นวัตกรรมจาก “ความอยากรู้”

นวัตกรรมจาก “ความอยากรู้”

หนังสือตำราเกี่ยวกับแหล่งที่มาของนวัตกรรมหลายเล่ม ได้รวบรวมแหล่งกำเนิดของนวัตกรรมว่า ว่าสามารถเกิดขึ้นจากแหล่งต่างๆ ได้มากมาย เช่น

การค้นพบนวัตกรรมโดยไม่ได้ตั้งใจ ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้จากความบังเอิญ ความโชคดี หรือความพยายามที่จะแก้ปัญหาอย่างหนึ่งแต่กลับค้นพบคำตอบอีกเรื่องหนึ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกัน

การค้นพบนวัตกรรมจากความต้องการที่จะทำให้สิ่งเดิมๆ ที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น

การค้นพบนวัตกรรมจากแรงผลักดันที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงของความต้องการของตลาด การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค หรือการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคม เช่น การเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย

การค้นพบนวัตกรรมจากการค้นคว้าวิจัย และการเกิดขึ้นขององค์ความรู้ใหม่ที่ได้จากการศึกษาวิจัย หรือ การค้นพบนวัตกรรมจากความต้องการที่จะสร้างสมดุลให้กับสิ่งที่แตกต่างหรือเกิดความเหลื่อมล้ำกันอย่างเห็นได้ชัด

แต่แหล่งที่มาที่สำคัญที่สุด เห็นจะได้แก่ นวัตกรรมที่เกิดขึ้นจากความอยากรู้ของมนุษย์

ความอยากรู้ของมนุษย์ นำไปสู่ความพยายามค้นหาคำตอบอย่างมุ่งมั่นไม่ลดละ หากยังไม่สามารถหาคำตอบได้ด้วยตัวเอง ก็จะยอมลดทิฐิ เข้าหากลุ่มคนที่คิดว่าจะช่วยให้แนวทางในการแสวงหาคำตอบได้ เกิดความร่วมมือกันในลักษณะของการสร้างสรรค์นวัตกรรมแบบเปิด

หากมีสมาชิกในกลุ่มที่ทำงานร่วมกันที่เป็นคนที่มีความอยากรู้อยู่ในตัว ทีมงานก็จะเกิดแรงหนุนให้เกิดความร่วมมือร่วมใจกันหาคำตอบตามเป้าหมายที่ต้องการ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญ

ธุรกิจที่ต้องการสร้างสรรค์นวัตกรรมโดยใช้กลยุทธ์จากแหล่งของความอยากรู้ อาจต้องเริ่มตั้งแต่การแสวงหาพนักงานใหม่ผ่านการคัดเลือกหรือการสัมภาษณ์ที่สามารถให้ผู้สมัครแสดงศักยภาพในการมีความอยากรู้อยากเห็นอยู่ในตัว หรือถามถึงความประทับจากประสบการณ์จริงที่ได้ทำมาเกี่ยวกับเรื่องที่อยากรู้และสามารถแสวงหาคำตอบมาได้ด้วยตัวเอง

นอกจากนี้ การสร้างบรรยากาศในการทำงานที่ส่งเสริมทักษะในการตั้งคำถามที่ท้าทายให้กับทีมงานหรือผู้ร่วมงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การทำเป็นแบบอย่างให้เห็นของผู้บริหารระดับสูงขององค์กร ในการตั้งคำถามที่จะนำไปสู่การสร้างสรรค์ความคิดใหม่ๆ หรือวิธีการทำงานในรูปแบบใหม่ที่ดีขึ้น

การจัดสถานที่ทำงานให้เกิดการเอื้อต่อการกระตุ้นความอยากรู้อยากเห็น การตั้งคำถามและการแสวงหาคำตอบ เช่นในบริษัทนวัตกรรมชั้นนำอย่างกูเกิล ที่จัดให้มีบอร์ดกระจายในจุดต่างๆ ของที่ทำงานเพื่อเป็นเวทีสำหรับผู้ที่คิดแก้ปัญหาในงานไม่ออกสามารถมาเขียนโจทย์ที่ต้องการหาคำตอบมาติดไว้ และพบว่า ในเวลาชั่วข้ามวัน ก็จะมีไอเดียดีๆ จากเพื่อนร่วมงานในต่างแผนกมาเขียนคำตอบไว้ให้มากมาย

การเปิดโอกาสให้พนักงานได้ไปทำงานนอกสถานที่ โดยเฉพาะสถานที่หรือประเทศที่ยังไม่เคยไป ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะกระตุ้นทักษะความอยากรู้อยากเห็นในสิ่งใหม่ๆ ให้กับพนักงาน ทำให้เกิดการนำเอาสิ่งใหม่ที่ได้รู้ได้เห็นมาประยุกต์ใช้กับงานของตัวเองที่ทำอยู่

อีกวิธีหนึ่งที่มีการใช้กันในธุรกิจที่มีขนาดใหญ่หน่อยก็คือ การจัดกิจกรรมวันนวัตกรรมประจำปีของบริษัทที่เปิดโอกาสให้พนักงานได้นำผลงานที่คิดค้นขึ้นมานำเสนอให้เพื่อนร่วมงานให้เห็น

การพัฒนาตัวเองให้เป็นคนที่มีความอยากรู้อยู่ตลอดเวลา จะนำไปสู่การเป็นคนใฝ่รู้ และยึดมั่นกับการเรียนรู้ด้วยตัวเองตลอดชีวิต ที่เรียกว่า Life Long Learning!