กำแพงภาษีได้ผลจริงหรือ?

กำแพงภาษีได้ผลจริงหรือ?

Aschauer (1987) แห่ง Federal Reserve Bank of Chicago ได้เขียนบทความเกี่ยวกับผลกระทบของกำแพงภาษีต่อตัวแปรทางเศรษฐกิจต่างๆ

 เช่น การบริโภค การผลิต ดุลการค้า และ ดุลเงินทุน ไว้เป็นเวลานานมากแล้ว แต่เนื้อหาค่อนข้างสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่เกิดสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐ 

บทความของเขาเป็นการแสดงผลกระทบเชิงทฤษฎี ซึ่งมักจะมีข้อสมมติฐานบางประการเพื่อให้ง่ายต่อการเข้าใจ แต่ก็มีข้อดีที่ว่าข้อสรุปที่ได้ไม่แฝงด้วยทัศนคติส่วนบุคคล ในขณะที่การวิเคราะห์จากสถานการณ์จริงอาจจะประมวลปัจจัยที่เป็นจริงได้ใกล้เคียงกว่า แต่ก็มักแฝงด้วยทัศนคติส่วนบุคคลและข้อมูลที่อาจเป็นผลจากปัจจัยหลายๆ อย่างรวมๆ กัน 

Aschauer ได้แสดงให้เห็นว่า การตั้งกำแพงภาษีกับสินค้าขาเข้าที่เป็นมาตรการชั่วคราวทำให้สินค้าขาเข้ามีราคาแพงขึ้นและทำให้ผู้บริโภคโดยรวมยากจนลง แม้ว่าผลกระทบโดยตรงและมากที่สุดจะเกิดขึ้นกับสินค้าขาเข้า แต่การบริโภคโดยรวม (ทั้งสินค้าภายในประเทศและสินค้าขาเข้า)ลดลง แม้ว่าการบริโภคสินค้าภายในประเทศอาจจะเพิ่มขึ้นบ้างจากการเปลี่ยนจากสินค้าต่างประเทศมาเป็นสินค้าภายในประเทศ เมื่อเป็นเช่นนี้ ประเทศที่ตั้งกำแพงภาษีจะมีดุลการค้าดีขึ้น แต่เศรษฐกิจโลกโดยรวมแย่ลง กำแพงภาษีใดๆ ที่ผู้บริโภคเห็นว่าเป็นมาตรการชั่วคราว จะทำให้ผู้บริโภคบางส่วนออมเงินเพื่อซื้อสินค้าต่างประเทศในอนาคต นี่เป็นส่วนที่ทำให้ดุลบัญชีเงินทุนเป็นลบเพื่อหักล้างกับดุลการค้าที่เป็นบวก และส่งผลให้ค่าของเงินสกุลประเทศนั้นๆ ลดลง 

แต่ถ้าหากว่าการตั้งกำแพงภาษีเป็นมาตรการถาวร ผู้บริโภคจะไม่มีการออมเงินเผื่ออนาคตในกรณีที่กำแพงภาษีจะถูกยกเลิกไป สินค้าต่างประเทศที่ได้รับผลกระทบจากกำแพงภาษีมีราคาแพงขึ้น จะส่งผลให้ทุกประเทศยากจนลง ประเทศที่ตั้งกำแพงภาษีนำเข้าน้อยลงในขณะที่ประเทศที่ส่งออกส่งออกสินค้าได้น้อยลง ดุลการค้าจึงไม่เปลี่ยนแปลง  แต่ว่าการบริโภคและการผลิตลดลงทั้งสองประเทศ 

แต่ในความเป็นจริง ผู้บริโภคมีทั้งกลุ่มที่เห็นว่ามาตรการกำแพงเป็นมาตรการชั่วคราว และกลุ่มที่เห็นว่าเป็นมาตรการถาวร ผลที่เกิดขึ้นจึงแล้วแต่ว่ากลุ่มใดมากกว่าและโน้มเอียงไปในทางนั้น 

เหตุการณ์สมมติข้างต้นไม่ได้พิจารณากรณีที่ประเทศฝ่ายตรงข้ามตอบโต้ด้วยการตั้งกำแพงภาษีบ้าง ในกรณีเช่นนั้น ประเทศที่ตั้งกำแพงภาษีตอบโต้ก็จะเกิดสถานการณ์เดียวกับประเทศที่ตั้งกำแพงภาษีครั้งแรก กล่าวคือผู้บริโภคยากจนลงและการบริโภคโดยรวมลดลงมากกว่าการผลิตที่ลดลง (แม้ว่าการบริโภคสินค้าต่างประเทศบางส่วนเปลี่ยนมาเป็นสินค้าภายในประเทศแทน) เมื่อทั้ง 2 ประเทศดำเนินมาตรการเหมือนกัน ผลกระทบที่เกิดขึ้นจึงเหมือนกัน สินค้าที่เหลือจากการบริโภคจึงเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า เศรษฐกิจโลกมีการผลิตและการจ้างงานโดยรวมที่ลดลง ซึ่งจะส่งผลให้ระดับอัตราดอกเบี้ยลดลงและมีการปรับตัวเข้าสู่สมดุลอีกครั้งหนึ่ง โดยที่การค้าทั่วโลกกลับเข้าสู่สมดุลอีกครั้งหนึ่ง 

ดังนั้น การดำเนินมาตรการกำแพงภาษีที่ถูกตอบโต้จากประเทศฝ่ายตรงกันข้าม จึงไม่ส่งผลต่อดุลการค้าอย่างที่นักการเมืองมักจะคิดอยู่เสมอ 

อย่างไรก็ตาม แบบจำลองที่สมมติขึ้นโดย Aschauer ข้างต้น อาจจะแฝงไว้ด้วยข้อสมมติฐานที่ว่ากำแพงภาษีทั้ง 2 ประเทศมีอัตราเท่ากัน นอกจากนี้ ขนาดของระบบเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศของทั้ง 2 ประเทศมีขนาดเท่ากัน ซึ่งในความเป็นจริงแล้วไม่ได้เป็นเช่นนั้น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ จีนและสหรัฐอเมริกา อันเป็นประเทศคู่สงครามการค้าในปัจจุบัน 

Bollen and Rojas-Romagosa (2018) แห่ง CPB Netherlands Bureau for Economic Policy Analysisได้ประมาณการอัตราภาษีศุลกากรเฉลี่ย ทั้งฝั่งจีนและสหรัฐ โดยใช้อัตราภาษีศุลกากรที่แต่ละฝ่ายตั้งกำแพงต่อสินค้าของฝ่ายตรงข้ามและถ่วงน้ำหนักด้วยสัดส่วนของสินค้าแต่ละประเภทที่ถูกตั้งอัตราภาษีศุลกากรในระดับต่างๆ กัน แล้วหาค่าเฉลี่ยของอัตราภาษีศุลกากรแต่ละฝ่ายโดยรวม ผลปรากฏว่าอัตราภาษีศุลกากรของสินค้าจีนที่สหรัฐ นำเข้าคือ 2.2% และ อัตราภาษีศุลกากรของสินค้าสหรัฐที่จีนนำเข้าคือ 9.3% แต่ว่าปริมาณการนำเข้าสินค้าจีนของสหรัฐ มีมากกว่าปริมาณการนำเข้าสินค้าสหรัฐของจีน นอกจากนี้สิ่งที่ควรพิจารณาคือ สินค้าจีนที่สหรัฐนำเข้า เป็นสินค้าประจำวันที่ผู้บริโภคสหรัฐมีความจำเป็น โดยที่ไม่อาจหาได้จากประเทศอื่นในราคาที่เท่ากันหรือต่ำกว่า สถานการณ์อย่างนี้ ทางเศรษฐศาสตร์เรียกว่า สินค้านำเข้าของสหรัฐมีความยืดหยุ่นต่อราคาต่ำ ในขณะเดียวกัน สินค้าสหรัฐที่จีนนำเข้าเป็นสัดส่วนที่สูง อาจมีสินค้าทดแทนได้จากประเทศอื่น เช่น ปิโตรเลียม สินค้าเกษตรกรรม และ สินค้าฟุ่มเฟือย เป็นต้น นอกจากนี้ จีนยังได้ประกาศลดอัตราภาษีศุลกากรของสินค้าขาเข้าจากประเทศนอกสหรัฐอย่างขนานใหญ่ก่อนหน้าที่จะเกิดการตอบโต้ของกำแพงภาษีทั้ง 2 ฝ่าย เมื่อกลางปี 2018 แล้ว ดังนั้นราคาสินค้านำเข้าจากต่างประเทศโดยเฉลี่ยที่ผู้บริโภคจีนต้องเผชิญจึงอาจจะไม่เพิ่มขึ้น หรือเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย 

Bollen and Rojas-Romagosa ยังได้ใช้โปรแกรม WorldScan อันเป็นแบบจำลองคอมพิวเตอร์ general equilibrium ของสถาบัน CPB คำนวณผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับสถานะทางเศรษฐกิจของทั้งจีนและสหรัฐอเมริกาให้เปลี่ยนแปลงไปในปี 2030 จากก่อนหน้าการตอบโต้ทางกำแพงภาษีทั้งสองฝ่าย ผลกระทบที่เกิดขึ้นสำหรับ 50 พันล้านเหรียญสหรัฐอเมริกาแรกมีดังนี้

กำแพงภาษีได้ผลจริงหรือ?

ผลที่ได้ข้างต้น แสดงให้เห็นว่าทฤษฎีที่ Aschauer ใช้แสดงสามารถอธิบายภาพรวมของผลกระทบจากการตอบโต้กำแพงภาษีได้ดี กล่าวคือ การผลิต การส่งออก การนำเข้า และการจ้างงานลดลงทั้ง 2 ฝ่าย แต่ผลกระทบต่อจีดีพีที่จีนได้รับมากกว่า เนื่องจากจีนมีภาคการค้าระหว่างประเทศในจีดีพีที่ใหญ่กว่า แต่ว่าสหรัฐได้รับผลกระทบต่อการส่งออกและการนำเข้าที่รุนแรงกว่า โดยเฉพาะการส่งออก ซึ่งย่อมตามมาด้วยดุลการค้าที่ติดลบมากกว่าเดิม ดังที่ปรากฏออกมาแล้วจากสถิติที่ผ่านมา ส่วนจีนได้รับผลกระทบต่อจีดีพีมากกว่า แต่ว่าลักษณะของผลกระทบมีข้อสมมติฐานที่ว่า สหรัฐจะต้องไม่ยั่วยุประเทศอื่นๆ จนประเทศที่มาร่วมสงครามการค้ามีจำนวนเพิ่มขึ้น แบบจำลองของ CPB พบว่าความรุนแรงของผลกระทบจากการเพิ่มอัตราภาษีศุลกากร จะมีมากในช่วง 0-10% แต่ความรุนแรงจะลดลงหลังจากนั้นจนเกือบจะไม่เพิ่มขึ้นเลยหลัง 15% ไปแล้ว  

เมื่อย้อนกลับไปพิจารณาความยืดหยุ่นของสินค้าเข้าและสินค้าออกของทั้ง 2 ฝ่ายต่อราคาแล้ว ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะเปลี่ยนแปลงไปเป็นดังนี้

กำแพงภาษีได้ผลจริงหรือ?

ผลกระทบข้างต้น ตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ว่าสินค้าเข้าของสหรัฐ หรือสินค้าออกของจีน มีความยืดหยุ่นต่อราคาต่ำ ส่วนสินค้าออกของสหรัฐอเมริกาหรือสินค้าเข้าจีน มีความยืดยุ่นต่อราคาสูง 

นอกจากนี้ ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นยังแปรผันตามลักษณะระบบเศรษฐกิจและตลาดแรงงานด้วย กรณีของสหรัฐน่าจะเป็น imperfect competition ที่ต้นทุนการผลิตลดลงตามปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้นและตลาดแรงงานเป็นแบบ endogenous ที่อุปทานของแรงงานจะแปรผันตามค่าจ้าง ในส่วนของจีนนั้น Bollen and Rojas-Romagosa เห็นว่าน่าจะใกล้เคียงกับ perfect competition ที่ต้นทุนคงที่และอุปทานแรงงานไม่แปรผันตามอุปสงค์แรงงาน ในกรณีหลังสุดนี้ ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะเป็นดังนี้

กำแพงภาษีได้ผลจริงหรือ?

เมื่อเป็นเช่นนี้ จะเห็นได้ว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นจะเปลี่ยนแปลงน้อยมากต่อสมมติฐานของระบบเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศและตลาดแรงงาน อย่างไรก็ตาม ผลกระทบที่เกิดเห็นได้ชัดที่การค้าระหว่างประเทศ ส่วนผลกระทบต่อจีนจะ sensitive กับข้อสมมติฐานของระบบเศรษฐกิจค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาว่าจีนมีโอกาสส่งออกหรือนำเข้าสินค้าประเทศอื่นๆ นอกเหนือจากสหรัฐ ก็นับว่าเป็นทางเลือกที่สหรัฐไม่มี ลักษณะเช่นนี้ยังเป็นสิ่งเตือนใจแก่ผู้ที่จะวิเคราะห์ผลกระทบของกำแพงภาษีต่อจีนว่ามีโอกาสคลาดเคลื่อนสูง 

สิ่งที่ควรสังเกตอีกอย่างหนึ่งคือ ความเปลี่ยนแปลงของตัวแปรทางเศรษฐกิจนอกเหนือจากการส่งออกและนำเข้าแล้ว ถือได้ว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับความผันผวนของตัวแปรพวกนั้นในตลาดปกติ เช่น อัตราการขยายตัวของจีดีพี อัตราดอกเบี้ย และ อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ เป็นต้น 

แต่ที่แน่ๆ คือ กำแพงภาษีช่วยลดความไม่สมดุลของการค้าได้น้อยมาก