สูตร(ไม่สำเร็จ) “นวัตกรรม”

สูตร(ไม่สำเร็จ) “นวัตกรรม”

“นวัตกรรม” ไม่ใช่เรื่องของทฤษฎี อีกทั้งไม่มีวิธีที่เป็นมาตรฐาน

 ดังนั้นไม่ว่าองค์กรใดหรือใครก็ตาม ที่คาดหวังว่าจะศึกษาจากแหล่งข้อมูลความรู้ต่างๆ อาทิ หนังสือ วารสาร ผลงานวิจัย ฝึกอบรม หรือแม้แต่จ้างที่ปรึกษาเข้ามาดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งให้ก็ตาม สิ่งที่คนในองค์กรจะได้รับคือแนวคิด แนวทาง  และความตระหนักถึงความสำคัญของนวัตกรรมเท่านั้น

จากประสบการณ์ที่เป็นทั้งผู้บรรยายให้ความรู้ทั้งในงานสัมมนา โปรแกรมฝึกอบรม เป็นกรรมการตัดสินผลงานนวัตกรรม เป็นกรรมการด้านเทคนิคพิจารณาให้ทุนวิจัยแก่โครงการนวัตกรรมของรัฐ ตลอดจนได้มีโอกาสเข้าไปให้คำปรึกษาแนะนำแก่บริษัทเอกชนหลายแห่ง สิ่งแรกที่จะต้องพูดให้เข้าใจกันเสมอคือ “นวัตกรรม” ไม่ใช่สิ่งที่เรียนกันวันสองวัน แล้วจะคิดฝันหรือทำอะไรได้ในทันที หากแต่ต้องใช้เวลาในการฝึกฝน ลองทำ และนำเสนอสิ่งที่คิดค้นขึ้นได้นั้นสู่กลุ่มเป้าหมาย

ซึ่งแน่นอนมีทั้งที่ประสบความสำเร็จ ได้รับการยอมรับและนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ แต่ก็มีผลงานที่อาจจะไม่ได้รับการยอมรับ แต่นั่นก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่เป็นประจำ ไม่เว้นแม้แต่บริษัทนวัตกรรมชั้นนำระดับโลก ล้วนแล้วแต่พบเจอทั้งความสำเร็จและความล้มเหลวมาแล้วทั้งสิ้น ซึ่งความสำเร็จและความล้มเหลวนี้มีในทุกขั้นตอน ตั้งแต่ขั้นตอนนำเสนอ “ความคิด (idea)” ซึ่งก็มีมากมายหลายความคิดที่นำเสนอแล้วไม่ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการ ตามเกณฑ์ (criteria) ที่กำหนด

บางความคิดแม้ว่าจะผ่านขั้นตอนการพิจารณา และได้รับงบประมาณสนับสนุนให้นำไปทดลองค้นคว้าวิจัย แต่ก็ไม่ใช่ทุกโครงการที่จะสำเร็จเป็นรูปธรรม บางโครงการที่คิดค้นและสร้างต้นแบบขึ้นมาได้ในห้องทดลอง แต่ก็อาจมีปัญหาอุปสรรคจนไม่สามารถขยายสเกลให้ใหญ่ในระดับอุตสาหกรรมได้

บางโครงการถึงแม้จะทำจนสำเร็จและนำไปสู่การผลิตในเชิงพาณิชย์ แต่ก็อาจจะไม่สามารถทำให้แพร่หลายจนถึงขนาดที่จะก่อให้เกิดความคุ้มค่าในทางการเงิน ถึงแม้ว่าจะมีการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการมาก่อนหน้านี้แล้วก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นความเป็นไปได้ทางการเงิน (financial feasibility) ความเป็นไปได้ทางการตลาด (market feasibility) และความเป็นไปได้ทางเทคนิค (technical feasibility) สิ่งสำคัญที่เหนือกว่าการสร้างสรรค์ผลงานนวัตกรรมขึ้นมาและอาจถือได้ว่าเป็นตัวชี้เป็นชี้ตายอันจะก่อให้เกิดความสำเร็จ (key success factor) ก็คือ “ระบบนิเวศ (Eco-system)” ที่จะมารองรับหรือเกื้อหนุนให้ผลงานนวัตกรรมนั้นๆสามารถแสดงความสามารถของมันออกมาได้อย่างเต็มที่ และมีข้อจำกัด/อุปสรรคน้อยที่สุด

ถ้าใครก็ตามคิดว่า “นวัตกรรม” มีสูตรสำเร็จ สามารถถ่ายทอดและทำตามกันแบบเป็นขั้นเป็นตอน (Step by step) ต้องบอกว่าคิดผิดถนัด

เพราะความคิดสร้างสรรค์ที่ก้าวกระโดดอาจคิดได้โดยคนหลายคน แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะนำความคิดนั้นไปสู่การทดลอง อีกทั้งคนที่ลงมือคิดค้นทดลองก็ไม่ใช่ว่าจะประสบความสำเร็จจนถึงขั้นตอนสุดท้ายได้ ผมจึงมักบอกกับทุกคนที่มาฟังบรรยายใน workshop ด้านนวัตกรรมทุกครั้งว่า “ร้อยความคิด สิบลงมือทำ หนึ่งความสำเร็จ” เพื่อให้เห็นภาพดังนี้ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องระดมสมองหรือรวบรวมความคิดใหม่ให้ได้มากที่สุด ยิ่งมากเท่าไรยิ่งดี เพราะในความคิดเหล่านั้นมักจะมีความคิดดีๆอยู่เสมอ

 แต่กระนั้นก็อาจกำหนดเป็นสมการนวัตกรรมให้เห็นเป็นภาพในเชิงองค์ประกอบได้ อาทิ นวัตกรรม (innovation) เท่ากับ การประดิษฐ์คิดค้น (invention) บวกกับ ผลกระทบทางสร้างสรรค์ (impact) โดย impact นี้เป็นได้ทั้งเกิดประโยชน์ในวงกว้างแก่สังคม (โดยไม่ได้หวังผลในเชิงรายได้) เรียกว่า Social impact (Socialization) หรือก่อให้เกิดประโยชน์ในเชิงธุรกิจแก่ตลาดเป้าหมาย (หวังผลตอบแทนจากการลงทุน) เรียกว่า Business impact (Commercialization)

 สำหรับสมการที่เน้นผลลัพธ์ในเชิงธุรกิจสามารถขยายภาพของผลกระทบที่จะก่อให้เกิดผลตอบแทนจากการลงทุนที่ชัดเจนขึ้นเป็น นวัตกรรม (innovation) เท่ากับ การประดิษฐ์คิดค้น (invention) บวกกับ ขนาดของตลาด (market size) บวกกับ มูลค่าทางการตลาด (market value) จึงมักมีการสำรวจประเมินแนวโน้มความต้องการของตลาด เพื่อให้เป็นข้อมูลยืนยัน

 ในด้านการประดิษฐ์คิดค้นสิ่งใหม่ ซึ่งมักได้รับผลออกมาในลักษณะต้นแบบ (prototype) ไม่ว่าสิ่งที่คิดค้นขึ้นมานั้นจะเป็นการคิดค้นกระบวนการใหม่ (new process) ผลิตภัณฑ์ใหม่ (new product) หรือแม้แต่รูปแบบการทำธุรกิจในแนวทางใหม่ๆ (new business model) ก็ตาม สามารถขยายให้เห็นถึงองค์ประกอบได้เป็น 2 ส่วนสำคัญคือ ความคิดใหม่ (new idea) และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่ (technology application) ไม่ว่าเทคโนโลยีที่นำมาใช้นั้นจะคิดค้นโดยเราเอง หรือไปแสวงหามาจากภายนอกก็ตาม

 สำหรับองค์กรทั่วไปที่ไม่มีความสามารถในการพัฒนาเทคโนโลยีได้ด้วยตัวเอง ก็คงจะมุ่งเน้นไปที่การคิดสิ่งใหม่ที่ไม่เคยมีใครเคยทำมาก่อน แม้ว่าจะใช้เทคโนโลยีทั่วไปก็ตาม เรียกผลงานนวัตกรรมแบบนี้ว่า Creative based Innovation และเรียกผลงานนวัตกรรมที่เกิดจากเทคโนโลยีที่เพิ่งคิดค้นขึ้นมาใหม่ว่า Technology based Innovation ซึ่งข้อดี ข้อด้อยของผลงานทั้งสองแบบนี้เป็นอย่างไรจะมาเขียนให้ได้อ่านกันอีกที