Coaching to Win

Coaching to Win

คุณกำลังจะก้าวขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ในฐานะซีอีโอเป็นครั้งแรกต่อหน้าผู้ถือหุ้น ต่อหน้าสื่อ ต่อหน้าลูกน้องทั้งองค์กร

แต่ทันใดนั้น ข้อความที่เตรียมซ้อมมาหายไปจากหัว นึกไม่ออกแม้ว่าจะเริ่มประโยคอย่างไร

คุณกำลังจะก้าวเข้าห้องสัมภาษณ์งานรอบสุดท้าย คุณก้มลงเห็นว่าเสื้อสีขาวเปรอะซอสมะเขือเทศจากมื้อเช้าเต็มไปหมด คุณตระหนก ไม่อยากให้ว่าที่หัวหน้าของคุณเห็นความไม่น่าจดจำ ทันใดนั้นความนิ่งความมั่นใจที่มีมาตลอดหายไปหมด คุณกลับไปเป็นเด็กตัวเล็ก ๆ ที่ไม่อยากก้าวเข้าห้องเรียน

คุณกำลังนำการแข่งขันอยู่ถึง 7 สโตรค กำลังจะก้าวขึ้นเป็นคนไทยคนแรกที่ได้แชมป์เมเจอร์ระดับ US Open ทันใดนั้น คุณปล่อยให้ลูกไดรฟ์หลุดขวาหายไปจากสนาม เสียดร็อปแล้วกว่าจะเก็บลงหลุมได้ก็เสียไปถึง 3 ช็อต ถัดมาอีกสองหลุม คุณเสียอีก 1 โบกี้ เกมที่เคยควบคุมได้มาตลอด 3 วันครึ่งกลับหายไปชั่วพริบตา ยิ่งประคองก็ยิ่งหลุด

คุณได้ยินเสียงเฮ ๆ จากหลุมข้างหน้า ซึ่งหมายถึงคู่แข่งที่เคยตามอยู่ห่าง ๆ ตอนนี้ได้ไล่ประชิดมาใกล้ คุณเสียโบกี้อีก 1 หลุม และเมื่อพัตต์ระยะไม่ไกลนักบนหลุมสุดท้ายของคุณวิ่งผ่านปากหลุมไป คุณรู้ว่าแชมป์ที่อยู่ในมือใกล้หลุดลอย

แม้ยังมีโอกาสเหลืออยู่จากการออก Play-off เพื่อหาผู้ชนะ แต่ใจคุณไม่นิ่งเอาเสียเลย ยิ่งย้อนคิดถึงเหตุการณ์ในอดีตซึ่งเคยเกิดลักษณะนี้มาแล้ว สมองยิ่งวนเวียนคิดแต่สิ่งที่ไม่ควรจะคิด

อ่านมาถึงตรงนี้คุณผู้อ่านคงเดาได้แล้วว่า ผมกำลังเขียนถึงการแข่งขันกอล์ฟรายการ Women’s US Open 2018 ที่เพิ่งจบไปเร็ว ๆ นี้

น้องเม เอรียา จุฑานุกาล สร้างผลงานกระหึ่มโลกด้วยการคว้าแชมป์รายการยักษ์ ซึ่งนักกอล์ฟระดับโลกส่วนมากได้เพียงฝันถึง แต่กว่าจะได้มาเล่นเอาหืดขึ้นคอ และทำคนไทยทั้งประเทศ (และต่างประเทศ) ลุ้นระทึกไปพร้อมกัน

แต่คำถามของเราวันนี้คือ “หากเป็นโค้ชของน้องเม เราจะช่วยเธอได้อย่างไร?”

ในการให้สัมภาษณ์หลังแข่งจบ น้องเมกล่าวถึงสองเหตุการณ์ในสนามที่เกิดขึ้นระหว่างเธอกับแคดดี้ Leslier Luark

“I go to tee off on 11 and I told my caddie: ‘I don’t know how to hit this one’” ฉันไม่รู้เลยว่าจะตีลูกนี้อย่างไร เธอกล่าวกับเขาเมื่อมาถึงหลุมที่ 11 หลังจากเพิ่งเสีย 3 ช็อตไปในหลุมที่แล้ว

“Common, do you want to win?” แคดดี้ผู้เปรียบเสมือนโค้ชในสนามย้อนถาม น้องเมพูดอะไรไม่ออกได้เพียงพยักหน้า “Then let’s go do it!”

ในหลุมแรกของ Play-off น้องเมถาม Leslier อีกว่า “Should I hit the three wood?” เธอหมายถึงควรจะตีบุกด้วยไม้ที่ไปไกลกว่าการใช้เหล็กดีไหม

“If you are asking this question, that means you are not confident in it. Let’s go with the iron.” เขาตอบ

น้องเมพูดถึงจุดเปลี่ยนในสนาม 2 เรื่องนี้ใน The Champion’s Press Conference หลังทัวร์นาเมนท์ ดังนั้นมันย่อมสำคัญอย่างมากสำหรับเธอ

ข้อคิดสำหรับผู้นำสมอง

1. “Do you want to win?” คำถามนี้เป็นคำถามกระตุ้น เพื่อ Focus ให้เจ้าตัวมองไปที่เป้าหมายแทนสนใจการปฏิบัติ หลายครั้งปัญหาของนักกีฬาคือ สมองส่วนหน้าทำงานในเวลาที่ไม่ควร วงกอล์ฟเกิดจากการฝึกซ้อมจนเป็นนิสัยซึ่งอยู่ในสมองส่วนหลัง แต่เวลาเข้าด้ายเข้าเข็ม เช่น ยามตื่นเต้นช่วงเวลาท้าย ๆ ของการแข่งขัน เมื่อเราเริ่มคิดถึงชัยชนะแค่เอื้อม สมองส่วนหน้าจะเทคโอเวอร์ ยิ่งพยายามควบคุมยิ่งเละ แคดดี้ Leslier จึงไม่ตอบคำถามน้องเมว่าควรตีช็อตนี้อย่างไร แต่ย้อนถามเป้าหมายกลับมาเพื่อให้การทำงานของสมองส่วนหน้าลดลง

2. “That means you are not confident” หลายครั้งคำตอบอยู่ในคำถาม People don’t listen for information; they listen for confirmation หน้าที่ของโค้ชในที่นี้คือฟังว่าคำตอบนั้นคืออะไร ในกรณีของน้องเม แคดดี้เห็นความตื่นเต้น ได้ยินความไม่มั่นใจผ่านคำถาม เขาเพียงชี้ให้เห็นคำตอบ และยืนเคียงข้างเพื่อสนับสนุนโค้ชชี่ว่าคำตอบที่มียูในใจนั่นแหละถูกแล้ว

3. Get over the barrier โค้ชไม่ได้มีไว้เพื่อเอาใจ โค้ชไม่ได้มีไว้เป็นเพื่อนคุย และโค้ชไม่ได้มีไว้เพื่อถามคำถาม โค้ชมีไว้เพื่อให้โค้ชชี่ทำบางอย่างซึ่งทำไม่ได้ด้วยตัวเอง เพราะถึงเราจะไม่ได้เป็นน้องเม ไม่ได้มีโอกาสเป็นแชมป์กอล์ฟ แต่เราก็มีเวลาอ่อนแอ ไม่มั่นใจ และโจทย์ที่ยากจะทำได้ด้วยตัวเองเช่นกัน

วันนี้คุณมีโค้ชหรือยังครับ?