Legal IdentityForAll: ความท้าทายของประเทศไทยที่ต้องไปให้ถึง

Legal IdentityForAll: ความท้าทายของประเทศไทยที่ต้องไปให้ถึง

นิตยสาร The Economist ฉบับส่งท้ายปี 2018 บางส่วนของบทความขนาดยาว “Making you you” ที่ว่าด้วยประเด็นของอัตลักษณ์ (identity) ในโลกร่วมสมัย

ได้สะท้อนถึงปัญหาของ อัตลักษณ์ทางกฎหมาย หรือ legal Identity ที่กำลังเป็นปัญหาสำคัญในหลายพื้นที่ของโลกปัจจุบันได้เป็นอย่างดี

legal Identity เป็นสิ่งที่รัฐมอบหรือกำหนดให้กับประชาชนและผู้อาศัยอยู่ในดินแดนของแต่ละรัฐ หลังการขยายตัวของโครงสร้างและกลไกของรัฐแบบสมัยใหม่ในโลกปัจจุบัน ได้ทำให้ legal Identity เพิ่มความสำคัญขึ้นตามลำดับ ผ่านระบบเลขทะเบียนหรือบัตรประจำตัวประชาชนที่เก็บข้อมูลพื้นฐานของแต่ละบุคคล ในเกือบทุกประเทศ legal Identity สัมพันธ์ทั้งทางด้านการมีส่วนร่วมทางการเมือง สิทธิในการประกอบอาชีพ สิทธิในการอยู่อาศัย รวมถึงสิทธิในการรับบริการพื้นฐานหรือสวัสดิการของรัฐ

แม้ในปัจจุบัน ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจะทำให้การกำหนดสถานะทางกฎหมายของแต่ละรัฐมีประสิทธิภาพและความครอบคลุมมากยิ่งขึ้น รวมถึงแก้ไขปัญหาความคลุมเครือของ legal Identity ในแต่ละบุคคล หากแต่บางส่วนของบทความดังกล่าวก็ได้สะท้อนให้เห็นว่า legal Identity ยังคงเป็นปัญหาใหญ่และสำคัญของโลกและเกือบทุกประเทศ ทำให้ผู้คนจำนวนมากกลายเป็นกลุ่มเปราะบางที่เข้าไม่ถึงบริการพื้นฐานของรัฐ ความมั่นคงทางอาชีพและรายได้ รวมถึงการมีส่วนร่วมทางการเมือง

ทั้งนี้ ในหลายประเทศปัญหาของ legal Identity อาจมิได้เกิดขึ้นแต่เพียงกับผู้อพยพหน้าใหม่หรือกลุ่มชาติพันธุ์ชนกลุ่มน้อย หากแต่ปรากฎกับกลุ่มคนที่อาจถูกมองว่าเป็นประชากรกลุ่มหลักของรัฐ หรือกลุ่มคนอาศัยอยู่ในเขตเมือง อาทิ กลุ่มคนไร้บ้าน กลุ่มผู้ป่วยทางจิตเวช ลูกหลานของผู้อพยก และกลุ่มเปราะบางต่างๆ ที่ขาดเอกสารในการยืนยันอัตลักษณ์ทางกฎหมายของตนเองหรือไม่สามารถยืนยันสถานะตัวตนได้

ในประเทศที่ระบบทะเบียนราษฎรยังอยู่ในช่วงการพัฒนาหรือไม่มีประสิทธิภาพและความครอบคลุมมากนัก การกำหนด legal Identity ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ไม่แต่เพียงกับรัฐหากแต่รวมถึงประชาชนจำนวนที่ตกหล่นจากการมีสถานะทางกฎหมาย ยกตัวอย่าง ประเทศเมียนมาที่ผู้เขียนได้มีโอกาสทำงานคลุกคลีในประเด็นทางสังคมเศรษฐกิจ พบกว่ากลุ่มคนจนเมืองในเมืองใหญ่อย่างย่างกุ้งจำนวนมาก ที่ส่วนใหญ่ย้ายถิ่นมาจากพื้นที่อื่นๆ ของประเทศอันเนื่องมาจากสถานการณ์ทางการเมืองและภัยพิบัติ ต้องประสบกับปัญหาการมี legal Identity หรือเอกสารประจำตัวประชาชน อันเนื่องมาจากการสูญหายของเอกสารที่แสดงสถานะทางกฎหมาย ปัญหาดังกล่าวนี้ยังได้ส่งต่อถึงรุ่นลูกรุ่นหลานด้วย อันเองมาจากการไม่สามารถกำหนดสถานะทางกฎหมายจากพ่อหรือแม่ ส่งผลให้พวกเขาส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิและการมีส่วนร่วมทางการเมือง รวมถึงสวัสดิการพื้นฐานของรัฐที่จะพัฒนาขึ้นในอนาคตได้

ปัญหาการตกหล่นจากสถานะทางกฎหมายและ legal Identity นี้ ได้ทำให้ความเหลื่อมล้ำในหลายประเทศเพิ่มมากขึ้นในเกือบทุกมิติ อันเนื่องมาจาก legal Identity มักผูกโยงกับการเข้าถึงระบบบริการพื้นฐานและความช่วยเหลือของรัฐ และการประกอบอาชีพที่ถูกต้องมั่นคง 

ในปัจจุบัน ไม่เพียงแต่หน่วยงานภาครัฐและภาคประชาสังคมในหลายประเทศจะพยายามแก้ไขปัญหา legal Identity ที่เกิดขึ้นในแต่ละประเทศ หากแต่องค์กรระหว่างประเทศหลายแห่งก็ได้ให้ความสำคัญกับปัญหาดังกล่าวด้วยเช่นกัน เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) และธนาคารโลก (World Bank) ได้กำหนดแนวทาง Legal Identity for All ขึ้น เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาการกำหนดสถานะทางกฎหมายอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะกับกลุ่มปราะบางและเด็กแรกเกิด ธนาคารโลกได้จัดทำโครงการความช่วยเหลือที่มีชื่อว่า The ID4D Initiative หรือ Identification for Development ขึ้น เพื่อสนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพและความครอบคลุมของระบบการแจ้งเกิดและระบบทะเบียนราษฎรของประเทศที่ระบบยังมีปัญหา ผ่านการพัฒนาด้วยเทคโนโลยีและดิจิตอล รวมถึงการสร้างความร่วมมือกับแต่ละประเทศในการพัฒนาความคุ้มครองทางสังคม (social protection) และระบบบริการพื้นฐานภาครัฐให้สอดคล้องกับระบบทะเบียนที่ได้รับการพัฒนาขึ้น ตามข้อมูลของธนาคารโลกในปี 2015 พบว่ามีประชากรโลกที่ยังไม่ได้รับการกำหนดสถานะทางทะเบียนกว่า 1.8 พันล้านคน มีเด็กแรกเกิด (0-4 ปี) ที่ยังไม่ได้แจ้งเกิด 217 ล้านคน ส่วนใหญ่อยู่ในเอเชียใต้และแอฟริกา นอกจากนี้ มีประเทศที้ใช้ระบบอิเลคทรอนิกส์ในทะเบียนราษฎร 113 ประเทศ และอีก 35 ประเทศอยู่ระหว่างการพัฒนา

ในทางเดียวกัน เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ เป้าหมายที่ 16 ที่ว่าด้วย สังคมสงบสุข ยุติธรรมและสร้างสถาบันที่มีประสิทธิภาพ ได้มีการกำหนดเป้าประสงค์ที่ 16.9 จัดให้มีเอกลักษณ์ทาง กฎหมายสำหรับทุกคนโดยรวมถึงการให้มีสูติบัตรภายในปี 2030 อันสะท้อนให้เห็นถึงการให้ความสำคัญร่วมกันของประเทศภาคีสมาชิกต่อประเด็น legal Identity ที่ไม่เพียงสัมพันธ์ประเด็นทางกฎหมาย หากแต่รวมถึงประเด็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตและการยกระดับความมั่นคงของมนุษย์ด้วยเช่นกัน

ในส่วนของประเทศไทย ตลอดห้วงเวลากว่าทศวรรษที่ผ่านมา หน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคประชาชนจำนวนมากได้ดำเนินการแก้ไขปัญหา legal Identity ของประชาชนหลายกลุ่มในประเทศอย่างเป็นรูปธรรมและเป็นระบบ ทั้งกลุ่มคนไทยตกหล่นในพื้นที่ห่างไกล กลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่บนผืนแผ่นดินไทยมาเป็นเวลายาวนาน

หากแต่ในปัจจุบันก็ยังมีประชาชนบางกลุ่มที่ยังประสบปัญหาการตกหล่นสิทธิสถานะทางกฎหมาย โดยเฉพาะกลุ่มคนไทยตกหล่นในเขตเมือง ทั้งกลุ่มเปราะบางในชุมชนเมือง คนจนเมือง และคนไร้บ้าน ที่ขาดเอกสารและมีอุปสรรคในการยืนยันตัวตน ส่งผลให้เข้าไม่ถึงสวัสดิการพื้นฐานและความช่วยเหลือจากภาครัฐ

กลุ่มคนไทยไร้สิทธิและคนไทยตกหล่นเหล่านี้ดูจะเป็นความท้าทายในการทำงานในการสร้าง Legal Identity for All ไม่น้อย

 โดย... 

อนรรฆ พิทักษ์ธานิน

ศูนย์แม่โขงศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย