ความสุขประชาชนสำคัญกว่าจีดีพี

ความสุขประชาชนสำคัญกว่าจีดีพี

บ่อยครั้งที่ผมพูดเรื่องเศรษฐกิจ จะมีคำถามจากผู้ฟังให้ช่วยขยายความคำว่า “จีดีพี” ที่มักจะพูดถึงกันเสมอเมื่อพูดเรื่องเศรษฐกิจ

เพราะคนที่ไม่ได้เรียนวิชาเศรษฐศาสตร์จะไม่คุ้นกับคำนี้ ที่สำคัญในบ้านเรา นักการเมืองจะหมกหมุ่นกับตัวเลขจีดีพีมาก เป็นกันแทบทุกพรรค เพราะตัวเลขจีดีพีที่สูงแทบเหมือนผลงานหรือความสำเร็จของการบริหารประเทศ ใช้เกทับฝ่ายตรงข้ามได้ว่า สามารถทำให้เศรษฐกิจขยายตัววัดจากตัวเลขจีดีพีได้ดีกว่า แม้ตัวเลขจะต่างกันเป็นจุดทศนิยม ถือเป็นแพ้ชนะกันเลย สะท้อนความไม่รู้และการอยากเอาชนะกัน ของนักการเมืองด้วยตัวเลขจีดีพี

วันนี้จึงอยากอธิบายเรื่องนี้ และอยากให้ข้อคิดว่าตัวเลขจีดีพีไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของการบริหารเศรษฐกิจ แต่ที่สำคัญจริงๆ และถือเป็นความสำเร็จก็คือ ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของคนในประเทศ

จีดีพี ย่อมาจากคำว่า Gross Domestic Product หรือ รายได้ประชาชาติ ที่วัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในประเทศในแต่ละปี นักเศรษฐศาสตร์จะนับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในแต่ละปี จากผลผลิตของสินค้าและบริการที่เกิดขึ้น เช่น ข้าวปลูกได้กี่ตัน สินค้าผลิตได้กี่ชิ้น จากนั้นก็จะคูณปริมาณสินค้าที่ผลิตได้ด้วยราคาต่อหน่วยเพื่อให้ได้มูลค่า และนำมูลค่าสินค้าและบริการต่างๆ ที่ผลิตได้มาบวกรวมกันเป็นตัวเงิน นั้นคือมูลค่าของสินค้าและบริการที่ระบบเศรษฐกิจผลิตได้ในแต่ละปี จากนั้นก็ทอนกลับเป็นปริมาณด้วยดัชนีราคาสินค้าเฉลี่ยของทั้งประเทศ เพื่อให้ได้มูลค่าของผลผลิตในราคาคงที่ คือวัดมูลค่าของผลผลิตที่เกิดขึ้นโดยไม่รวมผลการเปลี่ยนแปลงของราคา ตัวเลขที่ได้ก็คือ รายได้ประชาชาติหรือจีดีพีแท้จริง ที่วัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นที่สามารถเปรียบเทียบได้ปีต่อปี เพราะไม่มีผลของราคา เช่น ถ้าพูดว่า เศรษฐกิจปีนี้โตร้อยละ 3.5 ก็หมายความว่า มูลค่าของกิจกรรมทางเศรษฐกิจปีนี้วัดในราคาคงที่เพิ่มจากปีที่แล้ว 3.5 เปอร์เซนต์ หรือหมายความว่า รายได้หรือจีดีพีแท้จริงของระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 จากปีที่แล้ว

แนวคิดจีดีพี ถูกพัฒนาขึ้นมาโดยนักเศรษฐกิจรางวัลโนเบล ชาวอเมริกัน นายไซมอน คุสเนสท์ (Simon Kuznets) เมื่อปี 1934 เพื่อใช้ประมาณการกิจกรรมทางเศรษฐกิจในแต่ละปี ถือเป็นต้นกำเนิดของระบบบัญชีรายได้ประชาชาติ และการวางแผนเศรษฐกิจที่ภาคทางการใช้การขยายตัวของจีดีพีเป็นเป้าหมายในการบริหารเศรษฐกิจ ซึ่งนายคุสเนสท์ ได้ย้ำอยู่เสมอว่า จีดีพี วัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ไม่ใช่ตัววัดความกินดีอยู่ดีของประชาชน

80 ปีที่ผ่านมา ตัวเลขจีดีพีได้ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในการวัดการเติบของเศรษฐกิจ ถือเป็นมาตรฐานสากล มีการนำตัวเลขจีดีพีของประเทศต่างๆ มาเปรียบเทียบกันเพื่ออธิบายความแตกต่างในการเติบโตของเศรษฐกิจแต่ละประเทศ และในหลายประเทศ นักการเมืองจะหมกหมุ่นกับตัวเลขจีดีพี เพราะมองอัตราการขยายตัวที่สูงของจีดีพี คือ ความสำเร็จของการบริหารเศรษฐกิจ แต่ช่วงแปดสิบปีที่ผ่านมา สิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์เรียนรู้จากตัวเลขจีดีพี ก็คือ

หนึ่ง ตัวเลขจีดีพี เป็นตัวเลขประมาณการ มีความคลาดเคลื่อนสูง และความแม่นยำของตัวเลขจีดีพีจะขึ้นอยู่กับความละเอียดของวิธีประมาณการที่ใช้ และคุณภาพของข้อมูลที่ประเทศมี

สอง ตัวเลขจีดีพีที่สูง หรือเศรษฐกิจขยายตัวสูงไม่ได้หมายความว่า ทุกคนในประเทศจะมีรายได้สูงตามไปด้วย นั่นก็เพราะโครงสร้างการกระจายรายได้ในประเทศอาจบิดเบือนมาก ทำให้อัตราการเพิ่มของรายได้ของกลุ่มคนต่างๆ ไม่เท่ากัน หรือแตกต่างกันมาก เช่น คนรวยรายได้เพิ่มมากกว่าคนจนหลายสิบเท่า ทำให้ความเหลื่อมล้ำในประเทศมีมากขึ้น ด้วยเหตุนี้ อัตราการขยายตัวของจีดีพีที่สูง จึงไม่ได้หมายความว่า ความกินดีอยู่ดีของประชาชนส่วนใหญ่จะดีขึ้นตาม​

สาม ความสุขของคนในประเทศไม่ได้อยู่ที่ตัวเลขจีดีพี แต่ความสุขของคนในประเทศมาจากการมีมาตรฐานความเป็นอยู่ที่ดี ซึ่งอาจรวมถึงความเป็นอยู่ในสังคมที่ปลอดภัย มีสิ่งแวดล้อมที่ดี และประชาชนในสังคมเกื้อกูลกัน

ทั้งสามประเด็นนี้สำคัญในแง่การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ กล่าวคือ รัฐบาลที่มุ่งทำให้เศรษฐกิจมีการขยายตัวสูง อาจสร้างความเหลื่อมล้ำในระบบเศรษฐกิจให้มีมากขึ้น ขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้ประโยชน์จากการเติบโตของเศรษฐกิจและไม่มีความสุข เพราะสิ่งแวดล้อมอาจถูกทำลาย ความเป็นสังคมที่ดีอาจเสื่อมลงจากการขยายตัวที่สูงของเศรษฐกิจที่สร้างปัญหาตามมามากมาย

ในประเด็นนี้ นายโรเบิร์ต เคเนดี้(Robert Kennedy) อดีตวุฒิสมาชิกและอดีตอัยการสูงสุดสหรัฐ พูดไว้ได้ดีมาก 3 เดือนก่อนที่เขาจะถูกลอบสังหารเมื่อเดือนมิ.ย. ปี 1968 ว่า จีดีพีวัดทุกอย่างในระบบเศรษฐกิจ แต่ไม่ได้วัดสิ่งที่สำคัญที่สุดต่อคนในสังคม นั่นก็คือ คุณภาพชีวิตของประชาชน สุขภาพ คุณภาพการศึกษา การถกเถียงอย่างมีเหตุมีผล และความซื่อตรง(Integrity) ของเจ้าหน้าที่รัฐ คือวัดทุกอย่าง ยกเว้นสิ่งที่สำคัญต่อสังคม #Robert Kennedy GDP

ล่าสุด ข้อมูลจากรายงานความสุขโลก ปี 2019 (World Happiness Report 2019) ก็ชี้ชัดเจนว่า ประเทศที่ประชาชนมีความสุขมากที่สุด ไม่ใช่ประเทศที่มีอัตราการขยายตัวของจีดีพีสูงสุด รายงานนี้คลอบคลุม 156 ประเทศทั่วโลกรวมถึงไทย โดยประชาชนในกลุ่มตัวอย่างของแต่ละประเทศจะให้คะแนนความสุขเป็นขั้นบันได จาก 0 ถึง 10 คือ ยิ่งมากยิ่งมีความสุข จากนั้นคะแนนความสุขของแต่ละประเทศจะถูกนำมาวิเคราะห์แยกแยะตามปัจจัยความสุขหกปัจจัย ได้แก่ อายุคาดหวังเฉลี่ย(Life Expectancy) การเกื้อกูลในสังคม(Social Support) ความเป็นอิสระที่จะตัดสินใจเกี่ยวกับชีวิตของตนเอง รายได้ประชาชาติหรือจีดีพี ความใจกว้างหรือการบริจาคช่วยเหลือกัน(Generosity) และการทุจริตคอร์รัปชั่น ผลที่ออกมา คือ ประเทศในกลุ่มยุโรปตอนบนได้คะแนนความสุขสูงสุด ที่หนึ่งของโลกคือประเทศฟินแลนด์ ตามด้วยเดนมาร์ก และนอร์เวย์

คะแนนความสุขของไทยอยู่อันดับ 52 ของโลก ต่ำกว่าสิงคโปร์ แต่สูงกว่าหลายประเทศในเอเชีย รวมถึงจีน ฮ่องกง ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ซึ่งปัจจัยความสุขที่มีอิทธิพลต่อคะแนนความสุขของคนไทยมากที่สุด คือ การบริจาคช่วยเหลือกัน ความมีอิสระในการตัดสินใจเกี่ยวกับชีวิตตนเอง และการเกื้อกูลในสังคม ตามด้วย อายุคาดหวังเฉลี่ยและจีดีพี และที่แย่ที่สุดต่อความสุขของคนไทย คือการทุจริตคอร์รัปชั่น

ข้อมูลดังกล่าวจึงชี้ชัดเจนว่า จีดีพี ไม่ใช่คำตอบสุดท้ายที่ประชาชนต้องการในการบริหารเศรษฐกิจ แต่เป็นความเข้มแข็งของการดำเนินนโยบายที่จะนำมาสู่ชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของคนในประเทศ ในสังคมที่อยู่กันอย่างมีเหตุผลและเกื้อกูลกัน และที่สำคัญในกรณีของประเทศไทยคือ ปัญหาคอร์รัปชั่นที่ทำให้คนไทยไม่มีความสุข เป็นปัญหาสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไข นี่คือสิ่งที่จะทำให้คนในประเทศมีความสุข ไม่ใช่ตัวเลขจีดีพีที่ขยายตัวสูง ไม่ใช่กัญชา หรือการแจกเงิน เป็นข้อเท็จจริงที่ผู้นำประเทศและนักการเมืองต้องรับรู้และต้องเข้าใจในฐานะผู้แทนประชาชน