ข้อเสนอแก้กฎหมายฟอกเงินครั้งใหญ่ กระทบใครบ้าง?

ข้อเสนอแก้กฎหมายฟอกเงินครั้งใหญ่ กระทบใครบ้าง?

คนทั่วไปมักจะเข้าใจว่า กฎหมายฟอกเงินเกี่ยวข้องกับอาชญากรหรือผู้ที่ใช้วิธีการต่างๆ ในการปิดบังซ่อนเร้นทรัพย์สินที่ได้มาจากการประกอบธุรกิจ

ที่ผิดกฎหมาย อย่างเช่น ผู้ค้ายาเสพติด หรือค้ามนุษย์ เท่านั้น แต่ความจริงแล้วกฎหมายฟอกเงินเกี่ยวข้องกับอีกหลายตัวละครมาก แม้กระทั่งบุคคลหรือองค์กรที่ประกอบธุรกิจถูกต้องตามกฎหมายก็ถูกกฎหมายฟอกเงินจับเข้ามาอยู่ในกรอบของกฎหมายฉบับนี้เพื่อช่วยกรอง หรือดักจับการกระทำที่เข้าข่ายหรือน่าสงสัยว่าเป็นการฟอกเงิน

ล่าสุดได้มีการจัดเตรียมร่างกฎหมายฟอกเงินฉบับใหม่อีกครั้ง ซึ่งหากมีการประกาศใช้ก็จะเป็นการแก้ไขกฎหมายครั้งที่สำคัญอย่างยิ่งตั้งแต่ประเทศไทยมีกฎหมายฟอกเงินมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 การแก้ไขในครั้งนี้จะส่งผลกระทบในวงกว้างเพราะจะเป็นการขยายขอบเขตของกฎหมายฟอกเงินให้ครอบคลุมองค์กรธุรกิจต่างๆ จำนวนมากที่ไม่เคยตกอยู่ภายใต้กฎหมายฉบับนี้มาก่อนให้เข้ามาอยู่ในนิยามของ “สถาบันการเงิน” หรือ “ผู้มีหน้าที่รายงาน” ซึ่งเท่ากับเป็นการเพิ่มหน้าที่ตามกฎหมายขององค์กรธุรกิจเหล่านี้ อันจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจขององค์กรธุรกิจเหล่านี้ด้วยไม่มากก็น้อย

เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ง่ายขึ้น กฎหมายฟอกเงินมิได้เพียงแต่กำหนดว่าการฟอกเงินเป็นความผิดและกำหนดโทษสำหรับความผิดฐานฟอกเงินไว้เท่านั้น แต่กฎหมายฟอกเงินยังได้ระบุหน้าที่ขององค์กรธุรกิจต่างๆ ในการมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ รายงาน และปฏิเสธการเข้าทำธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัยแก่สำนักงาน ปปง. อีกด้วย หน้าที่ต่างๆ เหล่านั้นเป็นสิ่งที่องค์กรธุรกิจที่เข้านิยามของ “สถาบันการเงิน” หรือ “ผู้มีหน้าที่รายงาน” ตามกฎหมายฟอกเงินมีหน้าที่จะต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด มิฉะนั้นก็จะมีความผิดทางอาญาเช่นกัน

สำหรับบทความฉบับนี้ ผู้เขียนจะสรุปเนื้อหาของร่างกฎหมายฟอกเงินฉบับใหม่ในส่วนที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมนิยามของ “สถาบันการเงิน” และ “ผู้มีหน้าที่รายงาน” ซึ่งองค์กรธุรกิจใดที่อยู่ภายใต้นิยามเหล่านี้จะได้รับผลกระทบจากกฎหมายฟอกเงินฉบับใหม่โดยตรง

“สถาบันการเงิน” ตามร่างกฎหมายฟอกเงินฉบับใหม่มีความหมายกว้างกว่าเดิมมาก และไม่ได้หมายความถึงเฉพาะธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินที่เราคุ้นเคยตามกฎหมายปัจจุบันเท่านั้น แต่รวมถึงผู้ประกอบธุรกิจค้าขายบางประเภทด้วย กล่าวโดยสรุป “สถาบันการเงิน” ตามร่างกฎหมายฟอกเงินฉบับใหม่ หมายความรวมถึงธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ บริษัทหลักทรัพย์และผู้ให้บริการระบบหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลและผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล บรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน บริษัทบริหารสินทรัพย์ ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการค้ารถยนต์และรถจักรยานยนต์ ผู้ประกอบธุรกิจลีสซิ่งหรือให้เช่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และสินค้าอุปโภคประเภทอื่นที่มีราคาหรือมูลค่าไม่ต่ำกว่าที่คณะกรรมการประกาศกำหนด ผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับสินเชื่อส่วนบุคคล ผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับระบบการชำระเงิน ผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับปัจจัยชำระเงินต่างประเทศ ผู้ประกอบธุรกิจทางการเงินตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน ผู้ประกอบธุรกิจโรงรับจำนำ และบุคคลหรือนิติบุคคลที่ดำเนินธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้องกับการเงินและอาจถูกใช้เป็นช่องทางในการฟอกเงินหรือการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

ผู้มีหน้าที่รายงาน” จากเดิมที่กำหนดให้ผู้ประกอบอาชีพบางประเภท เช่น ผู้ให้คำปรึกษาในการทำธุรกรรมที่เกี่ยวกับการลงทุนหรือเคลื่อนย้ายเงินทุนตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ผู้ประกอบการค้าอัญมณี เพชรพลอย ทองคำ ผู้ประกอบอาชีพเกี่ยวกับนายหน้าหรือตัวแทนซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ผู้ประกอบอาชีพค้าของเก่า เป็นต้น ตามร่างกฎหมายฟอกเงินฉบับใหม่ได้เพิ่มผู้ประกอบอาชีพอีกหลายประเภทให้เป็น “ผู้มีหน้าที่รายงาน” รวมถึง ผู้ประกอบอาชีพที่ปรึกษากฎหมาย หรือทนายความตามกฎหมายว่าด้วยทนายความ เฉพาะที่ดำเนินการเกี่ยวกับการทำคำรับรองลายมือชื่อและเอกสาร หรือให้คำแนะนำหรือการให้คำปรึกษาการทำธุรกรรมดังต่อไปนี้ (ก) ซื้อขายอสังหาริมทรัพย์, (ข) การจัดการเงิน หลักทรัพย์ หรือทรัพย์สินอื่นของลูกค้า, (ค) การจัดการบัญชีธนาคาร บัญชีออมทรัพย์หรือบัญชีหลักทรัพย์, (ง) การดำเนินการใดๆ เพื่อจัดตั้งหรือการบริหารจัดการบริษัท รวมทั้งการจัดตั้งและการจัดการนิติบุคคลอื่นหรือบุคคลที่มีการตกลงทางกฎหมาย รวมตลอดทั้งการซื้อขายองค์กรธุรกิจ ผู้ทำบัญชีตามกฎหมายว่าด้วยการบัญชี และผู้ประกอบอาชีพอื่นที่อาจถูกใช้เป็นช่องทางในการฟอกเงินหรือการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

การขยายขอบเขตของนิยามคำว่า “สถาบันการเงิน” และ “ผู้มีหน้าที่รายงาน” ดังที่กล่าวข้างต้นจะทำให้เกิดความตื่นตัวเกี่ยวกับกฎหมายฟอกเงินเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีผู้ที่จะต้องศึกษาและทำความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายฟอกเงินเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้ทราบถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อการประกอบอาชีพของตนในอนาคต เช่น ในการรวมอาชีพที่ปรึกษากฎหมายและทนายความเข้ามาอยู่ในนิยามของ “ผู้มีหน้าที่รายงาน” นั้น ที่ปรึกษากฎหมายและทนายความจะต้องถูกบีบให้รายงานธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัยต่อสำนักงาน ปปง. อันจะเป็นการขัดต่อหน้าที่ให้การรักษาความลับต่อลูกความหรือไม่?

ขณะนี้ร่างกฎหมายฟอกเงินฉบับใหม่อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะตามที่กำหนดโดยรัฐธรรมนูญจนถึงวันที่ 15 ตุลาคม 2561 ซึ่งหากองค์กรธุรกิจใดมีความเห็นหรือข้อเสนอแนะก็สามารถทำหนังสือไปยังสำนักงาน ปปง. ได้ภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าว

แล้วพบกันใหม่ค่ะ

โดย... วิภานันท์ ประสมปลื้ม