สงครามเทคโนโลยี

สงครามเทคโนโลยี

การทำสงครามเปลี่ยนมาสู่การชิงความเป็นผู้นำทางเทคโนโลยี

การแผ่ขยายอิทธิพลทางการทหารของจีนในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะแอฟริกาที่มีฐานทัพของรัฐบาลจีนตั้งอยู่ก่อให้เกิดคำถามมากมายกับประชาคมโลกว่า จีนทำไปเพื่อโชว์แสนยานุภาพ หรือเพื่อใช้งบประมาณทางการทหารที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นมหาศาล

หากพินิจกันให้ดีจะพบว่า สิ่งที่จีนต้องการในปัจจุบันคือการค้าขาย เพราะนั่นเป็นสิ่งที่อยู่ในสายเลือดของเขามาช้านาน การบุกแอฟริกาของจีนจึงใช้การค้าเป็นใบเบิกทางเ พราะจีนต้องอาศัยทรัพยากรของประเทศในทวีปแอฟริกา และคนแอฟริกันก็ต้องการสินค้าและโครงการสาธารณูปโภคของจีนเช่นกัน

ฐานทัพของจีนจึงเกิดขึ้นเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของเขาในแผ่นดินแอฟริกาซึ่งยังคงมีความมั่นคงต่ำ ทั้งภัยจากผู้ก่อการร้าย โจรสลัด และกองกำลังต่างๆ การขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจของจีนในวันนี้ไม่แตกต่างอะไรกับการขยายอิทธิพลของประเทศต่างๆ ในยุคสงครามโลก แต่เปลี่ยนจากการใช้กำลังทหารนำเศรษฐกิจมาเป็นเศรษฐกิจนำการทหาร

เมื่อใช้การค้าเป็นตัวนำ การลงทุน มีการตั้งโรงงาน การถ่ายทอดเทคโนโลยี ฯลฯ ก็ต้องเกิดขึ้นตามมา เหมือนกับกองทัพญี่ปุ่นในอดีต ที่คนในอดีตเคยเล่าให้เราฟังว่าไม่ได้มีแค่ทหาร เพราะทหารก็ต้องใช้ชีวิตเหมือนคนปกติธรรมดา พ่อครัว แพทย์ ฯลฯ ก็ต้องยกกำลังติดตามไปด้วยกัน

กองกำลังของนักธุรกิจจีนในทุกวันนี้จึงไม่ได้มีเพียงแค่พนักงานหรือแรงงานเพื่อมาดำเนินงานตามแผนงานของบริษัทเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงบริการเกี่ยวเนื่องทั้งหมดที่ทำให้พวกเขาใช้ชีวิตได้อย่างราบรื่น ชาวจีนจึงมาลงทุนในโครงการอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ โรงพยาบาล โรงเรียน มหาวิทยาลัย ฯลฯ ในประเทศที่เข้าไปลงทุนเป็นปกติ

การแผ่ขยายอิทธิพลในอดีต มักใช้การทำสงครามเป็นตัวนำ โดยมีสาเหตุสำคัญประการแรกคือ “ศาสนา” ที่นับถือต่างกันในแต่ละประเทศ ความแตกต่างกันทางศาสนาทำให้เกิดการแบ่งแยกและลงเอยที่สงครามหลายครั้ง

ภาพวาดและงานศิลปะเก่าแก่ในพิพิธภัณฑ์ทั่วโลกมักมีผลงานจากศิลปินชื่อดังในอดีตที่สะท้อนให้เห็นภาพของสงครามต่างๆ ในอดีตที่ดูยิ่งใหญ่อลังการ มีภาพของผู้พ่ายแพ้ต้องถูกกองทหารม้าของฝ่ายที่ได้รับชัยชนะเหยียบย่ำมีให้เราเห็นจนชินตา

สาเหตุสำคัญประการที่สองที่ทำให้มวลมนุษย์ชาติต้องทำสงครามกันก็คือ “ทรัพยากร” ไม่ว่าจะเป็น การแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติที่ประเทศตัวเองไม่มีหรือเป็นการขยายอิทธิพลของประเทศตัวเองด้วยการเข้าไปเสาะหาทรัพยากรไปจนถึงการทำเหมืองแร่ในประเทศอื่นๆ เพื่อสกัดแร่ธาตุหายาก

การทำสงครามเพื่อแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติในอดีตยังเป็นการแสดงความเหนือกว่าของประเทศที่ประกาศสงครามและเข้ายึดครองประเทศอื่นๆ แม้กระทั่งสหรัฐที่ออกมากังขาในบทบาทของจีนต่อภูมิภาคแอฟริกา ก็เคยเข้ามาล่ามนุษย์เพื่อนำไปใช้เป็นแรงงานทาสในประเทศตัวเองมาแล้วเช่นกัน

นั่นเป็นเพราะการขยายตัวของสหรัฐในยุคบุกเบิก ที่เต็มไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติและที่ดินอันกว้างใหญ่ไพศาล แต่กลับขาดแคลนแรงงานเพื่อนำมาใช้ทั้งด้านการเกษตรและการสร้างโครงสร้างพื้นฐานในประเทศ แรงงานทาสจากแอฟริกาจึงเป็นคำตอบสำคัญ

บทบาทของจีนในเวทีโลกที่ทวีความสำคัญมากขึ้นจึงทำให้เราเห็นว่าการทำสงครามเปลี่ยนจากการใช้กำลังทางทหารมาเป็นสงครามการค้าเต็มรูปแบบแล้ว และการค้าที่มีอิทธิพลต่อระบบเศรษฐกิจในโลกทุกวันนี้ก็คือเรื่องของเทคโนโลยี สงครามการค้าในยุคนี้จึงถือเป็นสงครามเทคโนโลยีเต็มรูปแบบ

จากการที่เราต้องรบพุ่งกันด้วยความแตกต่างทางศาสนา มาสู่การแย่งชิงทรัพยากร และมาถึงวันนี้เมื่อเทคโนโลยีมีบทบาทต่อโลกสูงที่สุด การทำสงครามจึงเปลี่ยนมาสู่การแก่งแย่งชิงความเป็นผู้นำทางเทคโนโลยี และจีนก็เป็นหนึ่งในประเทศที่ไม่ยอมแพ้ในสมรภูมิครั้งนี้แน่ๆ และสงครามนี้ก็เพิ่งเริ่มต้นขึ้นเท่านั้น