“แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี”

“แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี”

“แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี” คือคำนิยามค่าเงินบาทที่สำนักข่าว Bloomberg ตั้งให้หลังจากที่เงินบาทแข็งที่สุดในภูมิภาค

หลังจากที่แข็งเกือบ 6% ในปีนี้ไปแตะ ที่ 30.6 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในสัปดาห์ที่ผ่านมา จนทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องออกมาตรการลดความร้อนแรงลง

ทั้งการเข้าซื้อเงินต่างประเทศจนทุนสำรองเกือบสูงสุดเป็นประวัติการณ์ (2.15 แสนล้านดอลลาร์) ทั้งการแทรกแซงด้วยวาจา และทั้งการออกมาตรการลดปริมาณการออกพันธบัตรระยะสั้น เพื่อลดเงินที่ไหลเข้าเก็งกำไรตลาดพันธบัตรเพื่อเก็งกำไรค่าเงิน แต่ Bloomberg ก็กล่าวเป็นนัยว่า ธปท. อาจไม่สามารถทำมาตรการต่าง ๆ ได้อย่างเต็มที่นัก เนื่องจากกลัวว่าสหรัฐจะตราหน้าว่าเป็นประเทศที่บิดเบือนค่าเงิน

ประเด็นเหล่านี้เองที่ทำให้ผู้เขียนถูกตั้งคำถามในหลากหลายเวทีเศรษฐกิจ ผู้เขียนจึงขอตอบคำถามเหล่านั้น ณ ที่นี้

1.ทำไมบาทแข็ง

คำตอบแบบกำปั้นทุบดิน คือยังมีเงินทุนไหลเข้าในระดับสูง โดยใน 5 เดือนแรกของปีนี้ (ข้อมูลล่าสุด) มีเงินไหลเข้าผ่านดุลบัญชีเดินสะพัด (ที่รวมทั้งดุลการค้าและดุลบริการ) ถึง 1.35 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้าย (ที่รวมทั้งเงินไหลเข้ามาลงทุนโดยตรงและในตลาดเงินตลาดทุน) ติดลบอยู่ 7.6 พันล้านดอลลาร์ เลยทำให้ดุลชำระเงินมีเงินไหลเข้าสุทธิประมาณ 3.7 พันล้านดอลลาร์

ข้อมูลข้างต้นยังไม่รวมเดือน มิ.ย. ที่ตลาดคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) จะลดดอกเบี้ยเพื่อช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า โดยมีเงินไหลเข้าตลาดหุ้นไทยกว่า 1.5 พันล้านดอลลาร์และตลาดพันธบัตรประมาณ 420 ล้านดอลลาร์ ทำให้เงินบาทแข็งขึ้นจาก 31.8 บาทต่อดอลลาร์ในต้นเดือน มิ.ย. มาอยู่ที่ 30.6 บาทในปัจจุบัน

“แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี”

พูดอย่างง่ายคือโดยปกติไทยก็มีเงินไหลเข้าผ่านดุลบัญชีเดินสะพัดอยู่แล้ว โดยในรอบ 5-6 ปีที่ผ่านมา ไหลเข้าสุทธิ 2-3 พันล้านดอลลาร์ต่อเดือน และถ้าเดือนไหนตลาดมีแนวโน้มเป็นบวก (Risk-on) ก็จะมีเงินไหลเข้าผ่านดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายจนทำให้บาทแข็งค่ามหาศาล

และเมื่อต่างชาติเห็นภาพดังกล่าว (ดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นบวก ทุนสำรองมหาศาล และเงินเฟ้อต่ำ) บ่งชี้ว่าความเสี่ยงต่อวิกฤตการเงิน (เช่นเดียวกับสมัยต้มยำกุ้ง) อยู่ในระดับต่ำ ต่างชาติจึงเร่งนำเงินมาลงทุนหากสถานการณ์โลกเอื้ออำนวย (หรือที่เรียกว่าแหล่งพักเงินภูมิภาคหรือ Regional Safe Haven) ฉะนั้น บาทจึงมีแนวโน้มแข็งค่าอยู่ตลอด

2.บาทจะแข็งไปถึงเมื่อไหร่

คำตอบง่าย ๆ คือ ไม่ทราบ เพราะการคาดการณ์ค่าเงินยากที่สุด เนื่องจากมีปัจจัยแวดล้อมมากมาย อย่างไรก็ตาม หากตั้งสมมุติฐานว่า (1) ในปีนี้และปีหน้า บัญชีเดินสะพัดของไทยจะยังเกินดุลที่ประมาณ 3 หมื่นล้านดอลลาร์ ใกล้เคียงกับปี 2018 ที่เกินดุล 3.2 หมื่นล้านดอลลาร์  (2) คาดการณ์ว่า ธปท. จะไม่รีบลดดอกเบี้ยเกินกว่าที่ Fed จะลด และ  (3) ภาพเศรษฐกิจโลกไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ คือเป็นภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวแต่ไม่หดตัว (Late cycle but not recession)

ก็อาจทำให้ดัชนีค่าเงินบาทเทียบกับคู่ค้า (NEER) แข็งค่าขึ้น 4-5% ใกล้เคียงกับปีที่แล้ว ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น จากการคำนวณของผู้เขียน เป็นไปได้ที่บาทจะแข็งไปอยู่ที่ 29.2 บาทต่อดอลลาร์ในอีก 12 เดือนข้างหน้า โดยค่าเงินที่ 30 บาทต่อดอลลาร์จะเป็นจุดสำคัญทางจิตวิทยา

3.บาทแข็งเท่าไหร่จึงจะกระทบเศรษฐกิจ

คำตอบคือ ทุกๆ 1 บาทที่แข็งค่าขึ้น จะทำให้การส่งออกรวมถึงเศรษฐกิจขยายตัวชะลอลงประมาณ 0.3-0.4% (Percentage point: pp.) และอัตราเงินเฟ้อลดลงประมาณ 0.5 pp. ฉะนั้น หากให้ค่าเงินบาททรงอยู่ที่ระดับนี้ (30.6 บาทต่อดอลลาร์) ไปจนถึงสิ้นปี เศรษฐกิจไทยในปีนี้ก็มีสิทธิที่จะขยายตัวลดลงจาก 3.3% ที่ ธปท. คาด ไปอยู่ที่ 3.1-3.0% ได้ ขณะที่เงินเฟ้อทั้งปีนี้ก็มีสิทธิที่จะลดลงไปอยู่ที่ 0.7-0.8% จากที่ ธปท. คาดไว้ที่ 1.0% ได้

4.มีมาตรการใดบ้างที่จะทำให้บาทอ่อนลงได้

คำตอบคือ ไม่มี ถ้ายังจะยึดอยู่ในกรอบเดิม โดยผู้เขียนได้ทำการศึกษา 5 มาตรการที่ทางการเคยทำเพื่อลดความร้อนแรงของเงินบาท กล่าวคือ (1) มาตรการกันสำรอง 30% (2) การเก็บภาษี Withholding Tax 15% ในรายได้จากการซื้อพันธบัตร (3) การอนุญาตให้นำเงินออกไปลงทุนต่างประเทศอย่างไม่จำกัด (4) การลดปริมาณการออกพันธบัตรระยะสั้นของ ธปท. และ (5) การจำกัดปริมาณที่นักลงทุนต่างชาติจะมีบัญชีเงินบาท (NRBA) ในประเทศไทย

“แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี”

ทั้ง 5 มาตรการนั้น มีเพียงหนึ่งเดียวที่ทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้ใน 3 เดือน-1ปี นั่นคือมาตรการที่ 3 แต่เป็นเพราะในช่วงที่ทำมาตรการดังกล่าวนั้น (มิ.ย. 2013) บัญชีเดินสะพัดของไทยขาดดุล แต่ในกรณีอื่น ๆ นั้น มาตรการต่าง ๆ ไม่ได้ทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจาก (1) ดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นบวก (2) มาตรการดังกล่าวปิดการไหลเข้าออกของเงินตราได้เพียงบางจุด ทำให้นักลงทุนเลี่ยงช่องทางนั้นและหาช่องทางอื่นในการนำเงินเข้าเก็งกำไร และ (3) บางมาตรการทำให้เกิดผลข้างเคียงเชิงลบ เช่น (1) มาตรการ 30% (ธ.ค. 2006) ทำให้เงินไหลออกจากตลาดหุ้นจนหุ้นตกกว่า 100 จุดในวันเดียว รวมถึงทำให้เกิดภาวะเงินบาทในและต่างประเทศมีอัตราต่างกัน (On-shore/ Off-shore) และทำให้สับสน หรือ (2) มาตรการลดปริมาณการออกพันธบัตร (เม.ย. 2017) ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้น (3 เดือน – 1 ปี) ต่ำกว่าดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณที่สับสนเช่นกัน

สำหรับผู้เขียนแล้ว มาตรการที่จะทำให้บาทอ่อนในระยะยาว และไม่ถูกสหรัฐกล่าวหาว่าบิดเบือนค่าเงิน คือสนับสนุนให้เกิดการลงทุนในประเทศมากขึ้น เพราะการลงทุนในประเทศมักจะนำมาซึ่งการนำเข้าเครื่องมือเครื่องจักรต่าง ๆ ทำให้บัญชีเดินสะพัดเกินดุลลดลง นอกจากนั้น การลงทุนก็ยังเป็นการพัฒนาศักยภาพเศรษฐกิจในระยะยาวอีกด้วย

แน่นอนว่า การกระตุ้นการลงทุนระยะยาวได้ ก็ต้องทำให้เศรษฐกิจในประเทศแข็งแกร่งเสียก่อน ด้วยการทำให้การบริโภคเติบโตมากขึ้น ทดแทนเศรษฐกิจต่างประเทศที่ชะลอตัว ซึ่งทำได้ด้วยการลดดอกเบี้ยนั่นเอง ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อเงินเฟ้อไม่ได้เป็นความเสี่ยงแล้วนั้น การลดดอกเบี้ยก็จะทำได้ง่ายขึ้น

เครื่องมือมีอยู่แล้ว แต่จะทำหรือไม่นั้น ลองถามใจเธอดูก็จะรู้คำตอบ

[บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่]