สูงวัยอย่างมีคุณภาพ (3)

สูงวัยอย่างมีคุณภาพ (3)

ครั้งที่แล้วผมสรุปว่า การรักษาสุขภาพให้ร่างกายแข็งแรงนั้น จะต้องดูแลปัจจัยพื้นฐานของร่างกาย 3 ประการคือ

1.ระบบไหลเวียนของเลือดจะต้องแข็งแร (หมายถึง หัวใจ ปอดและเส้นเลือด)

2.เซลล์ต้องทำงานได้ปกติและไม่กลายตัวเป็นเซลล์มะเร็ง

3.กินอาหารและย่อยอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายอย่างพอเพียง

ผมประเมินจากข้อมูลว่าเรามักจะให้ความสำคัญกับข้อ 3 เป็นหลักและให้ความสำคัญกับข้อ 1 และข้อ 2 ไม่เพียงพอ เพราะเป็นเรื่องยาก ซึ่งผมได้พยายามหาข้อมูลในข้อ 1 และ 2 เพื่อเพิ่มความรู้ให้กับตัวเองและขอนำมาเสนอให้ท่านผู้อ่านนำไปพิจารณาเองด้วย

แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงของข้อ 3 คือแม้เราจะรู้กันอยู่ว่าการกินมากทำให้อ้วนนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ แต่ก็ปรากฏว่าประเทศไทยนั้นกลายเป็นประเทศที่มีคนเป็นโรคอ้วน (BMI เกินกว่า 30) มากที่สุดเป็นอันดับ 2 ในอาเซียน (รองลงมาจากมาเลเซีย) โดยบทวิเคราะห์ของธนาคารเพื่อการพัฒนาของเอเชีย (ADB) ในเดือนมีนาคม 2017 สรุปจากการสำรวจสุขภาพของไทยในปี 2014 ว่า

1.ประเทศไทยมีคนเป็นโรคอ้วนเป็นสัดส่วนต่อประชากรสูงกว่าประเทศพัฒนาแล้วบางประเทศ เช่นเกาหลีใต้ ญี่ปุ่นและสิงคโปร์ 

2.ผู้ชายไทยที่เป็นผู้ใหญ่เป็นโรคอ้วนมากถึง 33% (จาก 28% ในปี 2009)

3.ผู้หญิงที่เป็นโรคอ้วนมีมากถึง 43% (เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 42% ในปี 2009) 4.เด็กไทยประมาณ 5% เป็นโรคอ้วน

5.คนกรุงเทพเป็นโรคอ้วนมากที่สุดทั้งผู้ชาย (38.8%) และผู้หญิง (49.4%)

6.กลุ่มอายุที่เป็นโรคอ้วนสูงสุดคือกลุ่มอายุ 49-59 ปี (เป็นโรคอ้วน 42.4%)

เมื่อกินอาหารมากเกินไปและทำให้ร่างกายอ้วน ก็แปลว่ากล้ามและกระดูกต้องแบกน้ำหนักมากและระบบฟอกและสูบฉีดเลือด (หัวใจ ปอดและเส้นเลือด) ก็จะต้องทำงานหนัก แต่ที่แย่ไปกว่านั้นคือเมื่ออ้วนมาก ก็เสี่ยงสูงมากที่จะทำให้เกิดโรคเบาหวานคือการทำลายเส้นเลือดในร่างกาย ทำให้เป็นโรคหัวใจและเลือดไปไม่สามารถไปเลี้ยงร่างกายได้อย่างทั่วถึง จึงทำให้บางกรณีตาบอด แผลไม่หายและต้องตัดแขนขาออก ความเสี่ยงที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นผลมาจากการที่ระบบไหลเวียนของเลือดอ่อนแอและเสื่อมสภาพ

อีกเรื่องหนึ่งที่ทำร้ายระบบไหลเวียนของเลือดอย่างมากคือการสูบบุหรี่ เพราะทำลายปอดซึ่งเป็นกลไกในการฟอกเลือดและเติมออกซิเจนให้กับเลือด (แปลง “เลือดดำให้เป็น “เลือดแดง”) เพื่อให้ลำเลียงไปให้กับทุกอวัยวะและทุกเซลล์ในร่างกาย ทั้งนี้ไม่รวมถึงการที่ควันบุหรี่เพิ่มความเสี่ยงของการเป็นโรคมะเร็งในปอดและอวัยวะอื่นๆ

ประเด็นสุดท้ายเกี่ยวกับการกินที่เคยมีคนมาตั้งคำถามกับผมคือ ที่ให้กินอาหารวันละ 2 มื้อ หากเป็นผลดีจริง ก็ต้องหมายความว่าพระสงฆ์จะต้องสุขภาพดีไม่มีปัญหาโรคอ้วน ซึ่งผมได้พยายามไปหาข้อมูลและพบบทความลงในหนังสือพิมพ์ Chiang Rai Times วันที่ 18 ธันวาคม 2018 กล่าวถึงปัญหาโรคอ้วนที่กำลังเป็นภาวะวิกฤติในหมู่พระสงฆ์ เพราะพระสงฆ์นั้นเป็นโรคอ้วนมากถึง 45% และ 6.5% เป็นโรคเบาหวาน นอกจากนั้นพระสงฆ์เป็นโรคหัวใจและมีระดับคอเลสเตอรอลสูงเป็นจำนวนมาก (แต่ไม่ได้ระบุตัวเลข) คำถามคือเป็นไปได้อย่างไร ซึ่งคำตอบจากผศ. สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ (สสส.) คือ

1.พระสงฆ์จะฉันน้ำหวานหลังเที่ยงวัน ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญในการทำให้พระสงฆ์มีน้ำหนักตัวเพิ่ม

2.พระสงฆ์ 43% สูบบุหรี่

3.พระสงฆ์เพียง 44% ออกกำลังกาย 3 ครั้งต่อสัปดาห์

ดังนั้นผมจึงต้องขอสรุปอีกครั้งหนึ่งว่า เรื่องกินนั้นจะต้องกินน้อยโดยเฉพาะการกินของหวาน และต้องให้ความสำคัญกับการออกกำลังกายและห้ามสูบบุหรี่โดยเด็ดขาด 

จะสังเกตว่าแนวคิดดังที่กล่าวมาข้างต้นจะเป็นการดูแลร่างกายเป็นส่วนๆ ไป เช่น หัวใจ ปอด การออกกำลังกายให้กล้ามเนื้อแข็งแรง ฯลฯ ซึ่งอาจเปรียบเทียบได้ว่าเป็นการมองแบบ “Top Down” แต่ในอีกด้านหนึ่งนั้นเราสามารถมองร่างกายแบบ “Bottom Up” ก็ได้คือร่างกายมนุษย์นั้นมี

- เซลล์ทั้งหมดประมาณ 37.2 ล้านล้านเซลล์

- เส้นเลือดซึ่งรวมถึงเส้นเลือดใหญ่ คือหลอดเลือดแดง (arteries) หลอดเลือดดำ (veins) และเส้นเลือดฝอย (capillaries) ซึ่งรวมกันทั้งสิ้นมีความยาวเกือบ 160,000 กิโลเมตร

- ยีนส์ประมาณ 24,000-300,000 คู่ (จากบิดาและมารดา) 

หมายความว่าหากเรามีวิธีดูแลให้เซลล์ทุกเซลล์ทำงานได้โดยปกติไม่แก่ตัว ดูแลให้เส้นเลือดแข็งแรงไม่แห้งตายหรือชำรุดและดูแลไม่ให้ยีนส์ในเซลล์ของเรากลายพันธ์ (mutate) เป็นมะเร็ง ก็น่าจะแปลว่า ร่างกายจะสุขภาพดีได้ตลอดไป ซึ่งวิทยาศาสตร์ในด้านนี้ได้พัฒนาไปอย่างมากในช่วงประมาณ 20 ปีที่ผ่านมาและหนึ่งในผู้นำในด้านนี้คือดร. David Sinclair แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ที่ผมเคยกล่าวถึงมาก่อนหน้าแล้วและที่สำคัญคือดร. Sinclair กำลังจะออกหนังสือเล่มใหม่ที่คาดว่าจะวางตลาดในเดือนกันยายนนี้ชื่อว่า “Lifespan: Why we age and Why we don’t have to” ซึ่งผมแปลว่า อายุขัย: ทำไมมนุษย์จึงแก่ตัวและทำไมเราจึงเลือกที่จะไม่แก่ตัวก็ได้” ซึ่งดร. Sinclair ฟันธงว่า “Aging is a disease, and that disease is treatable” หรือแปลได้ว่า “การแก่ตัวคือโรคชนิดหนึ่งซึ่งสามารถรักษาให้หายได้”

ครั้งต่อไปผมจะนำเอาผลการทดลองกับหนูของดร.Sinclair มาสรุปให้ท่านได้อ่าน ซึ่งเป็นที่มาของการกล่าวอ้างของดร.Sinclair ว่าการแก่ตัวนั้นสามารถรักษาให้หายได้ครับ