ทิศทางดอลลาร์ กับมาตรการกีดกันการค้า

ทิศทางดอลลาร์ กับมาตรการกีดกันการค้า

ทิศทางดอลลาร์ กับมาตรการกีดกันการค้า

ตั้งแต่ต้นเดือนที่ผ่านมา ประเด็นที่ถูกจับจ้องจากตลาดคงหนีไม่พ้น ประเด็นการค้า ซึ่งจุดประกายจาก ปธน.ทรัมป์ กับมาตรการจัดเก็บภาษีนำเข้าเหล็ก และอลูมิเนียม ไม่เพียงเท่านั้น ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ปธน.ทรัมป์ ได้ประกาศมาตรการเพิ่มเติม เรียกเก็บภาษีมูลค่า 6 หมื่นล้านดอลลาร์บนสินค้าส่งออกจากจีน  แม้ยังขาดความชัดเจนในหลายด้าน แต่ความผันผวนของตลาดเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ท่ามกลางความกังวลถึงสงครามการค้าที่อาจลุกลามในวงกว้างจากการตอบโต้โดยประเทศที่เสียประโยชน์ ส่งผลให้ดัชนีความผันผวนของตลาดหุ้นสหรัฐฯ สูงขึ้นแตะระดับ 22.5% และ 24.9% ในช่วงประกาศมาตรการภาษีทั้ง 2 ครั้ง ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 1 ปีที่ระดับ 12.4% อย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ดี สงครามการค้าไม่น่าจะเกิดขึ้นจริง เพราะรังแต่จะส่งผลเสียต่อทุกฝ่าย การเจรจาประนีประนอม น่าจะเป็นทางออก นักลงทุนเริ่มคลายความกังวลและตลาดหุ้นโลกเริ่มกลับมาบวกได้บ้างในระยะหลัง

เมื่อพูดถึงการค้าระหว่างประเทศที่ระส่ำระส่าย อีกหนึ่งปัจจัยที่เราต้องให้ความสนใจ คือทิศทางค่าเงิน โดยเฉพาะดอลลาร์ หากย้อนไปในอดีต สหรัฐฯ เคยใช้มาตรการภาษีนำเข้าในสมัย ปธน. คลินตัน และ ปธน. บุช ในปี 2538 และ 2545 ตามลำดับ ซึ่งพบว่าในช่วงนั้น ดอลลาร์อ่อนค่าลง 2% ใน 6 สัปดาห์ และ 24.4% ใน 2 ปี (การอ่อนค่าของดอลลาร์ในช่วงดังกล่าวอาจได้รับผลกระทบจากปัจจัยอื่นๆประกอบด้วย) เพราะมาตรการกีดกันการค้าย่อมส่งผลลบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยรวม แม้ว่าผู้ผลิตในประเทศจะได้รับความคุ้มครอง แต่ผู้บริโภคต้องแบกค่าใช้จ่ายและเงินเฟ้อสูงขึ้น นอกจากนี้ตลาดแรงงานก็กระทบด้วย ในกรณีปี 2545 ที่ ปธน.บุช ใช้มาตรการภาษีนำเข้าเหล็ก ประชาชนกว่า 2 แสนคน ถูกเลิกจ้างงาน แม้การจ้างงานในอุตสาหกรรมเหล็กจะสูงขึ้น แต่ไม่สามารถทดแทนการเลิกจ้างงานจากอุตสาหกรรมอื่นที่ได้รับผลกระทบจากราคาเหล็กที่แพงขึ้น เช่น อุตสาหกรรมแปรรูปเหล็ก และเครื่องจักร ได้

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่นทำให้ดอลลาร์มีแนวโน้มอ่อนค่าต่อจากนี้

1.การฟื้นตัวของเงินเฟ้อสหรัฐฯ

ล่าสุดดัชนีราคาผู้บริโภคประจำเดือนกุมภาพันธ์อยู่ที่ 2.2% สูงขึ้นเล็กน้อยจาก 2.1% ในเดือนก่อนหน้า และสูงกว่าเงินเฟ้อของประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ เช่น ยุโรป และญี่ปุ่น โดยพื้นฐานแล้วเงินเฟ้อที่สูงขึ้นย่อมหมายถึงอำนาจซื้อของเงินด้อยลงตามหลักการของทฤษฎีความเสมอภาคของอำนาจซื้อ (Purchasing Power Parity) ซึ่งอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างอัตราแลกเปลี่ยนและราคาสินค้าในแต่ละประเทศว่าจะต้องสมดุลกัน ตามกฎของสินค้าราคาเดียว (Law of one price) ซึ่งหมายความว่าสินค้ามีราคาเดียวเท่ากันทั่วโลก ดังนั้น ประเทศหนึ่งที่ราคาสินค้าเพิ่มขึ้นมากกว่าอีกประเทศหนึ่ง อัตราแลกเปลี่ยนของประเทศนั้นจะต้องอ่อนค่าลง เพื่อให้อำนาจซื้อของสองประเทศเท่าเทียมกัน ในกรณีนี้หมายถึงสหรัฐฯ นั่นเอง

2.ภาวะการขาดดุลแฝดของสหรัฐฯ (Twin deficits)

ในฝั่งของการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดจากการนำเข้ามากกว่าส่งออก ณ สิ้นปี 2017 อยู่ที่ 4% ของ GDP ขณะที่การขาดดุลงบประมาณอยู่ที่ 3.4% ของ GDP และคาดว่าจะขาดดุลสูงขึ้นในอีก 2 ปีข้างหน้าจากรายได้ที่ลดลง และค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นของรัฐบาลจากมาตรการลดภาษีนิติบุคคลและการกระตุ้นโครงสร้างพื้นฐาน ตัวเลขขาดดุลแฝดที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคตย่อมกดดันค่าเงินดอลลาร์ หากพิจารณาลึกลงไป จะพบว่าการระดมเงินส่วนใหญ่ของสหรัฐฯ มาจากต่างชาติ สะท้อนจากสัดส่วนการถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯโดยต่างชาติที่ 60% ซึ่งจีนมีสัดส่วนการถือครองสูงสุด ทำให้มีข่าวลือว่าจีนจะตอบโต้โดยเทขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี เรามองว่าไม่น่าจะเกิดขึ้นจริง เพราะจีนน่าจะตอบโต้ด้านการค้ามากกว่า เช่น มาตรการภาษีนำเข้าบนสินค้าเกษตรสหรัฐฯ นอกจากนี้ จีนยังมีเครื่องมืออื่นๆ เช่น เพิ่มข้อบังคับต่อบริษัทสหรัฐฯ ที่ทำธุรกิจในจีน หรือหากจีนเทขายพันธบัตรสหรัฐฯ จริงก็จะมีผลกระทบต่อราคาที่จำกัด ดังที่เคยเกิดขึ้นในปี 2015 ที่จีนลดการถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯเกือบแสนล้านดอลลาร์ เพื่อพยุงค่าเงินหยวนให้แข็งค่า และลดปริมาณเงินทุนไหลออก ซึ่งอัตราผลตอบแทนพันธบัตรในช่วงนั้นกลับลดลง (ราคาเพิ่มขึ้น) จากแรงหนุนของเงินทุนอื่นๆที่ไหลเข้าตลาดพันธบัตร เพราะกังวลต่อสภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว

3.การประนีประนอมทางการเมืองโลก

อย่างที่ทราบกันดีว่า ปธน.ทรัมป์ ออกมาประณามประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ว่าเอาเปรียบ ด้วยการแทรกแซงค่าเงินตัวเองให้อ่อน รวมถึง ปธน.ทรัมป์ เองก็อยากเห็นแนวโน้มดอลลาร์ที่อ่อนค่าลงบ้างเพื่อเพิ่มความสามารถการแข่งขันในตลาดการค้าโลก ดังนั้นหลายประเทศจึงยอมให้เงินตนเองแข็งค่าขึ้นเพื่อเลี่ยงปัญหาการเมืองกับสหรัฐฯ เช่น ยุโรป และญี่ปุ่น ที่แม้ว่ากำลังดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายแต่ก็ปล่อยให้ค่าเงินแข็งค่าขึ้นมาแล้วกว่า 18.8% และ 10.2% ตั้งแต่ต้นปี 2017