คิดอนาคตท่องเที่ยวไทย High Risk-High Return (1)

คิดอนาคตท่องเที่ยวไทย High Risk-High Return (1)

ประเทศไทยไม่ได้พึ่งพารายได้จากการส่งออกสินค้าแต่เพียงอย่างเดียวอีกต่อไปแล้ว เนื่องจากการนำเข้าจำนวนมากมีจุดประสงค์

เพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าส่งออก ทำให้ในความเป็นจริงแล้วรายได้จากการท่องเที่ยวอยู่ในระดับที่สูสีกันกับปริมาณการส่งออกสินค้าสุทธิ นอกจากนี้รายได้จำนวนไม่น้อยที่มาจากการส่งออกก็ตกอยู่ในมือของบริษัทต่างชาติ ซึ่งต่างจากรายได้จากการท่องเที่ยวที่ส่วนใหญ่เป็นของคนไทยด้วยกันเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการท่องเที่ยวที่แผ่ขยายไปยังชุมชน ท้องถิ่น เม็ดเงินรายได้เข้ากระเป๋าพี่น้องประชาชนคนไทยและพัฒนาระบบเศรษฐกิจฐานราก (Local Economy) อย่างแท้จริง

การท่องเที่ยว คือภาคบริการซึ่งถือเป็นร่มใหญ่ที่สุดของเศรษฐกิจไทยในทุกวันนี้ โดยในปี 2561 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาเที่ยวเมืองไทยมากกว่า 38 ล้านคน รายได้จากการท่องเที่ยวไทยทะยานสูงขึ้นติดอันดับ 4 ของโลก นอกจากนี้อัตราการขยายตัวของรายได้สูงกว่าจำนวนนักท่องเที่ยวสะท้อนถึงการเติบโตในเชิงคุณภาพนับว่ามีสัญญาณที่ดี

ในอดีตประเทศไทยพึ่งพาภาคเกษตรเป็นหลัก ซึ่งปกติแล้วภาคการเกษตรก็มีความเสี่ยงจากดินฟ้าอากาศ การเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ โดยปัจจุบันเทคโนโลยีสมัยใหม่หรือระบบชลประทานก็สามารถช่วยลดความเสี่ยงดังกล่าวลงไปได้ ที่ผ่านมาประเทศไทยหันมาพัฒนามาสู่ภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะเพื่อตอบโจทย์การส่งออกเป็นหลัก ซึ่งขึ้นกับสภาวะตลาดโลกและขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

ปัจจุบันภาคการท่องเที่ยวของไทยมีแนวโน้มที่จะขยายตัวแบบก้าวกระโดด  ลองนึกภาพว่าประชากรจีนที่มีนับ 1,400 ล้านคน ถ้ามาเที่ยวเมืองไทยเพียงแค่ 10% ก็จะทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่า แต่สิ่งที่เราไม่ควรลืม ก็คือความไม่แน่นอนที่สูงกว่าภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรมอย่างยิ่งยวด ดังที่ประเทศไทยเพิ่งประสบมาเมื่อไม่นานมานี้ เช่น อุบัติเหตุทางเรือและปัญหาหมอกควันสามารถทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงไปอย่างน่าใจหายภายในเวลาชั่วข้ามคืน

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆที่จะมีผลกระทบต่อการท่องเที่ยวอีกหลายปัจจัย ยกตัวอย่างเช่น

โซเชียลมีเดีย ที่ขยายตัวรวดเร็วและรุนแรง ซึ่งทำให้ข่าวร้ายเกี่ยวกับการท่องเที่ยวดังที่ยกตัวอย่างไปแพร่กระจายและมีผลกระทบมากขึ้นเป็นทวีคูณ

เศรษฐกิจการแบ่งปัน (Sharing Economy) ก็ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวแบบดั้งเดิม คนรุ่นใหม่นิยมเดินทางด้วยตนเองมากขึ้น ต้องการสัมผัสประสบการณ์ วัฒนธรรมพื้นถิ่น ผู้คน และหันมาใช้แพลตฟอร์ม Sharing Economy มากขึ้น เช่น Airbnb UBER และ Grab ขณะนี้ Sharing Economy เติบโตขึ้นอย่างมากในหลายประเทศและเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์พฤติกรรมนักท่องเที่ยว ดังนั้นไทยจะปรับโมเดลตอบรับพฤติกรรมการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่เหล่านี้ได้อย่างไร เพราะภาคการท่องเที่ยวก็มีความเสี่ยงจาก Sharing Economy คือรายได้ส่วนใหญ่จะไปตกที่เจ้าของแพลตฟอร์ม และผู้ประกอบการรายย่อยที่ไม่สามารถปรับตัวได้ทันโมเดลธุรกิจใหม่ก็อาจจะตกรถไฟขบวนนี้

เทคโนโลยีโลกเสมือนจริง (Virtual Reality: VR) อาจมีส่วนสำคัญทำให้การท่องเที่ยวเสี่ยงที่จะหยุดชะงัก เทคโนโลยี VR ถูกใช้เป็นหลักในการเล่นวิดีโอเกม แต่ตอนนี้เริ่มนำมาใช้ในการส่งเสริมการท่องเที่ยวแล้ว ความท้าทายคืออาจมีนักเที่ยวบางกลุ่มที่สามารถได้รับประสบการณ์ในสถานที่ท่องเที่ยวได้โดยไม่จำเป็นต้องลุกขึ้นจากโซฟาที่บ้าน ก็อาจจะไม่เดินทางไปเที่ยวจริงก็ได้

หุ่นยนต์และเอไอ ในอนาคตเร็วๆนี้จะมีผู้ช่วยด้านการท่องเที่ยวแบบหุ่นยนต์และเอไอ ที่สามารถพูดสื่อสารได้หลายภาษาและสามารถเข้าถึงข้อมูลทั้งหมดที่นักท่องเที่ยวต้องการ จะเข้ามามีบทบาทต่อการท่องเที่ยวมากขึ้น เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว พนักงานการท่องเที่ยวแบบดั้งเดิมจะอยู่อย่างไร 

นอกจากเรื่องความเสี่ยงที่ได้กล่าวมาแล้ว ยังมีความน่ากลัวของคู่แข่งใหม่ๆที่กำลังพัฒนาเรื่องการท่องเที่ยวอีกเช่นกัน เช่น ประเทศจีนมีแหล่งท่องเที่ยวอีกมากมายไม่ว่าทางภูมิศาสตร์หรือวัฒนธรรมที่ยังไม่ได้เปิดรับนักท่องเที่ยวอย่างเต็มที่ เมียนมาร์หรืออินโดนีเซียก็มีแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลที่ยังมีความงดงาม ทางธรรมชาติซึ่งกำลังทยอยเปิดตัว

แม้การท่องเที่ยวเป็นภาคเศรษฐกิจสำคัญ นำเงินตราต่างประเทศเข้ามามาก เป็นแหล่งการจ้างงานถึงกว่า 4 ล้านคน เกิดการเชื่อมโยงและสร้างมูลค่าต่อเนื่องไปยังสาขาอื่นๆ และสร้างรายได้สูงมากกว่า 2 ล้านล้านบาท (สูงเกือบเท่ากับวงเงินงบประมาณแผ่นดินของประเทศ 3 ล้านล้านบาท) แต่หากมองงบประมาณด้านการท่องเที่ยวปี 2562 ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและงบประมาณแผนงานบูรณาการการท่องเที่ยวรวมกันอยู่ในหลักไม่กี่หมื่นล้านบาทเท่านั้น ซึ่งนับว่าน้อยเมื่อเทียบกับงบประมาณด้านอื่น ทำให้ภาคการท่องเที่ยวมีข้อจำกัดในการพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสถานที่ อุปกรณ์ การอำนวยความสะดวก หรือกฎระเบียบ

การท่องเที่ยวเป็นอนาคตของประเทศที่มีศักยภาพมากแต่ในขณะเดียวกันก็มีปัจจัยเสี่ยงสูงเช่นกัน เราจะบริหารจัดการความเสี่ยงเหล่านี้อย่างไรเพื่อให้การท่องเที่ยวเป็นกลจักรสำคัญในการสร้างความเจริญให้กับประเทศในอนาคตได้อย่างยั่งยืน

โดย... 

ณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ 

ประกาย ธีระวัฒนากุล

สถาบันอนาคตไทยศึกษา Facebook.com/thailandfuturefoundation