พฤติกรรมกับราคาของความยุติธรรมใน “ค่าขึ้นศาล”

พฤติกรรมกับราคาของความยุติธรรมใน “ค่าขึ้นศาล”

หากเพื่อนติดเงินคุณ 1,000 บาท คุณจะฟ้องคดีหรือไม่? หรือหากชุมชนที่คุณอาศัยอยู่ได้รับความเดือดร้อน

จากโรงงานปล่อยน้ำเสีย ที่คุณสามารถเรียกค่าเสียหายได้ในหลักล้าน คุณจะฟ้องเรียกค่าเสียหายหรือไม่? โดยเฉพาะเมื่อการฟ้องคดีจะมีค่าขึ้นศาลที่จ่ายมากขึ้นตามทุนทรัพย์ที่คุณเรียกร้อง ค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นในการฟ้องร้องจึงเป็นส่วนสำคัญที่จะกำหนดว่าคุณจะฟ้องคดีหรือไม่ และจะฟ้องร้องมากน้อยเพียงใด

ค่าขึ้นศาลในคดีแพ่งของประเทศไทย มีหลักว่ายิ่งคดีมีทุนทรัพย์ที่เรียกร้องสูง ค่าขึ้นศาลจะยิ่งแพง โดยการคิดค่าธรรมเนียมลักษณะนี้มีข้อดีที่ได้ช่วยป้องกันไม่ให้เกิดพฤติกรรมการฟ้องแบบพร่ำเพรื่อ เพื่อไม่ให้มีคดีเข้าสู่ระบบศาลมากเกินไปจนคดีล้นศาล

แต่ในมุมมองทางเศรษฐศาสตร์ “ค่าขึ้นศาล” ก็เป็นเครื่องมือที่มีผลต่อการตัดสินใจและพฤติกรรมการฟ้องศาล การคิดค่าธรรมเนียมศาลจึงต้องสะท้อนการใช้ทรัพยากรศาลอย่างคุ้มค่า และคำนึงสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนไปพร้อมๆกันด้วย

คดีทางแพ่งซึ่งมีการเสียค่าธรรมเนียมศาลในปัจจุบันนั้น มีความครอบคลุมคดีหลายประเภท ทั้งเรื่องส่วนตัวและประโยชน์สาธารณะ ทั้งคดีที่สามารถจบได้เร็วและคดีที่ยุ่งยากซับซ้อนต้องใช้เวลาในศาลนาน ดังนั้น การคิดค่าขึ้นศาลของคดีทั้งหมดในแนวทางเดียวกันอาจทำให้เกิดกรณีที่ไม่เป็นธรรม เช่น การฟ้องร้องที่มีค่าเสียหายสูงจนจ่ายค่าขึ้นศาลไม่ไหว อาจทำให้ต้องเลือกลดค่าเสียหายที่จะฟ้อง เพื่อให้จ่ายค่าขึ้นศาลถูกลง แม้เงินที่ได้มาอาจจะไม่พอชดเชยความเสียหายก็ตาม

การคิดค่าขึ้นศาลในคดีแพ่งจึงควรนำมาทบทวนให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น ซึ่งจากงานวิจัย โครงการวิเคราะห์ระบบค่าฤชาธรรมเนียมและค่าขึ้นศาลด้วยวิธีการทางเศรษฐศาสตร์ โดยทีดีอาร์ไอ ได้เสนอว่า การคิดค่าขึ้นศาลที่เหมาะสมตามหลักเศรษฐศาสตร์นั้น ควรมีการจำแนกประเภทคดี เพื่อยกเว้น ลด หรือเพิ่มค่าขึ้นศาล ดังนี้

  1. คดีที่มีผลกระทบต่อประชาชนเช่นเดียวกับคดีผู้บริโภค ที่ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาลอยู่แล้ว เพราะเป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก และหากมีข้อบกพร่องเกี่ยวกับสินค้า บริการ ลูกค้ารายบุคคลจะพิสูจน์เอาผิดได้ยาก แนวทางเช่นนี้จะช่วยส่งเสริมให้ผู้บริโภคเรียกร้องสิทธิที่ตนพึงมี และส่งผลให้ผู้ประกอบการมีมาตรฐานการผลิตและบริการที่ระมัดระวังมากขึ้น ดังนั้น คดีอื่นๆ เช่น คดีสิ่งแวดล้อมที่มีผลกระทบต่อคนจำนวนมากในลักษณะเดียวกับคดีผู้บริโภค จึงควรที่จะไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาลเช่นเดียวกัน
  2. คดีที่เป็นเรื่องใหม่ของสังคมเช่น คดีเกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่ ที่ทุกฝ่ายจำเป็นต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจข้อกฎหมายร่วมกัน รวมถึงคดีที่อยู่ในความสนใจของสังคมและมีผลต่อความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม ควรได้รับการพิจารณาปรับลดหรือยกเว้นค่าขึ้นศาล เพื่อสร้างแรงจูงใจให้คดีเข้าสู่ศาลมากขึ้น นำไปสู่องค์ความรู้ใหม่ทางกฎหมาย และสร้างความเข้าใจที่ดีต่อกระบวนการยุติธรรมไทย
  3. คดีที่ส่งผลเสียต่อสังคมเช่น การฟ้องเพื่อยับยั้งการมีส่วนร่วมสาธารณะ (SLAPP case) ก็ควรเข้าสู่ศาลให้น้อยลง หรือคดีที่เรียกค่าเสียหายสูงกว่าความเป็นจริงโดยไม่สุจริต ก็ควรมีกลไกป้องกันพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมนี้ โดยศาลอาจพิจารณาปรับค่าธรรมเนียมเพิ่มเพื่อเป็นการลงโทษ ได้เช่นกัน

ทั้งนี้ การสร้างแรงจูงใจให้เกิดพฤติกรรมการใช้ศาลอย่างเหมาะสม โดยไม่เป็นการปิดกั้นคนบางกลุ่มเป็นโจทย์ที่ศาลยุติธรรมให้ความสำคัญมาตลอด ที่ผ่านมา ศาลจึงมีระบบยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลแก่ผู้มีรายได้น้อย แต่ยังขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาล ซึ่งมีความไม่แน่นอน จึงควรใช้ฐานข้อมูลที่ชัดเจนมาประกอบการพิจารณา เช่น บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เบี้ยว่างงาน เบี้ยผู้สูงอายุ รายได้ครัวเรือนเทียบเส้นความยากจน เป็นต้น ซึ่งจะรวดเร็วและชัดเจนกว่าการใช้ดุลพินิจเพียงอย่างเดียว

สำหรับค่าใช้จ่ายอื่นๆ นอกจากค่าขึ้นศาล ไม่ว่าจะเป็นค่าเดินทางมาศาล ค่าติดต่อประสานงาน ที่ผ่านมานั้น ผู้ชนะคดีสามารถเรียก “ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี” จากฝ่ายที่แพ้คดีได้ แต่กลับไม่ค่อยมีการใช้กัน เนื่องจากไม่ทราบถึงวิธีดำเนินการที่แน่นอน หากมีกลไกสนับสนุนให้ผู้ชนะคดีเรียกค่าใช้จ่ายในส่วนนี้อย่างชัดเจน จะช่วยชดเชยภาระในการขึ้นศาล ถือเป็นความยุติธรรมอีกทางหนึ่ง

นอกจากนี้ ค่าธรรมเนียมศาลที่เป็นเสมือนค่าใช้บริการศาลนั้น ต้องดูปริมาณการใช้บริการด้วย งานวิจัยทีดีอาร์ไอพบว่า ในปัจจุบัน การพิจารณาค่าขึ้นศาลจากทุนทรัพย์ที่ฟ้องเพียงอย่างเดียวนั้น ส่งผลให้บางคนต้องจ่ายค่าขึ้นศาลน้อยกว่าทรัพยากรศาลที่ใช้ไป และบางคนต้องเสียค่าขึ้นศาลที่สูงกว่าทรัพยากรศาลที่ได้ใช้

รวมถึง กรณีการคำนวณค่าขึ้นศาลโดยอิงกับทุนทรัพย์เพียงอย่างเดียว ยังทำให้คดีไม่มีทุนทรัพย์ (คดีที่ข้อเรียกร้องไม่อาจคำนวณเป็นเงิน) ซึ่งมีค่าขึ้นศาลอัตราเดียวเพียง 200 บาท ถูกใช้เป็นเครื่องมือไปในเชิงกลั่นแกล้งหรือเพื่อสร้างข้อต่อรอง เนื่องจากผลประโยชน์เบื้องหลังสูงกว่า 200 บาท

ดังนั้น หากมีการกำหนดค่าขึ้นศาลให้สอดคล้องกับการใช้ทรัพยากรศาล จะทำให้ได้ค่าขึ้นศาลที่สะท้อนความเป็นจริง และไม่ต้องอิงกับทุนทรัพย์ที่ไม่สามารถประเมินได้ในบางคดี

กล่าวโดยสรุป เมื่อค่าธรรมเนียมศาลเป็นตัวกลางระหว่างศาลและคดีที่จะเข้าสู่ศาล จึงอาจนำมาใช้ปรับพฤติกรรมบางประการของผู้ใช้บริการศาลให้มีความเหมาะสมมากขึ้น ผ่านการเพิ่มแรงจูงใจให้คดีที่มีประโยชน์ต่อสังคมถูกนำขึ้นสู่ศาล หรือลดแรงจูงใจในการฟ้องคดีที่สร้างผลเสีย รวมถึงการสร้างกลไกที่มีความชัดเจนและสนับสนุนการใช้กลไกเหล่านั้น เพื่อนำไปสู่การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมพฤติกรรมที่ดีในการฟ้องคดี และสะท้อนการใช้ทรัพยากรศาลอย่างคุ้มค่ามากยิ่งขึ้น

โดย...

สิรนันท์ เดชะคุปต์