัพยากรมากพอที่จะเลือกนโยบายแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจสังคมแนวทางเลือกที่มีประสิทธิภาพเพื่อส่วนรวม เป็นธรรม เน้นคุณภาพชีวิตและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม มากกว่านโยบายพัฒนาแนวทุนนิยมอุตสาหกรรมแบบสุดโต่งที่ทุกรัฐบาล ทุกพรรคการเมืองใหญ่เลือกใช้อยู่

รัฐบาลควรปรึกษาหรือฟังความเห็นจากนักวิชาการ กลุ่มองค์กรภาคประชาชนต่างๆ เพื่อจะได้ข้อมูลเพิ่มเติมที่รอบคอบ และคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศโดยรวม ต้องใช้ความคิดแบบเสรีประชาธิปไตยที่ก้าวหน้าหจึงจะแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำต่ำสูง และคนแตกออกเป็นหลายฝักหลายฝ่ายได้ พวกผู้นำทางการเมืองทุกพรรคควรเปลี่ยนความคิด ความเชื่อแบบคิดว่าตัวเองถูก 100% คนอื่นผิด 100% เป็นใจกว้าง มองปัญหาอย่างจำแนกเป็นเรื่องๆตามความเป็นจริง ระดมสติปัญญารวมหมู่ รับฟังทั้งเรื่องจุดแข็งและจุดอ่อนของโครงการแก้ไขปัญหาต่างๆและตั้งเป้าหมายว่าทุกอย่างต้องทำเพื่อประโยชน์คนส่วนใหญ่เท่านั้น เราจึงจะสร้างการบริหารจัดการที่ฉลาดเข้มแข็งและพัฒนาประเทศไปแข่งขันกับคนอื่นและทำให้ประชาชนส่วนใหญ่มีชีวิตที่ดีขี้นได้จริง