คำปฏิญาณนั้นสำคัญไฉน

คำปฏิญาณนั้นสำคัญไฉน

จากกรณีที่ได้มีการทักท้วงว่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้นำคณะรัฐมนตรีกล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณเมื่อวันที่ 16 ก.ค.2562

ด้วยข้อความที่ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้โดยมีการตัดข้อความบางประโยคออกไปและเพิ่มข้อความเข้าไปใหม่ดังที่เป็นข่าวปรากฏไปอย่างกว้างขวางแล้วนั้น

หลายคนมีความสงสัยว่าคำปฏิญาณมีความสำคัญขนาดไหน สามารถตัดต่อเพิ่มเติมได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้ผลที่ตามมาจะเป็นเช่นไร

คำปฏิญาณ คือ คำมั่นสัญญาที่ผู้กล่าวคำปฏิญาณประกาศให้ทราบว่าตนจะมีจุดยืนอย่างไรในประเด็นเรื่องที่ปฏิญาณนั้น ความหมายที่แท้จริงของคำปฏิญาณก็คือ การให้คำมั่นสัญญาอันศักดิ์สิทธิ์และจริงจังว่า จะปฏิบัติตามคำปฏิญาณอย่างเคร่งครัด ในแง่หนึ่งคำปฏิญาณคือคำสัญญาที่ให้ไว้เพื่อการแสดงความซื่อสัตย์สุจริตและความจงรักภักดี ในการที่จะปฏิบัติตามหน้าที่ในฐานะที่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งอันสำคัญ ขณะเดียวกันคำปฏิญาณนั้นก็เป็นการให้คำสัญญากับตนเองว่า จะธำรงไว้ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์แห่งคำปฏิญาณทุกคำพูด คำปฏิญาณจึงไม่ใช่ของที่ทำกันโดยไร้ความหมาย ซึ่งการปฏิบัติดังกล่าวนั้นมีมาตั้งแต่สมัยโบราณ เช่น คำปฏิญาณในพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาของไทย คำปฏิญาณของเหล่าอัศวินที่มีต่อพระมหากษัตริย์ที่กล่าวต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในโบสถ์ ในวิหาร หรือในกรณีของญี่ปุ่นคือคำปฏิญาณของเหล่าสวามิน หรือผู้ครองแคว้นที่ปฏิญาณต่อโชกุน

ในกรณีของประเทศไทยนั้น คนทั่วไปที่อาราธนาศีลก็ถือได้ว่าเป็นการปฏิญาณว่าจะปฏิบัติตามศีลห้า หรือคำปฏิญาณที่รู้จักกันตั้งแต่เด็กๆ คือคำปฏิญาณของลูกเสือ เริ่มจากคำขวัญที่ว่า “เสียชีพอย่าเสียสัตย์” เป็นต้น

ตัวอย่างคำปฏิญาณที่สำคัญ

  1. คำปฏิญาณในพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา

“ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม ข้าพระพุทธเจ้า (ออกชื่อผู้ถวายสัตย์สาบาน) ขอพระราชทานกระทำสัตย์ปฏิญาณตัวต่อประเทศชาติ และประชาชนชาวไทย เฉพาะพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เฉพาะพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ท่ามกลางมหาสันนิบาตนี้ว่า

ข้าพระพุทธเจ้า ผู้เป็นสมาชิกแห่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี จะภักดีต่อชาติบ้านเมือง จะซื่อสัตย์ต่อประชาชนและต่อหน้าที่ จะปฏิบัติการทุกอย่างโดยเต็มกำลังสติปัญญาความสามารถ และโดยความเสียสละ เพื่อความเจริญ ความสงบสุข และความมั่นคงไพบูลย์ของประเทศชาติไทย จนตราบเท่าชีวิตร่างกายจะหาไม่ หากข้าพระพุทธเจ้าประพฤติปฏิบัติฝืนคำสัตย์ปฏิญาณนี้เมื่อใด ขอความวิบัติจงบังเกิดแก่ข้าพระพุทธเจ้าเมื่อนั้นโดยฉับพลันทันที อย่าให้มีความสุขความสวัสดีด้วยประการใดๆ หากข้าพระพุทธเจ้าดำรงมั่นในสัตย์ปฏิญาณนี้ยั่งยืนไป ขออานุภาพพระรัตนตรัยและเทพยดาอารักษ์ พระสยามเทวาธิราช เป็นต้น จงบันดาลความสุขสวัสดีแก่ข้าพระพุทธเจ้าทุกเมื่อ ให้ข้าพระพุทธเจ้ามีความเจริญในหน้าที่ราชการ เป็นกำลังทะนุบำรุงประเทศชาติสืบไป ได้สมตามปณิธานปรารถนาจงทุกประการ ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ”

  1. คำปฏิญาณของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสมาชิกก่อนเข้ารับตำแหน่ง

“ข้าพเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอปฏิญาณว่า ข้าพเจ้าจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ” (รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 115)

  1. คำถวายสัตย์ปฏิญาณของคณะรัฐมนตรีก่อนเข้ารับตำแหน่ง

“ข้าพระพุทธเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ” (รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 161)

  1. คำปฏิญาณของคณะตุลาการก่อนเข้ารับตำแหน่ง

“ข้าพระพุทธเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และจะปฏิบัติหน้าที่ในพระปรมาภิไธยด้วยความซื่อสัตย์สุจริต โดยปราศจากอคติทั้งปวง เพื่อให้เกิดความยุติธรรมแก่ประชาชน และความสงบสุขแห่งราชอาณาจักร ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและกฎหมายทุกประการ” (รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 191)

ตัวอย่างในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกาก็เคยเกิดกรณีการปฏิญาณไม่ครบถ้วนมาแล้ว คือ อดีตประธานาธิบดีCalvin CoolidgeและChester Arthur ล่าสุดก็คือ Barack Obama เคยกล่าวปฏิญาณตนไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ เมื่อครั้งเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยแรกเมื่อค.ศ. 2009

โดยรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกากำหนดให้ปฏิญาณว่า “I do solemnly swear that I will faithfully execute the office of President of the United States and will to the best of my ability preserve, protect, and defend the Constitution of the United States”.

แต่ในวันที่ 20 ม.ค.2009 John Roberts ประธานศาลสูงสุดได้กล่าวนำการปฏิญาณให้แก่Obamaกล่าวตามว่า “I will execute the office of president to the United States faithfully...” โดยสลับเอาคำว่า “faithfully” ไปไว้ข้างหลังคำว่า “the United States”

Obamaจึงได้กล่าวปฏิญาณใหม่ในทำเนียบขาวต่อหน้าผู้สื่อข่าวจำนวนหนึ่งอีกครั้งหนึ่งโดยไม่การถ่ายทอดโทรทัศน์แต่อย่างใด

จะเห็นได้ว่า กรณีของObamaเป็นการกล่าวถ้อยคำครบถ้วน เพียงแต่มีการสลับตำแหน่งของคำเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่ถึงกระนั้น เพื่อจัดการแก้ไขปัญหาความไม่สมบูรณ์ของการปฏิญาณ ObamaและRobertก็รีบจัดการแก้ไขด้วยการปฏิญาณซ่อมใหม่อีกครั้งทันที

แน่นนอนว่ากรณีพล.อ.ประยุทธ์นี้คงต้องมีผู้ร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งคำวินิจฉัยที่ออกมาย่อมขึ้นกับข้อเท็จจริงว่าได้มีการตัดต่อหรือเพิ่มเติมข้อความจริงหรือไม่หรือว่าเป็นการผิดหลงเล็กน้อย หากพบว่ามีการตัดต่อหรือเพิ่มเติมจริงย่อมจะทำให้การกล่าวถวายสัตย์ปฏิญาณนั้นไม่สมบูรณ์ที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ ความรับผิดชอบย่อมตกอยู่แก่นายกรัฐมนตรีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ทางที่ดีที่สุดที่นายกรัฐมนตรีจะทำได้ตอนนี้ก่อนที่จะเกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวงตามมา นายกรัฐมนตรีควรแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกอย่างเร่งด่วน ส่วนจะกลับเข้ามาใหม่หรือไม่อย่างไรก็ว่ากันไปอีกเรื่องหนึ่ง