4+1 ข้อดีเมื่อระบบภาษีขึ้นบล็อกเชน

4+1 ข้อดีเมื่อระบบภาษีขึ้นบล็อกเชน

กรมสรรพากรมีแผนนำระบบบล็อกเชนมาใช้ในการตรวจสอบภาษี เพื่อลดปัญหาการเลี่ยงภาษี และเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี

เทคโนโลยีบล็อกเชนจะมีประโยชน์มากหากนำไปใช้ในกิจกรรมที่ต้องการสิ่งสำคัญ 2 อย่างพร้อมๆ กัน คือความโปร่งใส (Transparency) และความเป็นส่วนตัว (Privacy) ซึ่ง 2 สิ่งนี้เคยเป็นสิ่งที่อยู่ตรงข้ามกันมาก่อน

กล่าวคือถ้าหากต้องการตรวจสอบข้อมูลใดๆ ว่าถูกต้องเป็นความจริงหรือไม่ ข้อมูลนั้นก็จะไม่ใช่ความลับอีกต่อไป และเจ้าของข้อมูลก็สูญเสียความเป็นส่วนตัว ในขณะที่เทคโนโลยีบล็อกเชนทำให้การตรวจสอบข้อมูลใดๆ ว่าเป็นความจริงหรือไม่ได้อย่างแม่นยำ โดยที่ไม่จำเป็นต้องเปิดเผยข้อมูลนั้นกับผู้ตรวจสอบเลยก็สามารถทำได้ด้วยเทคโนโลยีกระจายศูนย์ (Decentralized) และวิทยาการเข้ารหัส (Cryptography)

แน่นอนว่ากระบวนการทางภาษีเป็นกิจกรรมหนึ่งที่ “ความโปร่งใส” และ “ความเป็นส่วนตัว” มีความสำคัญทั้งคู่ ผมมองว่าหากได้มีการนำมาใช้งานจริง จะก่อให้เกิดผลดีหลักๆ ถึง 4+1 ประการดังนี้

1 การจัดเก็บภาษีที่เป็นธรรมมากขึ้น

ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มี Tax Gap หรือช่องว่างระหว่างปริมาณภาษีที่ควรเก็บได้เทียบกับปริมาณภาษีที่เก็บได้จริงค่อนข้างสูง นั่นหมายความว่ายังมีกลุ่มผู้ที่ไม่ได้เสียภาษีอย่างถูกต้องหรือเสียต่ำกว่าที่ควรจะเป็นอยู่อีกมาก ในมุมมองหนึ่งคือสิ่งเหล่านี้ไม่เป็นธรรมแก่ผู้ที่เสียภาษีอย่างถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ สาเหตุเกิดได้ทั้งจากความจงใจและขาดความรู้ในกฎหมายภาษีที่มีความซับซ้อนสำหรับคนทั่วไป

บริษัทตรวจสอบบัญชีระดับโลก PwC ได้ทำการศึกษาพบว่าการประยุกต์ใช้งานบล็อกเชนกับภาษีนั้นจะสามารถทำให้ Tax Gap นั้นลดลงได้ โดย PwC พบว่ากลุ่มคนที่ไม่เข้าใจในกฎหมายภาษีนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มธุรกิจขนาดเล็กหรือประเภทบุคคลธรรมดา ซึ่งระบบดั้งเดิมนั้นเข้าถึงและดูแลธุรกรรมขนาดเล็ก (Micro Transaction) ได้ยาก ไม่ชัดเจน ในขณะที่บล็อกเชนนั้นจะมีความสามารถครอบคลุมถึงธุรกรรมได้ทั้งหมด

2 ใช้เทคนิคภาษีครบถ้วน เสียภาษีน้อยลง

ความไม่รู้ในกฎหมายภาษีนี้มีทั้งไม่รู้ว่าต้องจ่าย และไม่รู้ถึงสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ตนเองและธุรกิจของตนสามารถประยุกต์ใช้ได้ ทำให้เสียภาษีสูงกว่าความเป็นจริง ระบบบล็อกเชนนี้ไม่เพียงแต่มีประโยชน์กับเจ้าหน้าที่ภาครัฐในการตรวจสอบเท่านั้น แต่ยังทำให้ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษีสามารถวางแผนภาษีให้ใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีได้อย่างเต็มที่ เทคนิคทางภาษีที่เมื่อก่อนมีเพียงบริษัทใหญ่ๆ ที่มีความสามารถจ้างผู้เชี่ยวชาญภาษีค่าตัวแพงๆ วันนี้บริษัทเล็กๆ ก็สามารถนำมาใช้ได้ผ่านเทคโนโลยี รวมถึงความโปร่งใสของข้อมูลก็จะทำให้มาตรฐานการจัดเก็บภาษีมีความเท่าเทียมกันมากขึ้น ลดการใช้ดุลพินิจที่อาจคลาดเคลื่อน ทุกคนสามารถสืบค้นเทียบเคียงได้ว่าเราได้รับความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษีเทียบกับคนอื่นหรือไม่

และหากการจัดเก็บภาษีเต็มเม็ดเต็มหน่วยมากขึ้น ทำให้งบประมาณประเทศมีเพียงพอ มาตรการลดหย่อนภาษีเพื่อส่งเสริมด้านต่างๆ ก็สามารถทำได้มากขึ้น และส่งผลให้ทุกคนเสียภาษีน้อยลงได้อีก

3 ลดต้นทุนการตรวจสอบบัญชี

หลายองค์กรมีต้นทุนการตรวจสอบบัญชีที่สูงมาก ดังนั้นถ้าหากมีการทำระบบบัญชีโดยใช้บล็อกเชนจะส่งผลให้ผู้ตรวจบัญชีนั้นสามารถทำงานได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบภายในหรือภายนอก รวมถึงการกำหนดสิทธิ์การเข้าถึงข้อมูลเฉพาะส่วนจะช่วยรักษาความปลอดภัยของข้อมูลและป้องกันการเข้าถึงข้อมูลโดยมิชอบได้อีกด้วย

4 ลดการจัดเก็บภาษีซ้อน

ปัญหาเรื่องถูกจัดเก็บภาษีซ้อน โดยเฉพาะบริษัทที่ค้าขายข้ามชาติสามารถลดลงได้ เพราะระบบบล็อกเชนสามารถแสดงให้เห็นชัดเจนว่าเงินก้อนใดบ้างที่ถูกเรียกเก็บภาษีไปบ้างแล้ว ถูกเรียกเก็บอย่างไร โดยใคร และภาครัฐของประเทศต่างๆ ก็สามารถตรวจสอบทำได้ง่าย เห็นโครงสร้างที่มาของเงินต่างๆ ได้ชัดเจนขึ้น และสามารถเชื่อมั่นในความถูกต้อง ทำใช้ประโยชน์จากอนุสัญญาภาษีซ้อนระหว่างประเทศได้เต็มที่มากขึ้น

+1 การที่รัฐใช้เงินภาษีของเราอย่างไร ก็สำคัญไม่แพ้กัน

นอกจากความโปร่งใสในการจัดเก็บภาษีจากประชาชนแล้ว เชื่อว่าประชาชนเองก็สนใจความโปร่งใสของภาครัฐในการใช้จ่ายเงินภาษีของประชาชนเช่นกัน กระบวนการที่ต้องการความโปร่งใสนี้มีตั้งแต่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ประมูลงานภาครัฐ กระบวนการเบิกจ่าย ไปจนถึงกระบวนการตรวจสอบจากสตง.หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามคอรัปชั่นก็ทำได้ง่ายและทั่วถึง

ถ้าความโปร่งใสเกิดขึ้นในกระบวนการภาษี ทั้งกระบวนการจัดเก็บและกระบวนการใช้จ่ายภาษีแล้ว ปัญหาคอรัปชั่นของประเทศที่สั่งสมและสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนมานาน ก็น่าจะได้รับการแก้ไขไปหลายเปราะเลยทีเดียว