VAR เทคโนโลยีเพื่อการกีฬา

VAR เทคโนโลยีเพื่อการกีฬา

 ความจริงแล้วการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้ในการแข่งขันกีฬามีมากมายหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับประเภทกีฬานั้นๆ และไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด

ช่วงนี้ขอนอนดึกติดขอบจอเพื่อรอลุ้นกับการแข่งขันฟุตบอลนัดสำคัญของโลก ซึ่งเชื่อว่าคนไทยจำนวนไม่น้อยก็ตั้งตารอคอยและร่วมเชียร์ทีมโปรดของตัวเองกัน

ปีนี้อาจจะไม่คึกคักเท่าที่ควร เพราะทีมชั้นนำของยุโรปซึ่งมีแฟนบอลชาวไทยให้ความสนใจหลายทีมตกรอบคัดเลือกไม่ได้เข้าร่วมการแข่งขัน ทำให้หลายคนต้องไปเลือกเชียร์ทีมที่รักรองๆลงมา ตอนที่ผมเขียนบทความอยู่นี้ก็ผ่านการแข่งขันรอบแรกไปแล้ว และคงทำให้แฟนบอลชาวไทยจำนวนมากเซ็งตามๆกัน เพราะทีมเต็งหลายทีมไม่ผ่านเข้าไปถึงรอบลึก หรือแม้แต่ทีมเยอรมันที่เป็นแชมป์เก่า และถือว่าเป็นทีมที่แข็งแกร่ง มีสไตล์การเล่นที่มีรูปแบบชัดเจน กลับตกรอบแรกไปอย่างไม่น่าเชื่อ จนคนทั่วโลกต่างเห็นด้วยกับอาถรรพ์ที่ทีมแชมป์ตกรอบแรก เพราะเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง

สิ่งที่ผมให้ความสนใจมากเป็นพิเศษอีกอย่างหนึ่งก็คือ การนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้ในการแข่งขันฟุตบอลนัดสำคัญครั้งนี้ และถือได้ว่าเป็นครั้งแรกของฟุตบอลโลก แต่ไม่ใช่ครั้งแรกของวงการตัดสินฟุตบอลระดับโลก เพราะเทคโนโลยีที่เรียกว่า VAR หรือ Video Assistant Referees ได้มีการนำมาใช้ในการตัดสินฟุตบอลนัดสำคัญๆแล้วหลายรายการทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันในอิตาลี สเปน และสหรัฐอเมริกา

 และครั้งนี้ถือว่าเป็นการตัดสินใจครั้งสำคัญของสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) ที่มีมติจากคณะกรรมการฟุตบอลโลก 2018 ให้นำมาใช้และถือได้ว่าเป็นนวัตกรรมที่น่าจะมาสร้างความยุติธรรมให้กับการแข่งขันมากขึ้น เนื่องจากความไม่ชัดเจนในการตัดสินของกรรมการหลายครั้งในอดีต โดยเฉพาะนัดชี้ชะตาหรือการให้ลูกที่จุดโทษ แม้ว่าบางส่วนอาจจะมองว่าอาจทำให้ขาดสีสันไปบ้าง แต่อย่างไรก็ตามมันก็เป็นเพียงเทคโนโลยีที่เข้ามาเป็นผู้ช่วยให้กับกรรมการผู้ตัดสินในสนามเท่านั้น

 ตามที่เคยมีสื่อมวลชนด้านกีฬาได้เคยนำเสนอไปก่อนหน้านี้ว่า VAR technology นี้จะนำมาใช้ใน 4 กรณีคือ (1) ลูกเตะนั้นเป็นประตูหรือไม่ได้ประตู เพื่อย้อนดูเหตุการณ์ก่อนที่บอลจะเข้าประตู (2) นักเตะทำผิดกติกาและควรได้รับโทษหรือไม่ (3) ผู้เล่นสมควรได้รับใบแดงไหม ในกรณีผิดกติการ้ายแรง และ (4) หลักฐานเชิงประจักษ์ที่ช่วยชี้มูลความผิด

 ความจริงแล้วการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้ในการแข่งขันกีฬามีมากมายหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับประเภทกีฬานั้นๆ และไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด

สำหรับคนที่ชื่นชอบกีฬาและติดตามการแข่งขันอยู่เสมอก็คงจะทราบดี ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันเอชี่ยนเกมส์ หรือโอลิมปิคเกมส์ ซึ่งมีประเภทกีฬามากมาย อย่างกรณีกีฬาประเภทต่อสู้ป้องกันตัว อาทิ เทควันโด ฟันดาบ ซึ่งจุดเข้าทำในแต่ละส่วนของร่างกายมีคะแนนที่แตกต่างกัน และอาจมองเห็นได้ไม่ชัดเจน ก็ใช้อุปกรณ์เซนเซอร์เข้ามาช่วย กีฬาประเภทจับเวลา อาทิ การวิ่งประเภทต่างๆ ว่ายน้ำ ก็มีทั้งกล้อง เซนเซอร์ และนาฬิกาจับเวลาที่มีความเที่ยงตรงแม่นยำสูง

 ประเภทกีฬาที่มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ค่อนข้างมาก ไม่เพียงแต่การควบคุมการเล่นด้วย VAR ที่เป็นผู้ช่วยในการตัดสินของกรรมการ การเก็บข้อมูลเชิงสถิติของผู้เล่นรายคน จุดที่บอลตก และการจำลองภาพด้วยกราฟิก ก็เห็นจะหนีไม่พ้นวอลเลย์บอล โดยเฉพาะทีมหญิงของไทยซึ่งอยู่ในระดับโลก ไม่ใช่เฉพาะฝั่งผู้จัด คณะกรรมการตัดสิน หรือฝ่ายจัดการสนามแข่งเท่านั้น หากแต่ทีมโค้ชของทั้งสองฝ่ายก็นำเทคโนโลยีมาใช้เก็บข้อมูลวิเคราะห์การเล่นได้แบบละเอียดลึกซึ้งมาก ถือได้ว่าเป็นตัวอย่างของการใช้ Data Analytics เพื่อวิเคราะห์และแก้เกมการเล่นได้อย่างทันสมัยมาก

ประโยชน์ของเทคโนโลยีดิจิทัลนั้นไม่เพียงแต่นำมาใช้ในเชิงธุรกิจหรือเศรษฐกิจเท่านั้น หากแต่ได้นำมาใช้ในเชิงสังคมได้อีกมากมาย ที่สำคัญทำให้เกิดความเป็นธรรมและลดข้อถกเถียงที่เป็นความเห็นต่างได้เป็นอย่างดี

กรณีการแข่งขันกีฬาก็เช่นกันทำให้ทั้งฝั่งเจ้าภาพผู้จัดการแข่งขัน คณะกรรมการ นักกีฬาและโค้ชที่เข้าร่วมการแข่งขันลดความกังวลสงสัยไปได้อย่างมาก และคงไม่ลืมว่ากีฬาในปัจจุบันได้กลายเป็นธุรกิจที่มีมูลค่าสูงมาก สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจที่ก่อให้เกิดการหมุนเวียนของเงินไม่ต่างจากการลงทุนในด้านอื่นๆ อีกทั้งยังมีแบรนด์สินค้าชั้นนำ การสื่อสารและถ่ายทอดสัญญาณซึ่งเกี่ยวข้องกับผู้คนทั่วโลก

 กรณีการเข้ารอบสองของทีมฟุตบอลหนึ่งเดียวของเอเชียอย่างญี่ปุ่น ก็ถือได้ว่ามีส่วนอย่างมากจากการนำเทคโนโลยี VAR เข้ามาใช้ เมื่อตัดภาพมาที่คู่โคลัมเบียกับเซเนกัล โดยนาทีที่ 17 เซเนกัลน่าจะได้จุดโทษจากการโดนเสียบสกัดจนล้มลง แต่ผู้ตัดสินขอดู VAR ทำให้เซเนกัลไม่ได้เตะลูกโทษ ปิดเกมด้วยคะแนน 4 แต้มที่เท่ากันกับญี่ปุ่น ผลงานประตูได้เสียเท่ากัน และถือว่าเป็นเซอร์ไพรซ์ที่คนอาจจะคิดไม่ถึง เพราะญี่ปุ่นเข้ารอบไปด้วยจำนวนใบเหลือง-ใบแดง ที่น้อยกว่าทีมเซเนกัล ตามกฎ Fair Play จนบางคนกล่าวว่าญี่ปุ่นเข้ารอบเพราะวินัยและมารยาท ด้วยสถิติการทำฟาวล์ที่น้อยมาก

 การจัดตารางการแข่งขันที่ให้คู่ที่มีผลแพ้ชนะเป็นตัวตัดสินในช่วงเวลาเดียวกัน ช่วยลดความเลื่อมล้ำ จากผลการแข่งขันของอีกทีมหนึ่งได้เป็นอย่างดี และทำให้แต่ละทีมต้องเล่นกันอย่างเต็มที่ เพราะเพียงคะแนนเดียวก็สามารถเปลี่ยนชีวิตได้ เชื่อว่าเทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทอีกมากและก่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ จนอาจถึงขั้นการนำ AI มาช่วยในการวางกลยุทธ์การแข่งขันให้กับทีมโค้ชได้อย่างดี