ตลาดไอทียังมีสีสัน

ตลาดไอทียังมีสีสัน

แม้แต่ยักษ์ใหญ่ในวงการไฮเทคก็ยังต้องปรับตัวเสมอ

การตกต่ำของธุรกิจไอทีนั้นน่าจะมาถึงจุดต่ำสุดแล้ว นั่นหมายถึงหลังจากนี้ตลาดจะเริ่มกลับมาเป็นบวกหรือแย่ที่สุดก็คือทรงตัวเพราะผ่านจุดที่ต่ำที่สุดไปแล้ว

สำนักวิจัยตลาดไอทีชั้นนำของโลกแห่งหนึ่ง ได้สรุปตัวเลขยอดขายในไตรมาสแรกของปี 2018 ก็ดูแล้วสอดคล้องกับสมมุติฐานข้างต้น เพราะอัตราการเติบโตของทั้งอุตสาหกรรมอยู่ที่ 0.0% พอดี ซึ่งในรายละเอียดเราจะพบทั้งคนที่ทำยอดขายเป็นบวกได้สำเร็จ และคนที่ทำยอดติดลบผสมปนเปกันไป

เริ่มจากอันดับหนึ่งคือ เอชพี ที่นอกจากทำยอดขาย 13 ล้านเครื่อง มีอัตราการเติบโต 4.3% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งเป็นการเบียดแชมป์เก่าอย่างเลอโนโวขึ้นมาได้สำเร็จ โดย เลอโนโวทำยอดขายได้ประมาณ​ 12 ล้านเครื่องแต่อัตราการเติบโตเป็น 0% คือเท่ากันกับไตรมาสหนึ่งของปีที่แล้ว

ตามมาด้วยเดลล์ในอันดับที่ 3 ที่ทำยอดขายได้ 10 ล้านเครื่องเติบโตจากปีที่แล้ว 6.4% ในขณะที่เอเซอร์ซึ่งครองอันดับหนึ่งในบ้านเรามายาวนานมียอดขายในตลาดโลกเป็นที่ 4 ทำยอดขายได้ 4 ล้านเครื่อง อัตราการเติบโตติดลบ 7.7%

แอปเปิ้ลเป็นอันดับ 5 มียอดขาย 4 ล้านเครื่อง การเติบโตติดลบ 4.8% ในขณะที่แบรนด์อื่นๆ รวมกันมียอดขายประมาณ 16 ล้านเครื่อง มีอัตราการเติบโตติดลบ 3.9% ส่งผลให้ทั้งตลาดมียอดรวม 60 ล้านเครื่องและอัตราการเติบโต 0.0%

ประเด็นที่น่าสนใจอยู่ที่เลอโนโวที่ดูจะหวือหวาที่สุดในตลาดไอทีระดับโลกด้วยดีลการซื้อกิจการครั้งประวัติศาสตร์เมื่อทุ่มทุนกว่า 1,750 ล้านดอลลาร์ ซื้อธุรกิจโน้ตบุ๊คมาจากไอบีเอ็มในปี 2004 ส่งผลให้แบรนด์เลอโนโวค่อยๆ เติบโตมาเป็นเบอร์หนึ่งของโลกได้ยาวนานจนกระทั่งถูกเอชพีแซงไปเมื่อเร็วๆนี้

ถัดมาในปี 2014 ก็ขยายธุรกิจด้านสมาร์ทโฟนต่อไปอย่างดุดันด้วยการซื้อกิจการของโมโตโลร่าด้วยมูลค่า 2,910 ล้านดอลลาร์ซึ่งเป็นการซื้อกิจการต่อมาจากกูเกิลที่เคยเข้าซื้อมาก่อนเพราะต่างฝ่ายต่างก็เห็นศักยภาพของแบรนด์นี้ในการทำตลาดสมาร์ทโฟน

ยังไม่หมดเพียงแค่นั้นเพราะเลอโนโวยังหมายมั่นจะรุกตลาดในประเทศญี่ปุ่นด้วยจึงเข้าซื้อหุ้นเป็นจำนวน 51% ของ ฟูจิตสึเมื่อปีที่แล้ว คิดเป็นมูลค่าการลงทุน 57 ล้านเหรียญ โดยเชื่อมั่นว่าวิธีนี้จะผลักดันให้ตัวเองก้าวมาเป็นที่หนึ่งในจีน ญี่ปุ่น และอีกหลายๆ ประเทศทั่วโลก รวมถึงเป็นเบอร์หนึ่งของโลกได้อย่างต่อเนื่อง

การตัดสินใจของเลอโนโวทั้ง 3 ครั้งนี้จะส่งผลบวกให้กับธุรกิจของตัวเองในระยะยาวได้หรือไม่ยังไม่มีใครบอกได้ แต่นับตั้งแต่ซื้อกิจการของโมโตโลร่ามาปรากฏว่าธุรกิจสมาร์ทโฟนไม่สามารถสร้างผลกำไรใด ๆ ให้กับเลอโนโวได้เลย

นับตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นมาธุรกิจพื้นฐานคือพีซี ของเลอโนโวนั้นแข็งแกร่งด้วยอัตราผลกำไรเกิน 200 ล้านเหรียญอย่างต่อเนื่องในทุกไตรมาส ในขณะที่ธุรกิจสมาร์ทโฟนที่ซื้อกิจการมาจาก โมโคโลร่านั้นขาดทุนทุกปีมาจนถึงปัจจุบัน

ในเมื่อเม็ดเงินมหาศาลที่ใช้ไปกับธุรกิจใหม่ไม่สร้างผลกำไรใดๆ ให้ ภาพรวมของธุรกิจจึงพลอยตกต่ำลงด้วยเพราะ 5 ไตรมาสที่ผ่านมาตั้งแต่ต้นปี 2016 จนถึงปี 2017 เราจะเห็นอัตราการเติบโตที่ติดลบตลอดสะท้อนให้เห็นผลระยะสั้นจากการทุ่มทุนซื้อกิจการเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา

อนาคตของเลอโนโวจึงเน้นที่การสร้างคลื่นทั้ง 3 (3 Wave Strategy) คือการรักษาฐานธุรกิจเดิมคือ พีซี ให้มั่นคง และคลื่นที่ 2 คือธุรกิจ ดาต้า เซ็นเตอร์ กรุ๊ป และ โมบาย บิสิเนส กรุ๊ป ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น เพื่อที่จะต่อยอดในคลื่นลูกที่ 3 คือการลงทุนในธุรกิจที่เชื่อมต่อกับระบบคลาวด์ และการสร้างโครงสร้างพื้นฐานของคลาวด์ที่เชื่อมโยงกับเอไอ หรือ Artificial Intelligence

แม้แต่ยักษ์ใหญ่ในวงการไฮเทคก็ยังต้องปรับตัวเสมอ และการปรับตัวแต่ละครั้งก็ส่งผลกระทบมหาศาลต่อรายได้และผลกำไรจนอาจเปิดช่องว่างให้คนอื่นเข้ามาแทนที่ได้ในทุกขณะ