“หนองจิก” งานวิจัยกับความเป็นพลเมือง

“หนองจิก” งานวิจัยกับความเป็นพลเมือง

เมืองเก่าสงขลา เป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์มายาวนานตั้งแต่ยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ในฐานะเมืองท่าและศูนย์กลางการเดินทางทางทะเล

โดยการอยู่ร่วมกันของคนหลายชาติพันธุ์หลากหลายของวัฒนธรรม ได้สร้างวัฒนธรรมเฉพาะตัวที่มีเอกลักษณ์ คือ "สามหลักผสานเกลียวเป็นหนึ่งเดียวในบ่อยาง" (ย่านเมืองเก่าสงขลาอยู่ใน ต.บ่อยาง)ที่สะท้อนการอยู่ร่วมกันของชาวไทยพุทธ จีน และมุสลิม ผ่านสถาปัตยกรรม สิ่งก่อสร้างและวิถีชีวิต เป็นเสน่ห์ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากภายนอกแต่ขณะเดียวกันก็พบว่าส่วนหนึ่งของคนเมืองเก่าสงขลากลับมองข้ามคุณค่าแห่ง “รากเหง้า” ของตนเอง โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนที่จะเป็นผู้มาดูแลพื้นที่แห่งนี้ต่อไป 

นั่นจึงเป็นที่มาของโครงการวิจัยการเสริมสร้างพลังท้องถิ่น ด้านคุณค่า มูลค่า และการสืบสานมรดกวัฒนธรรม "เมืองเก่าสงขลา"ให้เข้มแข็งสู่การเป็นเมืองมรดกเราและเมืองมรดกโลก  ของสถาบันอาศรมศิลป์ ภายใต้ทุนท้าทายไทย โดยการสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ที่เป็นงานวิจัยเชิงปฏิบัติการเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมใน โดยใช้พิ้นที่ ตำบลหนองจิก ซึ่งเป็นพื้นที่ยังมี การอยู่อาศัยและมีร้านค้าประกอบการในตัวอาคารที่ยังคงรูปแบบสถาปัตยกรรมเดิมไว้ ที่สำคัญและคนในชุมชนก็ยังสามารถบอกเล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของย่านและบ้านตนได้

ผลสำเร็จของชุดโครงการวิจัยในปีแรก (2560-2561) นอกเหนือจากการเข้าไปหนุนเสริมหน่วยงานระดับจังหวัด กระทั่งเกิดแผนแม่บทการบริหารจัดการโครงการปรับปรุงแหล่งโบราณสถานและสถานที่สำคํญทางประวัติศาสตร์ (สงขลาสู่มรดกโลก) จนทำให้พื้นที่หนองจิก กลายเป็นพื้นที่ต้นแบบ "ถนนเรียนรู้ คู่วัฒนธรรม (ชุมชนเก้าห้อง-หนองจิก-นางงาม)"แล้ว หนึ่งในสามของงานวิจัยภายใต้ชุดโครงการนี้ยังได้ทำให้เห็นรูปธรรมของการจะทำให้คนรุ่นหลังมีจิตสำนึกของความเป็นพลเมืองที่รักในความเป็นเมืองเก่าสงขลาและต้องการสืบทอดมรดกเหล่านี้สืบไป

งานวิจัยของเราเมื่อปีที่ผ่านมา ใช้กระบวนการวิจัยแบบมีส่วนร่วมเพื่อดึงมีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนมาทำงานวิจัยร่วมกัน เกิดเป็นภาคีเครือข่ายที่ประกอบด้วยนักวิชาการ ปราชญ์ท้องถิ่น ชุมชนเก้าห้องถนนหนองจิก-นางงาม องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลาและเทศบาลนครสงขลา รวมทั้งผู้บริหารและครูจาก 10 โรงเรียนในพื้นที่สงขลา ด้วยโจทย์ร่วมกันคือนำความรู้ คุณค่า และภูมิปัญญาท้องถิ่นในพื้นที่ มาบูรณาการเป็นแผนการสอนและกิจกรรมการเรียนรู้ ที่สุดท้ายทำให้เราได้หลักสูตรท้องถิ่น เยาวชนรักษ์ถิ่นสงขลา สามหลักผสมเกลียวเป็นหนึ่งเดียวในบ่อยางและชุดการเรียนรู้ตามอัธยาศัย ถนนเรียนรู้คู่วัฒนธรรมชุมชนเก้าห้อง ถนนหนองจิก-นางงามขึ้นมา”  

ปัจจุบัน ทั้ง 10 โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการวิจัย ได้นำ ตัวหลักสูตรและชุดการเรียนรู้นี้ไปทดอลงการสอนในโรงเรียนของตนเองในปีการศึกษาที่ผ่านมา และทำให้เริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงทั้งในตัวเด็กและครู เช่น ในกิจกรรมทัศนศึกษาที่จะพาเด็กๆ ไปรู้จักชุมชนนั้น ทางโรงเรียนและคุณครูก็จะมีการสร้างความเข้าใจให้เด็กก่อน เน้นการพาไปดูแบบมีความหมาย ให้เด็กได้พูดคุยกับคนในชุมชนเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของพื้นที่ ทั้งหมดนี้ทำให้เด็กได้เรียนรู้และได้เชื่อมโยงตัวเองกับสถานที่และผู้คน นำไปสู่ความรู้สึกความผูกพันกับชีวิตของคนและสถานที่แห่งนี้ เห็นได้จากในกิจกรรมการนำเสนอผลงานทางวิชาการของเด็กๆ ที่เด็กได้เลือกนำสิ่งที่เขาเห็นจากไปทัศนศึกษาในพื้นที่ ไปพูดคุยกับคนในชุมชน มาเป็นหัวข้อนำเสนอ

การวิจัยยังมองถึงการเชื่อมโยงไปสู่การเรียนรู้ตามอัธยาศัย โดยเฉพาะกับคนในชุมชน เช่น การเรียนรู้เชิงวิชาชีพด้วยการทำงานกับภาคีเครือข่ายผ่านช่องทางต่างๆ เช่น กิจกรรมการสร้างบอร์ดเกม การทำคลิป แผนที่คนดี ผลิตภัณฑ์เมืองเก่า เป็นต้น

นอกเหนือจากกสร้างแรงบันดาลใจให้โรงเรียนและครู ด้วยการสร้างหลักสูตรแล้ว การผลักดันเชิงนโยบายให้หน่วยงานรับผิดชอบมีการผนวกหลักสูตรนี้เข้าไปอย่างเป็นรูปธรรม และชัดเจนก็เป็นสิ่งที่ต้องทำให้เกิดขึ้นพร้อมไปกับการทำให้เด็กที่จะเติบโตมาทดแทนคนรุ่นปัจจุบันได้เห็นว่าคุณค่าเหล่านี้ มันสามารถแปลงเป็นทุนในการดำเนินชีวิตของเขาได้ด้วย เขาสามารถมีอาชีพใหม่ๆ จาก “คุณค่าของวัฒนธรรม” ที่มี และทั้งหมดนี้จะทำให้เด็กและเยาวชนในพื้นที่แห่งนี้ เติบโตเป็นพลเมืองที่มีความผูกพัน และต้องการรักษา “รากเหง้า” เหล่านี้ให้คงอยู่ต่อไป

โดย... ดร. อภิษฎา ทองสอาด