เล่าสู่กันฟังเรื่อง TFRS 15

เล่าสู่กันฟังเรื่อง TFRS 15

เมื่อวันที่ 29 พ.ย.ที่ผ่านมา ผมมีโอกาสได้ไปร่วมเสวนาในเวที AC Forum ซึ่งจัดโดย KPMG Thailand ในหัวข้อ TFRS 15 Ready for the Challenges

มีรายละเอียดที่น่าสนใจในเรื่อง มาตรฐานการรายงานทางการเงิน เกี่ยวกับการรับรู้รายได้ ที่จะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการที่ยังไม่ได้เตรียมตัว ไม่ได้จัดเก็บข้อมูลที่ต้องใช้ในการรับรู้รายได้ตามมาตรฐานใหม่ ที่จะเริ่มใช้ในวันที่ 1 ม.ค. 2562 

ที่ผ่านมาได้มีการสื่อสารให้กับผู้เกี่ยวของรวมถึงผู้ใช้งบการเงินบ้างแล้ว แต่ยังมีผู้ประกอบการเป็นจำนวนมากที่ยังไม่ทราบถึงผลกระทบจากหลักการรับรู้รายได้ที่เปลี่ยนไป จึงขอนำเสนอข้อมูล เพื่อทำความรู้จักกับ TFRS 15 

คณะกรรมการมาตรฐานการบัญชีสากล (International Accounting Standards Board:IASB) ได้ประกาศและเผยแพร่มาตรฐานฉบับใหม่เรื่องการรับรู้รายได้ IFRS 15 Revenue from contracts with customer ตั้งแต่ เดือน พ.ค.2557 โดยร่วมมือกับคณะกรรมการมาตรฐานบัญชีของประเทศสหรัฐอเมริกา(Financial Cccounting Standards Board:FASB) เพื่อพัฒนามาตรฐานในการรับรู้รายได้ให้มีแบบแผนเดียวกันสำหรับมาตรฐานการรายงานทางการเงินระหว่างประเทศ และหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไปของประเทศสหรัฐอเมริกา มีผลการบังคับใช้ ตั้งแต่ ม.ค.2561

สำหรับประเทศไทยคณะกรรมการกำหนดมาตรฐานการบัญชีได้ดำเนินการ แปล IFRS 15 เป็นมาตรฐานการรายงานทางการเงินของไทย TFRS 15 รายได้จากสัญญาที่ทำกับลูกค้า เผยแพร่บนเว็บไซต์สภาวิชาชีพบัญชี (www.fap.or.th)เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากนักบัญชีและสาธารณะแล้ว และได้ผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการฯ โดยจะบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค. 2562 และมีผลให้มาตรฐานการบัญชีไทยที่ถูกยกเลิกคือ TAS 11 สัญญาก่อสร้าง TAS 18 รายได้ TSIC 31 รายได้ TFRIC 13 โปรแกรมสิทธิพิเศษแก่ลูกค้า

TFRIC 15 สัญญาสำหรับการก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์ TFRIC 18 การโอนสินทรัพย์จากลูกค้า มาตรฐานเรื่องรายได้ฉบับใหม่ จะกำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาเพื่อจะให้ได้ข้อสรุปว่าจะรับรู้รายได้อย่างไร จำนวนเท่าไหร่และเมื่อใด โดยให้พิจารณาสัญญาที่ทำกับลูกค้าตามลำดับ 5 ขั้นตอน คือการระบุสัญญาที่ทำกับลูกค้า ภาระกิจที่ต้องปฏิบัติตามสัญญา

การกำหนดราคาของรายการ การปันส่วนราคาของรายการให้กับแต่ละภารกิจที่ต้องปฏิบัติตามสัญญา และการรับรู้รายได้เมื่อกิจการให้ปฏิบัติตามภาระแล้วเสร็จ

เมื่อเจาะลึกลงในรายละเอียดการรับรู้รายได้ ตามมาตรฐานฉบับเดิม TAS 11 และ 18 การขายสินค้ารับรู้รายได้เมื่อส่งมอบ หรือเมื่อความเสี่ยงและผลตอบแทนที่เป็นสาระสำคัญในสินค้าได้โอนไปยังผู้ซื้อแล้ว แต่ถ้าเป็นภาระการให้บริการหรือสัญญาก่อสร้างต้องรับรู้ตามขั้นตอนความสำเร็จของงาน แต่ตาม TFRS 15 การรับรู้รายได้จะให้ความสำคัญกับการโอนการควบคุมสินค้าหรือบริการไปยังลูกค้า โดยกิจกาต้องประเมินว่า สถานการณ์เข้าเงื่อนไขตามข้อใดข้อหนึ่งของการรับรู้รายได้ตามช่วงเวลา (Overtime) ถ้าไม่เข้าข่ายต้องรับรู้รายได้ ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง (Point in time)

ในการเสวนาได้ยกตัวอย่างที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อหลายกิจการจากค่าตอบแทนผันแปร (Variable consideration) เช่น ส่วนลดการค้า ส่วนลดเงินสด เงินโบนัสตามผลงาน ค่าปรับ การคืนสินค้า ฯลฯ ที่จะทำให้กิจการมีรายได้ต่ำกว่ารายได้ที่จะได้รับจริง นอกจากนี้มาตรฐานฉบับใหม่ ยังกำหนดหลักการในรายละเอียดเรื่องอื่น ๆ อีกมากซึ่งจะทำให้การรับรู้รายได้และต้นทุนที่เปลี่ยนไป กลุ่มธุรกิจที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ คือธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม ธุรกิจเทคโนโลยี ธุรกิจสื่อสารและบันเทิง ธุรกิจอุตสาหกรรมยานยนต์ ธุรกิจค้าปลีกและสินค้าอุปโภคบริโภค ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น

TFRS 15 เรื่องภาระผูกพันสำคัญมาก ฝ่ายขายต้องทำความเข้าใจกับฝ่ายบัญชีในเรื่องการตลาดและการขายอย่างใกล้ชิด เพื่อลดผลกระทบให้อยู่ในวงจำกัดและสามารถควบคุมได้ ผลกระทบจะเริ่มปรากฎในรายงานทางการเงินไตรมาสแรก ของปี 2562 และจะต้องรายงานผลกระทบที่มีต่อกิจการในอนาคตในรายงานทางการเงินปี 2561 ด้วย

ปี 2562 ท่านผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติในเรื่อง SME บัญชีเดียว TFRS 15 ที่มีรายละเอียดที่ต้องทำความเข้าใจเพราะจะส่งผลกระทบต่องบการเงินตามประภทของธุรกิจ และในปี2563ต้องเตรียมพร้อมในเรื่อง TFRS 9&16 ซึ่งมีความสำคัญต่อความอยู่รอดของกิจการโดยไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษครับ...