นายกฯ คนนอก ต้องโทษใคร?

นายกฯ คนนอก ต้องโทษใคร?

จนถึงวันนี้แล้วดูเหมือนการเมืองไทย ยังไม่ก้าวหน้าไปไหน นอกจากจมปลัก

อยู่กับความคิดความเชื่อแบบเดิม แล้วก็งมโข่งอยู่กับความขัดแย้ง แตกแยกและเอาชนะคะคานแบบเดิม

เอาแค่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับศาลรัฐธรรมนูญ ให้นำกลับมาแก้ไขให้สอดคล้องกับคำถามพ่วง หรือคำถามประกอบรัฐธรรมนูญ เรื่องการมีส่วนร่วมของ“ส.ว.”ในการเลือก“นายกรัฐมนตรี”

แม้เป็นคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ อันเป็นที่สุดก็ยังนำมาถกเถียงกันไม่จบ

ทั้งที่กรณีจะมี"นายกฯคนนอก" ได้ก็ต้องว่ากันถึงขยักที่สอง หลังขั้นตอนแรกเลือกตามบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองไม่สำเร็จไม่ว่ากรณีใด

ขยักที่สองดังกล่าวร่างรัฐธรรมนูญกำหนดให้ ผู้มีสิทธิเสนอขอยกเว้นการเสนอชื่อนายกฯ จากบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองได้ คือสมาชิกรัฐสภา (ส.ส.และส.ว.) จำนวนไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่ง (ไม่น้อยกว่า 375 คนจากทั้งหมด 750 คน) ของจำนวนสมาชิกทั้งสองสภา

และต้องใช้มติในการยกเว้น ด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสาม (ไม่น้อยกว่า 500 คนจาก 750 คน) ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา

ส่วนความหมาย“ระหว่าง 5 ปีแรก” นั้นให้หมายถึงกระบวนการดังกล่าว สามารถทำได้ตลอด 5 ปีไม่ใช่แค่ครั้งเดียวหรืออย่างน้อย 2 สมัยเพราะส.ส.มีวาระ 4 ปี

แต่ประเด็นที่ขยายความกันอย่างหนักในเวลานี้ คือการสร้างกติกาและเปิดช่องให้ “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีอย่างยาวนานเท่านั้นซึ่งจริงหรือไม่ ก็ไม่รู้

ทำให้คนที่ชอบลุงตู่ก็ยิ่งตีปีกขานรับคนที่เกลียดอยู่แล้วก็ยิ่งเกลียดเข้ากระดูกดำ

ความจริง สิ่งที่นักเลือกตั้งกลัว และสร้าง “ภาพยักษ์” ให้ พล.อ.ประยุทธ์ ก็คือ พรรคขนาดกลางและเล็ก รวมทั้งส.ว. ไม่สนับสนุนพรรคใดพรรคหนึ่ง จนเกิดสภาพที่รัฐสภาหาตัวนายกฯไม่ได้

ประเด็น จึงอยู่ที่ “ส.ส.” เชื่อมั่นคนกันเองแค่ไหน ว่าเหมาะสมที่จะนั่ง “นายกรัฐมนตรี” มากกว่า “คนนอก” ถ้าเชื่อมั่นก็ไม่มีปัญหา เลือกรอบแรกจบ?

แล้วถ้าไม่เชื่อมั่นกันเอง หรือ เลือกกันเองไม่ได้ แล้วจะโทษใคร?

นักเลือกตั้งต้องถามตัวเองให้ชัด เพราะไม่เช่นนั้นการเมืองไทยไม่มีทางก้าวไปไหนได้ เพราะคงหนีไม่พ้นโทษนั่นโทษนี่ แทนที่จะโทษตัวเองที่เอาชนะใจประชาชนไม่ได้ ไม่ได้รับการปกป้องจากประชาชน ด้วยการมีกระแสต่อต้าน “นายกฯคนนอก”

ตรงข้ามประชาชนสนับสนุน “นายกฯคนนอก” หรือไม่ ก็ดูจากผลประชามติคำถามพ่วงก็แล้วกัน เพราะประชาชนรู้ทั้งรู้ว่า “ส.ว.” มาจาก “คสช.” ก็ยังผ่านประชามติให้ร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี