โลก(ดิจิทัล) ต้องการ‘งานกลุ่ม’

โลก(ดิจิทัล) ต้องการ‘งานกลุ่ม’

ช่วงเดือนนี้ ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการที่เกิดมาเพื่อสนับสนับสนุนและปูทางสร้างเยาวชนนักสื่อสารรุ่นใหม่ๆ 2 โครงการ

คือ “ Young Webmaster Camp (YWC)” และโครงการ “กล้าใหม่ใฝ่รู้ วารสารอิเล็กทรอนิกส์” ทั้ง 2 โครงการมีความน่าสนใจ สะท้อนสิ่งให้เห็นเทรนด์และวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน ทั้งทางตรงและทางอ้อม 

ใน“ทางตรง”ที่เข้าใจได้ง่ายในทันที คือเมื่อโลกแห่งการสื่อสารล้วนถาโถมเข้าสู่ถนนดิจิทัล ความจำเป็นในการสร้างสรรค์สื่อและสารที่ดี มีคุณภาพ รวมถึงเพียงพอ จึงเป็นสิ่งจำเป็น เมื่อผู้บริโภคเสพสื่อในช่องทางนี้เยอะ ผู้ผลิตสื่อช่องทางนี้ ก็ควรจะต้องเยอะตาม 

โดยเฉพาะผู้ผลิตที่มีความสามารถ ถึงพร้อมซึ่งการผสมผสานทุกศาสตร์ โดยไม่ขาดจริยธรรมของวิชาชีพ สังคมไทยเราต้องการจริงๆ 

ส่วน “ทางอ้อม” คือความพยายามที่จะทำให้ระบบการทำงานในบ้านเรา มีลักษณะ “รวมกันเราอยู่” คือการรู้จักเก่งเป็นทีมมากกว่าเก่งเดี่ยวๆ เหมือนที่เราเคยถูกปรามาสว่าคนไทยไม่เก่งอะไรที่เป็นทีม ซึ่งในส่วนนี้ มีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่ต้องช่วยกันปรับให้รับกระแสโลกแห่ง Collaboration

สำหรับโครงการ Young Webmaster Camp ครั้งนี้ จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 15 โดยเปิดโอกาสให้นิสิตนักศึกษาจากทุกสาขาในมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศมาร่วมสมัคร ซึ่งมีผู้สนใจเป็นหลักพัน 

อย่างไรก็ตาม ด้วยความเข้มข้นของโครงการจึงคัดกรองรับได้ 80 คน เด็กๆ เหล่านี้ ได้เข้าค่ายเรียนรู้เทคนิคใหม่ๆ ในการสร้างสรรค์เว็บไซต์จากกูรู ผู้เชี่ยวชาญและวิทยากรชื่อดังในวงการอย่างใกล้ชิด และยังมีการประกวดผลงานกันในหัวข้อ Digital Innovation ขับเคลื่อนประเทศไทยสู่โลกอนาคต อีกด้วย 

ศาสตร์แห่งงานเว็บไซต์ คือ “งานกลุ่ม” ที่กว่าจะมีการพัฒนาให้เว็บๆ หนึ่งคลอดออกมาได้ ต้องอาศัยมืออาชีพที่มีทักษะแตกต่างกัน ตั้งแต่คนทำเนื้อหา, คนทำกราฟฟิก, คนเขียนโปรแกรม, คนตัดต่อคลิป, คนจัดการระบบ ไปจนถึงคนทำการตลาด ซึ่งคนเหล่านี้ จะมีความถนัดที่โดดเด่นบางอย่าง และมีความด้อยบางอย่างเป็นปกติ เช่น คนทำกราฟฟิกดีไซน์สวยๆ มักจะไม่เก่งในการเขียนถ้อยคำถึงขั้นบางคนอาจสะกดผิดประจำ, คนเขียนโปรแกรมขั้นเทพ มักจะสื่อสารไม่เก่ง เป็นต้น 

การที่คนรุ่นใหม่ ได้เรียนรู้ที่จะเคารพในคุณค่าความเด่นของผู้อื่น พร้อมๆ กับเข้าใจและรับได้ในความด้อยที่ตามมา ทำให้เกิดการฝึกในเรื่องของการ “เอาใจเขาไปใส่ใจเรา” ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการอยู่ร่วมกันในสังคมที่นับวันก็จะยิ่งมีความเป็นสากลและเปิดกว้างขึ้นเรื่อยๆ

สำหรับโครงการ “กล้าใหม่...ใฝ่รู้” ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่ 12 นี้ มีการกำหนดให้นักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาแข่งขันสร้างงานกลุ่ม “นิตยสารอิเล็กทรอนิกส์” ภายใต้แนวคิด “พลังแผ่นดิน ปัญญาแผ่นดิน” เพื่อมุ่งหวังให้เยาวชนมีความภูมิใจในท้องถิ่น จังหวัดของตนเองและประเทศไทย มีสำนึกความเป็นพลเมือง และเสริมสร้างทักษะการเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ 21 คือ ทักษะชีวิต นวัตกรรม และทักษะสารสนเทศและเทคโนโลยี 

ที่สำคัญคือการเป็นงานกลุ่ม ที่จะต้องมีเด็กที่เขียนเก่ง, ออกแบบเก่ง, ถ่ายรูปเก่ง มาจับมือสร้างสรรค์งานร่วมกัน ร่วมกันทำสิ่งที่เด็กมัธยมไทยแต่เดิมอาจไม่คุ้นเคยในการเข้าไปเจาะ และเสาะหาเรื่องราวดีๆ จากชุมชนมานำเสนอ ซึ่งแน่นอนว่า งานที่ได้รับรางวัล ก็คืองานที่มีความกลมกล่อมในทุกมิติของการสื่อสารดิจิทัล ที่มาจากความกลมเกลียวของงานเป็นทีมนั่นเอง

ว่ากันว่า ระยะหลังๆ แม้แต่การมอบรางวัลโนเบล ยังมุ่งเน้นที่ “กลุ่มคน” มากกว่า “บุคคล” ฉะนั้น โลกในวันนี้ และวันหน้า เราต้องสร้างคนที่ “เก่งงานกลุ่ม” ให้มากขึ้น จะโลกออนไลน์หรือออฟไลน์ การผนึกกำลัง ผสานจุดแข็ง จึงจะนำมาซึ่งความแข็งแกร่งอย่างยั่งยืน