ข้อเสนอแก้กฎหมายฟอกเงินครั้งใหญ่ กระทบใครบ้าง? (4)

ข้อเสนอแก้กฎหมายฟอกเงินครั้งใหญ่ กระทบใครบ้าง? (4)

ในบทความฉบับนี้ ผู้เขียนขอแบ่งปันความเห็นต่อข้อเสนอแก้ไขกฎหมายฟอกเงินในบางประเด็น ที่จะส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจ

โดยคำถามหลักที่เกิดขึ้นก็คือ ในสภาวการณ์ปัจจุบันที่ประเทศไทยมีนโยบายที่จะเพิ่มขีดความสามารถของธุรกิจไทยในการค้าการลงทุน ประกอบกับมาตรการลงโทษทางอาญาตามกฎหมายปัจจุบันที่มีอยู่แล้ว ควรจะกำหนดให้ผู้ประกอบอาชีพบางประเภทต้องมีภาระหน้าที่ตามกฎหมายฟอกเงินเพิ่มเติม และควรกำหนดให้ความผิดทางอาญาบางประเภทเป็นความผิดมูลฐาน ซึ่งจะนำไปสู่การยึดทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดด้วยหรือไม่ และนอกจากจะกำหนดภาระให้กับภาคเอกชนเพิ่มขึ้นแล้ว หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องก็ควรจะมีหน้าที่ในการให้ความช่วยเหลือสนับสนุนการปฏิบัติตามกฎหมายฟอกเงินด้วยหรือไม่ อย่างไร

ต่อคำถามที่ว่า ควรเพิ่มผู้ประกอบอาชีพบางประเภทให้มีหน้าที่ตามกฎหมายฟอกเงินด้วยหรือไม่นั้น ผู้เขียนเห็นว่าประเด็นหลักที่จะต้องนำมาพิจารณาเป็นลำดับแรกคือ อาชีพนั้นๆ มีความเสี่ยงสูงที่จะถูกใช้เป็นช่องทางในการฟอกเงินหรือไม่ และจะใช้เกณฑ์ใดเป็นการวัดความเสี่ยง เช่น การเป็นผู้ให้คำปรึกษาหรือทำบัญชี โดยไม่ได้จับเงินลงทุนของลูกค้า ถือเป็นอาชีพเสี่ยงที่จะมีการฟอกเงินผ่านอาชีพดังกล่าวหรือไม่ หากความเสี่ยงมากพอ และจะไม่เป็นภาระแก่ผู้อยู่ใต้บังคับของกฎหมายเกินสมควร ก็อาจจะเป็นการเหมาะสมที่จะให้ผู้ประกอบอาชีพนั้นๆ มีหน้าที่ตามกฎหมายฟอกเงิน

อย่างไรก็ดี ภาระหน้าที่ของผู้มีหน้าที่รายงานตามกฎหมายฟอกเงินนั้นไม่ใช่น้อย กล่าวได้ว่า หากผู้ประกอบอาชีพหรือองค์กรธุรกิจใดที่เข้านิยามผู้มีหน้าที่รายงาน ก็จะต้องจัดระบบภายในองค์กรใหม่ โดยจัดให้มีแผนกหรือบุคลากรที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงเกี่ยวกับกฎหมายฟอกเงินเพิ่มเติมขึ้นมา หรือยกเครื่ององค์กรใหม่ทั้งระบบกันเลยทีเดียว ดังนั้น ในการกำหนดให้ผู้ประกอบอาชีพบางประเภทต้องตกอยู่ภายใต้นิยามของคำว่า ผู้มีหน้าที่รายงาน รัฐก็ควรจะคำนึงถึงอุปสรรคในการประกอบอาชีพและความซ้ำซ้อนกับหน้าที่ตามกฎหมายฟอกเงินของผู้ประกอบอาชีพอื่นด้วย

นอกจากนี้ องค์กรของรัฐที่กำกับดูแลหรือมีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องนี้ จะให้การสนับสนุนช่วยเหลือเพื่อลดภาระในการปฏิบัติตามกฎหมายฟอกเงินของผู้มีหน้าที่รายงานหรือไม่ อย่างไร? เช่น ในการจัดทำนโยบายป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินประจำองค์กร รัฐจะให้การสนับสนุนโดยการจัดทำนโยบายต้นแบบหรือไม่ เพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และในการกำหนดให้เอกชนจัดให้มีพนักงานที่เข้ารับการอบรมด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง นั้น รัฐจะจัดอบรมประจำปีให้แก่บุคคลที่เกี่ยวข้อง (ตัวแทนเอกชนที่ขึ้นทะเบียนเป็นผู้มีหน้าที่รายงาน) โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายด้วยหรือไม่ ที่ผ่านมา ผู้ประกอบอาชีพที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายฟอกเงินต้องร่างนโยบายขึ้นมาเอง ซึ่งอาจจะมีเนื้อหาไม่ตรงตามที่เจ้าหน้าที่คาดหวัง และจะต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมากในการส่งพนักงานเข้าอบรมด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินในแต่ละครั้ง ในประเด็นนี้ผู้เขียนเห็นว่าในกฎหมายฟอกเงินที่จะมีการแก้ไข ควรจะกำหนดเป็นหน้าที่ของ สำนักงาน ปปง. ในการจัดทำนโยบายต้นแบบ และหน้าที่ในการจัดอบรมด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินให้แก่ผู้มีหน้าที่รายงานโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายด้วย

ข้อเสนอแก้ไขกฎหมายฟอกเงินในครั้งนี้ แตกต่างจากการแก้ไขกฎหมายฟอกเงินในครั้งที่ผ่านๆ มา และเป็นที่น่ากังวลอย่างยิ่ง เนื่องจากมีการขยายขอบเขตของผู้มีหน้าที่รายงานให้รวมถึงผู้ประกอบอาชีพต่างๆ จำนวนมาก แม้กระทั่งผู้ขายสินค้าอุปโภค และขยายความผิดมูลฐานให้ครอบคลุมถึงความผิดตามกฎหมายต่างๆ อย่างกว้างขวาง รวมถึงกฎหมายธุรกิจที่สำคัญ เช่น กฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว กฎหมายว่าด้วยการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล และกฎหมายว่าด้วยภาษีอากร และเนื่องจากการแก้ไขกฎหมายในครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจและประชาชนจำนวนมาก 

ผู้เขียนจึงเห็นว่า ควรจะมีการประชาสัมพันธ์และเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปและผู้มีส่วนได้เสียได้รับรู้ อภิปรายและให้ข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะอย่างเต็มที่ โดยกระทำผ่านสื่อต่างๆ ไม่ใช่เพียงแต่ผ่านทางเว็บไซต์ของ ปปง. เท่านั้น เนื่องจากประชาชนทั่วไปคงไม่ได้มีโอกาสไปตรวจสอบเว็บไซต์ของ ปปง. สักเท่าใดนัก อีกทั้งความรู้ความเข้าใจของประชาชนในเรื่องกฎหมายฟอกเงินยังค่อนข้างจำกัด จึงควรมีการเผยแพร่ความรู้เรื่องกฎหมายฟอกเงินให้มากขึ้นเพื่อประโยชน์ในการบังคับใช้กฎหมายต่อไป

ในคราวหน้า เราจะมาศึกษาประเด็นเกี่ยวกับบทลงโทษและการดำเนินการกับทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำผิดตามกฎหมายฟอกเงิน แล้วพบกันใหม่ค่ะ

โดย... 

วิภานันท์ ประสมปลื้ม