สถิติบอกว่า3 เดือนข้างหน้า ตลาดหุ้นสหรัฐฯยังจะสูงกว่าวันนี้

สถิติบอกว่า3 เดือนข้างหน้า ตลาดหุ้นสหรัฐฯยังจะสูงกว่าวันนี้

ถ้าหากดูจากเหตุการณ์ที่รอเราอยู่ในเดือนมิ.ย. นี้ จะพบว่า มีอยู่ 2 เหตุการณ์ที่นักลงทุนจับตาอย่างใกล้ชิด

เพราะเชื่อว่าน่าจะมีผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงราคาของสินทรัพย์ด้านการลงทุนทั่วโลกไม่มากก็น้อย นั้นก็คือ การประชุม FOMC วันที่ 18-19 มิ.ย. สัปดาห์นี้ และ การประชุม G20 ที่เมืองโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่นวันที่ 28-29 มิ.ย.

ขอพูดถึงประเด็นหลังก่อนนะครับ การประชุมครั้งนี้ นักวิเคราะห์ต่างคาดการณ์ว่า มีควาสำคัญต่อการกำหนดกลยุทธ์การลงทุนค่อนข้างมาก สาเหตุเพราะ จะเป็นเวทีที่ปธน.โดนัล ทรัมป์ จะได้พบกับ ปธน. สี จิ้นผิง ซึ่งอาจจะนำมาซึ่งข้อตกลงบางอย่างที่ทำให้อุณหภูมิการเจรจาสงครามการค้าเย็นลงก็เป็นไปได้

ผลจะออกมาอย่างไร ยังถือว่า ประเมินได้ยาก จากบุคคลิกที่ไม่เหมือนผู้นำในอดีตอย่างปธน.ทรัมป์ และ การเติบโตทั้งในแง่เศรษฐกิจและความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีของจีน ทำให้จีนน่าจะไม่ยอมอ่อนข้ออย่างเช่นประวัติศาสตร์ในอดีตที่ผ่านมา แต่ส่วนตัว ผมมองว่า เกมส์การท้าชิงครั้งนี้ คือ เกมส์ยาว ที่จะทำให้คนดูต้องส่งแรงเชียร์ให้กับฝ่ายที่ตัวเองสนับสนุน และคงเป็นที่กล่าวชวัญกันอีกอย่างน้อยๆก็ครึ่งทศวรรษหลังจากนี้ คล้ายๆกับการถามหานักฟุตบอลว่าใครเก่งกว่ากันระหว่าง คริสเตียนโน โรนัลโด้ กับ ลีโอเนล เมสซี่ หรือในโลกของเทนนิสยุคของ ราฟาเอล นาดาล กับ โรเจอร์ เฟดเดอร์เรอ อีกทั้ง ตัวสงครามการค้าหรือ Trade Wars ก็ลุกลามกลายเป็นสงครามเทคโนโลยี (Tech Wars) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว การจะจบลงด้วยการพูดคุยเพียงครั้งเดียว น่าจะเป็นไปได้ยาก เราไม่ควรคาดหวังมากกว่านั้น

กลับมาที่การประชุมเฟด หรือ FOMC ซึ่งอาจจะน่าสนใจกว่า ในมุมที่ว่า เรารู้ว่ามีผลต่อต้นทุนการเงินของโลก และบ่งชี้มุมมองเศรษฐกิจในอนาคตได้ระดับหนึ่ง ซึ่งจนถึงตอนนี้ หากมองผ่าน Fed Fund Futures ที่ตลาด CME ก็ต้องบอกว่า โอกาสที่เฟดจะลดดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้ มีเพียง 20% เท่านั้น แต่โอกาสกลับเพิ่มขึ้นมากกว่า 80% เมื่อไปดูโอกาสที่จะลดดอกเบี้ยในการประชุมครั้งถัดไปซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 31 ก.ค. คำถามคือ ทำไมตลาดถึงเชื่อว่า เฟดจะเริ่มลดดอกเบี้ยแล้ว ทั้งๆที่ปัจจุบันระดับ Fed Fund Rate อยู่ที่ 2.25-2.50% เพียงเท่านั้น?

เพราะหากดูจาก Dotplot ก็จะพบว่า คณะกรรมการ FOMC มองว่า ปีนี้จะไม่ขึ้นดอกเบี้ย (และไม่ได้จะลดดอกเบี้ย) แถมในเดือนมี.ค. ปีหน้า อาจจะมีการเพิ่มดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งด้วย แต่กลายเป็นว่า นักลงทุนในตลาดมองต่างจากเฟดไปแล้ว สาเหตุหนึ่งก็คือ Dotplot เพิ่งเริ่มมีการนำมาใช้สื่อสารกับตลาดในปี 2011 ซึ่งเป็นช่วงแรกๆของดอกเบี้ยขาขึ้นจนถึงวันนี้ นั่นก็หมายความว่า Dotplot ยังไม่เคยถูกใช้ในช่วงดอกเบี้ยขาลง นักลงทุนจึงอาจมองว่า สิ่งนี้มีโอกาสเปลี่ยนแปลงได้

ความเห็นของประธานเฟดสาขาย่อย อย่างกรณีเจมส์ บูลลาร์ด ประธานเฟดสาขาเซนหลุยส์ ที่มองว่า การลดดอกเบี้ยลงอย่างน้อยหนึ่งครั้ง จะช่วยลดความเสี่ยงกรณีเศรษฐกิจชะลอตัวรุนแรง และช่วยหยุดการที่ Inflation Expectation ชะลอลงได้ ความเห็นเช่นนี้ ถือว่ามีน้ำหนักในช่วงที่สหรัฐฯกำลังทำสงครามการค้ากับประเทศต่างๆ ซึ่งอาจได้รับผลกระทบเชิงลบจากมาตรการการคลังก็เป็นไปได้

ที่เราต้องคิดต่อก็คือ Fed Fund Rate ระดับนี้ ต่ำกว่า จุดสูงสุดก่อนจะเกิดวิกฤต Dotcom ซึ่งอยู่ที่ระดับ 6.50% และก่อนวิกฤต Subprime ซึ่งในตอนนั้นอยู่ที่ 5.25% คำถามที่เป็นข้อถกเถียงอย่างมากในตอนนี้ก็คือ หากสหรัฐฯสิ้นสุดภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น และกำลังเข้าขาลงของดอกเบี้ยแล้วจริงๆ ด้วยกระสุนที่มีอยู่ในมือตอนนี้ เปรียบเทียบกับปี 2000 และปี 2007 ถือว่ามีเครื่องมือในมือน้อยเกินไปหรือเปล่า จะมีแรงต้านทานกับภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจในรอบหน้าที่อาจจะมาถึงได้หรือไม่

กลับกันนะครับ มีตัวเลขหนึ่งที่น่าสนใจ ตัวเลขนี้ก็คือ Equity Put/Call Ratio หรือ อัตราการการทำ Put กับ Call Option ในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ซึ่งนักวิเคราะห์ที่ฝั่งโน้นเขาเก็บตัวเลขมาตั้งแต่ปี 2000 พบว่า ในช่วง 3 วันทำการ หากอัตราส่วน Put/Call Ratio พุ่งขึ้นมากกว่า 20% (แปลว่า มีนักลงทุนต้องการเปิด Put Option มากขึ้น) ซึ่งในอดีตเกิดขึ้นมาแล้วทั้งหมด 16 ครั้ง พบว่า 3 เดือนหลังจากนั้น มีโอกาสถึง 81% ที่ตลาดหุ้นจะปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉลี่ย 2.24% และอีก 12 เดือนหลังจากนั้นมีโอกาสสูงถึง 94% หรือ 15 ครั้งจากทั้งหมด 16 ครั้ง ที่จะให้ผลตอบแทนเป็นบวก โดยบวกได้เฉลี่ย 5.47% ทีเดียว ซึ่งล่าสุด ครั้งที่ 17 เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 12 มิ.ย. ที่ผ่านมานี้เอง

คุณจะอ่านข่าว วิเคราะห์ดู และเอาความกังวลมาใส่รวมกันจนเกิดเป็นพอร์ตแบบเสี่ยงต่ำ ถือแต่เงินสด ก็อาจทำได้ หรือจะเดินหน้า เน้นทำ Asset Allocation หวังผลตอบแทนในระยะยาวๆ ข้ามทุกความผันผวนไป ลองพิจารณากันดูครับ