ปัญหาโลกร้อนฮอตไม่ต่างจากปัญหาการเมือง

ปัญหาโลกร้อนฮอตไม่ต่างจากปัญหาการเมือง

สำนักข่าวไทยพับลิกาได้เรียบเรียงข้อมูลจาก Cleantechnica,new.un.org,lifegate,independent. ระบุว่า การประชุมภาคีแห่งสหประชาชาติ

ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 24 (24th Conference of the Parties of United Nations Framework Climate Change Convention) หรือ COP 24 เมื่อวันที่ 2 ธ.ค.2018 ที่เมืองคาโตวีตเซ ประเทศโปแลนด์ สามารถกำหนดแนวทางปฏิบัติหลักเกณฑ์ใหม่ตามข้อตกลงปารีสที่ได้ลงนามกันตั้งแต่ปี 2015 ที่ทุกประเทศให้คำมั่นว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง เพื่อลดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส หรือไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส

ในการประชุมครั้งนี้ Lise Kingo เลขาธิการ UN Global Compact กล่าวเรียกร้องให้ภาคธุรกิจตั้งเป้าหมายบนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และเพิ่มความมุ่งมั่นในการลดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกให้มากขึ้น เพราะเป็นแนวทางเดียวที่จะบรรลุเป้าหมายตามข้อตกลงปารีสและเป้าหมายความยั่งยืนในปี 2030 ได้ ทั้งนี้ UN Global Compact มีภาคีเครือข่ายว่า 9,500 ราย ทั้งธุรกิจเอกชนขนาดเล็กและขนาดใหญ่ซึ่ง เกือบครึ่งหนึ่งของบริษัทใน Fortune 500 ตั้งเป้าลดการใช้พลังงานและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยในปี 2016 มี 190 บริษัทในกลุ่มนี้สามารถประหยัดเงินได้ 3.7 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นผลจากการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง

ระหว่างการประชุม มีบริษัทแฟชั่นชั้นนำจำนวน 24 แห่ง เช่น Adidas Esprit Guess Gap Hugo Boss H&M Levi Strauss&CO., Puma เป็นต้น ได้ร่วมลงนามใน Fashion Industry Charter for Climate Action ซึ่งสอดคล้องกับข้อตกลงปารีส โดยมีเป้าหมายที่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เท่ากับศูนย์ในปี 2050 พร้อมระบุประเด็นที่ต้องจัดการในทุกขั้นของการผลิต ที่รวมไปถึงการใช้วัสดุที่สร้างความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม ขนส่งด้วยระบบขนส่งที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำ การสร้างความตระหนักให้กับผู้บริโภค 

“สำหรับประเทศไทยบริษัทธุรกิจขนาดใหญ่หลายแห่งได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวพร้อมหามาตรการและกำหนดเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกันอย่างจริงจังเช่นเดียวกัน”

แต่ถ้าเป็นสถาบันที่ไม่แสวงหากำไรที่รณรงค์และดำเนินการเรื่องสิ่งแวดล้อมแล้วหวนนึกถึงสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ซึ่งอดีตนายกรัฐมนตรี ท่านอานันท์ ปันยารชุน กล่าวว่า เมื่อสัก 30 กว่าปีก่อน สมัยที่ผมเป็นนายกรัฐมนตรี ความตื่นตัวเรื่องสิ่งแวดล้อมของเมืองไทยค่อนข้างน้อย เพราะเราถือเป็นสิ่งที่ธรรมชาติให้มา จึงไม่ค่อยสนใจกัน แต่พอเศรษฐกิจขยายตัวเติบโตขึ้น สภาพเมืองไทยมีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก มีการถมคูคลอง ขยายถนน ตัดต้นไม้เพื่อใช้ที่ดินทำไร่ทำสวน สิ่งสกปรกต่างๆ ถูกโยนลงแม่น้ำลำคลอง เกิดมลพิษมาก ตอนนั้นก็มีประกาศใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อมเป็นครั้งแรก (พระราชบัญญัติคุ้มครองและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535) แต่ก็ยังไม่พอ คิดว่าต้องตั้งสถาบันขึ้นมาทำงานเฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อมจริงๆ ก็ได้ ดร.ธีระ พันธุมวนิช เป็นหัวเรือใหญ่ รับเป็นประธานคนแรก”นี่คือที่มาของการก่อตั้งมูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย เพื่อเป็นองค์กรหลักด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศ

มูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย หรือเรียกกันว่า TEI (Thailand Environment Institute) เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม ก่อตั้งเมื่อ ปี 2536 โดยศึกษาวิจัยและนำเสนอนโยบายสิ่งแวดล้อม เป็นที่ปรึกษาและสนับสนุนหน่วยงานต่างๆ ในการจัดการสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ดำเนินการพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเป็นหน่วยให้การรับรองฉลากสิ่งแวดล้อม จัดทำมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม และดำเนินสาธารณประโยชน์ต่างๆ

จากอดีตถึงปัจจุบัน TEI ได้ทำงานร่วมกับกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลายในสังคม ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ธุรกิจเอกชน ชุมชน องค์กรพัฒนาเอกชน สถาบันการศึกษา และองค์กรระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมเมืองน่าอยู่ พัฒนาเมืองเพื่อปรับตัวและรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ให้การรับรองผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สนับสนุนนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 

อีกทั้งยังจัดการอบรมด้านมลพิษอุตสาหกรรมและหลักสูตรอื่นๆ ที่อยู่ในความสนใจของสังคม ขับเคลื่อนการจัดการทรัพยากรธรรมชาติโดยชุมชนในพื้นที่ต้นน้ำและพื้นที่ชายฝั่งทะเล ศึกษาวิจัยเพื่อจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย รวมถึงติดตามประเมินความก้าวหน้าของนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อมที่สำคัญของประเทศ

กว่า 20 กว่าปี ถือว่า TEI เป็น “องค์กรคลังสมอง (Think Tank) ด้านสิ่งแวดล้อมที่ดีที่สุด และได้รับการยกย่อง จากมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย ประเทศสหรัฐ ติดต่อกันเป็นปีที่ 7 ซึ่งเป็นบทพิสูจน์อีกประการหนึ่งว่า TEI มีความพร้อมในการเป็นองค์กรหลักด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศ ที่จะร่วมกับทุกฝ่ายขับเคลื่อนการพัฒนาให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs (Sustainable Development Goals) ด้วยความรู้ลึก สำนึกดี ภาคีวางใจ และรับใช้สังคม

ถึงเวลาแล้วที่ทุกภาคส่วนต้องให้ความร่วมมือกันอย่างจริงจังในการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนเพื่อลดภัยพิบัติต่างๆที่นับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้นและต้องสูญเสียทั้งชีวิต ทรัพย์สินเป็นจำนวนมหาศาลในแต่ละครั้ง เรื่องนี้จึงฮอตไม่ต่างจากการเมืองของไทยและทั่วโลก

โดย... ดร.วัฒนา โอภานนท์อมตะ